วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
กลางเดือนมิถุนายน 2559 ผมเข้าร่วมงานเสวนา “Cyberbullying ภัยร้ายใกล้ตัว..ที่คุณต้องระวัง” จัดโดยบริษัทดีแทคพร้อมกับพนักงานภายในที่เข้าร่วมรับฟัง ก่อนวัน Stop Cyberbullying Day ซึ่งมีการรณรงค์กันทุกปีตั้งแต่ปี 2556 (ค.ศ.2013) โดยทั่วโลกจัดให้วันศุกร์ที่สามของเดือนมิถุนายน เป็นวันหยุดรังแกกันบนโลกออนไลน์
ตัวผมเองที่ทำงานด้านข่าวออนไลน์มาสิบกว่าปี เมื่อได้นั่งฟังสถานการณ์สังคมที่เปลี่ยนแปลงไปเพราะโลกออนไลน์กำลังเข้ามามีบทบาทกับเราในแทบทุกลมหายใจ แล้วก็ได้คิดอะไรหลายอย่าง
ตอนหนึ่งในงาน “คุณหนุ่ย” พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ กล่าวแบบติดตลกขึ้นว่าทุกวันนี้คนส่วนใหญ่ (ผมคิดว่าร้อยละ 99) เวลาใช้งานออนไลน์ไม่ว่าจะดาวน์โหลดและติดตั้งโปรแกรมอะไร ซื้อแอปฯ ไหน อัพเดตระบบปฏิบัติการล่าสุดอย่างไร สิ่งที่เราต้องเจอคือคำว่า Licenses and Terms of Use หรือ Terms and Conditions หรือ Terms of Service ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยก็คือ ข้อตกลงและเงื่อนไขในการใช้งาน/บริการ
“ทุกวันนี้คนที่เข้าสู่โลกออนไลน์ส่วนใหญ่ต้องเรียกว่าเป็นมนุษย์ Next ไม่ใช่ Next Generation นะครับ แต่เป็นกด Next Next Next ไปเรื่อยๆ คือไม่อ่านเงื่อนไขในการใช้งานอะไรทั้งสิ้น” หนุ่ย พงศ์สุขกล่าว
ซึ่งสุดท้ายมนุษย์ Next เมื่อกด Next Next Next ไปแล้วในที่สุดก็คือ การกด Accept หรือ ยอมรับ ข้อตกลงและเงื่อนไขในการใช้งานนั้น โดยที่ตัวเองไม่รู้เลยว่ายินยอมหรือยอมรับอะไรกับผู้ให้บริการไป
ความมักง่าย ไม่เอาใจใส่ และไม่สนใจจะหาข้อมูลเหล่านี้นี่เองที่จะนำมาสู่ความเสี่ยงภัยในโลกออนไลน์ต่างๆ ดังที่ผมกล่าวไว้ในตอนที่แล้ว ซึ่งอย่างน้อยครอบคลุมทักษะใน 3-4 ด้านด้วยกันคือ การอยู่ในโลกดิจิตอลอย่างปลอดภัย (Digital safety), ความปลอดภัยในโลกดิจิตอล (Digital security), การบริหารจัดการลิขสิทธิ์ดิจิตอล (Digital Rights) (อ่านเพิ่มเติม : 8 ทักษะแห่งโลกดิจิตอล ในการ “ใช้เทคโนโลยี” เพื่อให้ไม่ถูก “เทคโนโลยีใช้”)
กรณีความขัดแย้งล่าสุดเกี่ยวกับกรณีร้านกาแฟแห่งหนึ่งเปิดเพลงลิขสิทธิ์ของค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ในร้านผ่านเว็บไซต์ Youtube จนกลายเป็นคดีความและข่าวครึกโครมก็กรณีหนึ่ง ซึ่งเข้าข่ายการใช้งานโดยขาดความเข้าใจในเรื่องของลิขสิทธิ์ดิจิตอล ซึ่งไม่เพียงแค่ร้านกาแฟดังกล่าว นักแต่งเพลง ศิลปิน หรือ ประชาชนทั่วไปเท่านั้นที่ไม่เข้าใจ เพราะแม้แต่นักกฎหมาย รวมไปถึงบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ ตำรวจ อัยการ ผู้พิพากษาจำนวนมาก ผมก็เชื่อว่าไม่เข้าใจเรื่องนี้ดีพอเช่นกัน
ปัญหาลิขสิทธิ์การเปิดเพลงผ่าน Youtube เพื่อเผยแพร่ในร้านค้า-ร้านอาหาร ถือเป็นเพียงกรณีการใช้โลกดิจิตอล-โลกออนไลน์เพื่อความบันเทิงและสันทนาการเท่านั้น ลองจินตนาการสิครับว่า เมื่อบริการอื่นๆ ที่กระทบกับชีวิตประจำวันของเราเข้าสู่โลกดิจิตอลเต็มตัวแล้ว จะเกิดปัญหาอะไรขึ้นอีกบ้าง?
ยกตัวอย่างอีกตัวอย่างคือ บริการทางการเงินออนไลน์ หรือ การธนาคารบนโลกดิจิตอล (Digital Banking) ซึ่งล่าสุดทุกธนาคารต่างก็เริ่มออกมาประชาสัมพันธ์ “บริการพร้อมเพย์ (Prompt Pay)” ระบบการชำระเงินรูปแบบใหม่ เพื่อใช้สำหรับรับเงินและโอนเงิน ทั้งรับเงินจากหน่วยงานภาครัฐ และการโอนเงินรายย่อยระหว่างกันแล้วอย่างกว้างขวาง
ทุกวันนี้ด้วยความแพร่หลายของสมาร์ทโฟน ผลักดันให้แทบทุกธนาคารพาณิชย์ในบ้านเราต่างมีเว็บไซต์ โมบายไซต์ และแอปพลิเคชันเพื่อเอื้อต่อการทำธุรกรรมทางการเงินสำหรับลูกค้า แต่ถามว่ามีลูกค้าสักกี่คนที่ได้อ่านข้อตกลงและเงื่อนไขในการใช้บริการทางการเงินบนโลกดิจิตอลบ้าง?
สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีชาวเน็ตเริ่มออกมาเปิดเผยแล้วว่า ข้อตกลงและเงื่อนไขในการลงทะเบียนพร้อมเพย์ของธนาคารแทบทุกแห่งนั้นล้วนแล้วแต่มีข้อความส่วนหนึ่งระบุว่า
“ผู้ใช้บริการตกลงยินยอมว่า ธนาคารไม่ต้องรับผิด จากการที่ธนาคารไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บริการนี้ ซึ่งรวมถึงการที่ธนาคารไม่สามารถ ลงทะเบียน พร้อมเพย์ (PromptPay) หรือให้บริการ พร้อมเพย์ (PromptPay) ได้ อันเนื่องมาจากเหตุสุดวิสัย เช่น ระบบสื่อสารขัดข้อง กระแสไฟฟ้าขัดข้อง ปัญหาทางด้านพลังงาน การกระทำของบุคคลภายนอก อัคคีภัย ภัยพิบัติตามธรรมชาติ การประท้วง การขนส่งติดขัด การจลาจล สงคราม ไวรัสคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลที่เป็นอันตรายต่างๆ (Harmful Data) หรือเหตุต่างๆ อันอยู่นอกเหนือจากการควบคุมของธนาคาร”
ขณะที่ ธนาคารบางแห่งมีการเติมคำว่า “ธนาคารจะไม่รับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นอันเป็นผลมาจากการที่ธนาคารให้บริการแก่ผู้ใช้บริการ ... ซึ่งรวมถึงผู้บุกรุก (Hacker) ...” เข้าไปด้วย
นอกจากนี้ ในเงื่อนไขการใช้ลงทะเบียนและใช้บริการของธนาคารหลายแห่งก็ยังมีประโยคที่ระบุว่า “ผู้ขอใช้บริการตกลงและยอมรับว่า เอกสาร และ/หรือหนังสือ และ/หรือหลักฐานใดๆ ก็ตาม ที่ธนาคารจัดทำขึ้นอันเนื่องมาจากการใช้บริการพร้อมเพย์ (PromptPay) นั้น มีความ ถูกต้องทุกประการโดยไม่จำต้องให้ผู้ขอใช้บริการตรวจสอบหรือลงลายมือชื่อก่อนแต่อย่างใด”
ถ้าอ่านข้อความอย่างนี้แล้ว คุณก็ต้องตอบตัวเองแล้วล่ะว่าจะใช้หรือไม่ใช้บริการพร้อมเพย์ และหากตัดสินใจใช้แล้วยอมรับความเสี่ยงดังกล่าวได้หรือไม่? เพราะคงไม่มีธนาคารใดที่ยินยอมแก้ไข เพิ่มเติม หรือดัดแปลง ข้อตกลงและเงื่อนไขให้กับลูกค้าเพียงรายใดรายหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแน่นอน
มีคนโต้แย้งว่า ข้อกังวลข้างต้นที่ผมกล่าวถึงนั้นเป็นข้อกังวลที่เกินเลยไป คนที่ไม่กล้าใช้บริการเป็นคนที่ไม่เท่าทันเทคโนโลยี หรือ ล้าสมัย หรือ ขี้กลัวเกินไป แต่ผมเองกลับเห็นว่า สามัญสำนึก (Common Sense) ในการเรียกร้องความเป็นธรรม ความยุติธรรม หรือความเห็นอกเห็นใจ บางทีก็ใช้การไม่ได้ในโลกแห่งความเป็นจริง โดยเฉพาะหากเกิดปัญหาขึ้นจริง มิพักต้องพูดว่าหากเรื่องราวลุกลามจนต้องขึ้นโรงขึ้นศาล
กล่าวได้ว่า ทุกวันนี้เทคโนโลยีนั้นล้ำหน้าเกินความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ไปแล้ว อย่าว่าแต่บริการพร้อมเพย์ หรือ บริการทางการเงินบนคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะเลย ทุกวันนี้มีตัวเลขระบุว่า จำนวนธุรกรรมทางการเงินที่เกิดขึ้นบนแอปพลิเคชัน WeChat และ Alipay หรือ ธุรกิจการเงินบนมือถือ (Mobile Banking) ในประเทศจีนต่อวันนั้นทะลุหลัก 200 ล้านครั้งไปแล้ว ซึ่งว่ากันว่ามากกว่าจำนวนธุรกรรมต่อวันของมาสเตอร์การ์ดที่ทำกับคนทั่วโลกเสียอีก
ดังนั้นคงไม่เป็นเรื่องที่เกินเลยไปนัก หากจะกล่าวว่าในอนาคตอันใกล้ ธุรกรรมทางการเงินที่เราทำส่วนใหญ่คงจะเกิดขึ้นบนสมาร์ทโฟน หรือ คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล มิใช่สาขาธนาคารหรือตู้เอทีเอ็มอีกต่อไป
ทุกวันนี้ เทคโนโลยีนั้นก้าวหน้าไปไกลเสียจนจะให้คนกระพริบตาเพื่อยืนยันการชำระเงิน จ่ายค่าบริการอะไรต่างๆ ก็คงทำได้ และคงมีการทำไปแล้วถ้าพวกเรายินยอม แต่สิ่งที่ยังไปไม่ทันเทคโนโลยีก็คือ ความรู้-ความเข้าใจของ “มนุษย์ Next” ผู้ใช้เทคโนโลยีเสียมากกว่า