การีน่า ปรับองค์กรเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์ม ด้วยการเชื่อม 3 บริการในกลุ่มคอนเทนต์ เพย์เมนต์ และอีคอมเมิร์ซ ตอบรับความต้องการของผู้บริโภคในยุคดิจิตอล ตั้งเป้าเพิ่มฐานลูกค้า บริการ ผลักดันวงการ eSports ให้สังคมได้เห็นถึงด้านดีของเกมมากยิ่งขึ้น
น.ส.มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การีน่า ออนไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้ข้อมูลว่า ด้วยการที่ตลาดในประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอลแบบเต็มตัว ทำให้การีน่า จำเป็นต้องมีการปรับตัวให้รับต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค ด้วยการปรับตัวจากบริษัทเกมให้กลายเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์ม โดยปัจจุบัน การีน่า ประเทศไทย สร้างสัดส่วนรายได้ให้แก่การีน่ากรุ๊ป ถึง 30% ถือเป็นตลาดหลักของทางการีน่า
ปัจจุบัน การีน่า ประกอบธุรกิจ 3 กลุ่ม คือ 1.ดิจิตอล คอนเทนต์ (Digital Content) อย่างเกมออนไลน์ เช่น Point Blank League of Legends, FIFA Online3 ที่มีจำนวนลูกค้าที่ลงทะเบียนพีซีกว่า 27 ล้านราย และฐานลูกค้าบนโมบายประมาณ 8 ล้านราย รวมถึงบริการ TalkTalk ที่เป็นโปรแกรมแชตมีฐานลูกค้ากว่า 10 ล้านราย และการีน่า แพลตฟอร์ม ที่เชื่อมต่อเกมระหว่างพีซี และมือถือเข้าด้วยกัน ซึ่งมีจำนวนลูกค้าที่ใช้งานต่อวันถึง 2 ล้านราย
“การีน่า อยากจะผลักดันวงการ eSports อย่างต่อเนื่อง ด้วยการจัดทัวร์นาเมนต์แข่งขันไปแล้ว 46 ครั้งในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา มีจำนวนทีมเข้าร่วมกว่า 2 หมื่นทีม มีจำนวนผู้เข้าชมการแข่งขันกว่า 12 ล้านคน และมีเงินรางวัลอยู่ที่ 17 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นเป้าหมายที่ดีของผู้ที่ชื่นชอบการเล่นเกมว่ามีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จถ้ามีความตั้งใจ”
ถัดมา 2.เป็นบริการช่องทางชำระเงินออนไลน์ (Payment) ภายใต้แบรนด์ AirPlay ที่เบื้องต้นทำขึ้นมาเป็นระบบชำระเงินเกมออนไลน์ของทางการีน่า ก่อนพัฒนาต่อยอดออกมาครอบคลุมธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ มีจำนวนลูกค้าใช้งานมากกว่า 8.1 แสนราย มีการใช้งานประจำอยู่ราว 2 แสนรายต่อเดือน ขณะที่จุดเติมเงินมีแล้วกว่า 6 หมื่นจุด ใน 916 อำเภอ จาก 926 อำเภอในประเทศไทย ซึ่งจะทยอยขยายให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
“เป้าหมายของการพัฒนา AirPay จะเน้นไปที่การเพิ่มช่องทางการชำระเงินในสินค้า และกลุ่มผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้มากยิ่งขึ้น พร้อมไปกับการขยายจุดบริการเติมเงิน โดยตั้งเป้าว่าภายในสิ้นปีจะเพิ่มเป็น 1 แสนจุด ขณะที่เป้าหมายระยะยาว คือ การเป็น One Stop Shop ให้แก่ผู้ใช้งาน เพื่อจะเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เงินสด เป็นธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ตามการผลักดันของรัฐบาล”
สุดท้าย 3.บริการแอปพลิเคชันสำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (e-Commerce) ภายใต้แบรนด์ Shopee ที่มีลูกค้าดาวน์โหลดไปใช้งานแล้วกว่า 2 ล้านราย ตั้งเป้าเพิ่มขึ้น 30% ในปีนี้ เป็นร้านค้ากว่า 30,000 ร้าน จากสินค้ากว่า 2 ล้านรายการ ที่จะเน้นการเพิ่มจำนวนผู้ขายปรับยูเซอร์ อินเทอร์เฟสให้ใช้งานได้ง่ายยิ่งขึ้น พร้อมไปกับการเพิ่มฟังก์ชันสำหรับผู้ซื้อ และผู้ขายให้ใช้งานได้สะดวกมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างให้ Shopee กลายเป็นคอมมูนิตีของผู้ซื้อ และผู้ขาย ก่อนที่จะสามารถสร้างรายได้ในระยะยาว
Company Relate Link :
Garena