ผู้จัดการรายวัน 360 - ที่ปรึกษาด้านพฤติกรรมและจิตวิทยาผู้บริโภคระดับโลก “เอ็นไวโรเซล” วิเคราะห์เทรนด์นิยมผู้บริโภคคนไทยปี 59 มุ่ง “ความสุข” เป็นหลัก เสพติดดรามา ยึดความสันโดษเป็นที่ตั้ง เน้นไลฟ์สไตล์ “ธรรมชาติ” สนใจความเป็นตัวตน ใช้ชีวิตอย่างอัตโนมัติ อันเป็นผลจากการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีอย่างสะดวกสบาย
น.ส.สรินพร จิวานันต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นไวโรเซล (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทที่ปรึกษาด้านพฤติกรรมและจิตวิทยาผู้บริโภคระดับโลก เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้มีการสำรวจวิจัยโดยใช้วิธีสัมภาษณ์เชิงลึกประกอบการใช้ข้อมูลทุติยภูมิของผู้บริโภคทั่วโลก ก่อนสรุปเป็นเทรนด์นิยมผู้บริโภคคนไทยที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2559 พบว่าพัฒนาการของผู้บริโภคได้เพิ่มความซับซ้อนของพฤติกรรม การใช้ชีวิตและความต้องการพื้นฐานมากขึ้น อันเนื่องมาจากการเติบโตของเทคโนโลยีและสังคมดิจิตอลบนโลกอินเทอร์เน็ต
การสำรวจครั้งนี้พบว่าอุปกรณ์เชื่อมโยงกับอินเทอร์เน็ต (Internet of Things) จะมีบทบาทหลักในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค โดยเฉพาะสมาร์ทโฟนที่คาดว่าจะมีผู้ใช้งานทั่วโลกสูงถึง 5.6 พันล้านเครื่องในปี 2559 โดยคาดภายในปี 2562 จะมีอุปกรณ์ดีไวซ์ทุกประเภทที่สามารถเชื่อมโยงกันได้มากถึง 7.5 หมื่นล้านชิ้น โดยอุปกรณ์หลักคือ เทคโนโลยีที่สามารถสวมใส่ได้ (Wearable) และสมาร์ททีวีซึ่งจะเช้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2538 จาก 18 ล้านคน หรือประมาณ 6% ของจำนวนประชากรทั้งหมดของโลก เพิ่มเป็น 3 พันล้านคน หรือประมาณ 66% ในปี 2558 โดยคาดว่าในปี 2562 จะมีสัดส่วนเต็ม 100% ของจำนวนประชากรทั้งหมดของโลก 7.5 พันล้านคน
สำหรับเทรนด์ผู้บริโภคคนไทยในปี 2559 สามารถจำแนกออกเป็น 6 ค่านิยมหลักๆ ได้แก่ 1. อัตโนมัตินิยม (Automatism) 2. แบบฉบับนิยม (I - Mage) 3.ธรรมชาตินิยม (Farm - Ganic) 4. สันโดษนิยม (Sole - Cial) 5. ดรามานิยม (Dramaqueen) 6. สุขนิยม (Happylust) ดังนั้นนักการตลาดและภาคธุรกิจจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจและวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้อย่างละเอียดและแม่นยำเพื่อรับมือกับพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปได้ทันท่วงที พร้อมปรับปรุงสินค้าและบริการได้เหมาะสมตามยุคสมัยอีกด้วย
น.ส.สรินพรกล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2559 ผู้บริโภคจะมีพัฒนาการเรื่องเอาแต่ใจตัวเองเพิ่มมากขึ้น ทั้งยังจะนิยามแบ่งชนชั้นด้วยไลฟสไตล์ในรูปแบบของอารมณ์และความรู้สึก (Emotional) มากกว่ารายได้ ดังนั้นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ดั่งใจ หรือมีความผิดพลาดเพียงเล็กน้อยที่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องและทันท่วงทีของผู้ให้บริการนั้นจะส่งผลกระทบด้านลบอย่างมากต่อผู้บริโภคยุคใหม่ที่มุ่งแต่จะหาความสุขเป็นหลัก
“ผู้บริโภคยุคใหม่จะสรรหาผลิตภัณฑ์และบริการที่ง่ายต่อการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวันในรูปแบบอัตโนมัติที่ไม่ต้องคิด ไม่ต้องเสี่ยง ไม่ต้องจำ โดยไม่จำกัดสถานที่และไม่ต้องรอคอย อันเป็นผลมาจากเทคโนโลยี Internet of Things คือ ทุกอุปกรณ์สามารถเชื่อมต่อด้วยกันและสั่งการด้วยอุปกรณ์ใดอุปกรณ์หนึ่ง หรือจากโทรศัพท์มือถือ นักการตลาดจึงจำเป็นต้องใช้กลยุทธ์ต่างๆ ที่จะเข้าถึงผู้บริโภคอย่างอัตโนมัติให้มากที่สุด”
น.ส.สรินพรกล่าวด้วยว่า จากสถิติในปี 2557 พบว่าผู้บริโภคมีการอัปโหลดรูป 1.8 พันล้านรูปต่อวัน โดย 80% เป็นการอัพโหลดรูปเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ของตนเอง จึงกลายเป็นค่านิยมในการสร้างแบรนด์ดิ้งตัวเองและต้องการที่จะออกแบบชีวิตโดยไม่ต้องอยู่ในกรอบ สอดคล้องกับอัตราการเติบโตของผู้ทำงานอิสระ (Freelance) คาดว่าจะเติบโตจาก 30% ในปี 2557 เป็น 40% ในปี 2562 ทั้งยังจะพัฒนาความเป็นตัวตนไปถึงขั้นเลือกผลิตภัณฑ์ที่เป็นแบบฉบับของตัวเอง โดยยอมจ่ายแพงกว่าเพื่อสร้างเอกลักษณ์ในการสะท้อนตัวตนและคุณค่าให้ตัวเอง โดย 56% ของผู้บริโภคชอบผลิตภัณฑ์ที่สามารถออกแบบเองได้ ขณะที่ 48% หวังว่าแบรนด์จะสามารถเข้าใจผู้บริโภคในระดับปัจเจกจนสามารถที่จะออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการที่เฉพาะเจาะจงกับตัวตนของผู้บริโภคได้
“ในปี 2558 ถือเป็นยุคกำเนิดของฮิปสเตอร์ เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่หันมามองหาผลิตภัณฑ์และไลฟสไตล์ที่เป็นธรรมชาติ รวมไปถึงการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและการเสพศิลปะ โดยเฉพาะการใช้สินค้าออร์แกนิกซึ่งเติบโตมากขึ้นถึง 14% และมีผลทำให้ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดทั่วโลกจำเป็นต้องปิดกิจการมากกว่า 700 แห่ง”
น.ส.สรินพรกล่าวอีกว่า มนุษย์จะค่อยๆ พัฒนาไปสู่การสังคมแบบดิจิตอลเต็มรูปแบบ คือ หาเพื่อนที่เป็นผู้รับฟังที่ดีโดยไม่ตอบโต้ หรือแสดงความเห็นเชิงลบ จนในที่สุดก็จะมีเพื่อนในรูปแบบดิจิตอลจริงๆ คือหุ่นยนต์นั่นเอง โดยผลสำรวจพบว่ามนุษย์ยุคปัจจุบันจะไม่ค่อยรู้สึกอะไรมากนักกับการไม่พบเพื่อน แต่ 79% จะกังวลถ้าไม่มีโทรศัพท์ติดตัว
นอกจากนี้ การรับประทานอาหารคนเดียว (Solo Dinner) ในสังคมสหรัฐอเมริกายังเติบโตขึ้นถึง 62% ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน นักท่องเที่ยวที่เดินทางคนเดียวในปี 2558 ก็เติบโตขึ้น 24% จาก 15% ในปี 2556 และมีการคาดการณ์ว่ามนุษย์จะมีความเกี่ยวพันกันน้อยลงเรื่อยๆ ส่งผลให้ที่อยู่อาศัยแบบการอยู่คนเดียวจะมีอัตราการเติบโตสูงมากขึ้น
ด้วยเหตุนี้ผู้บริโภคยุคใหม่จึงนิยมเลือกผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ที่มีจุดขายกับสังคมที่สันโดษ เพราะผู้บริโภคสามารถบริโภคอุปโภคเพียงคนเดียวได้ด้วยความสามารถทางสังคมแบบดิจิตอล ทั้งยังไม่ได้เสพข้อมูล หรือคอนเทนต์เพียงด้านเดียวอีกต่อไป แต่จะเสพคอนเทนต์ที่มีดรามาผสม หรือ “Emotional Content” และมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์นั้นๆ ด้วยตัวเอง
น.ส.สรินพรกล่าวด้วยว่า จากความสะดวกสบายในการดำรงชีวิตประจำวันเพราะความก้าวหน้าและทันสมัยของเทคโนโลยีต่างๆ ทำให้ผู้บริโภคยุคใหม่มีเวลามากขึ้น เพราะสามารถลดเวลาในการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ (Banking Online) การชอปปิ้งออนไลน์ และอื่นๆ แต่ผู้บริโภคกลับรู้สึกไม่มีเวลา เพราะแต่ละวันใช้เวลาเฉลี่ยในโลกโซเชียลมีเดียสูงถึง 4 ชั่วโมง จนทำให้ในแต่ละวันเวลาหมดไปโดยไม่รู้ตัว
“พฤติกรรมดังกล่าวทำให้แต่ละวันผู้บริโภคมักจะให้ความสนใจและรับรู้เรื่องราวของผู้คนมากมาย เสมือนการดูละครชีวิตของผู้อื่นตลอดเวลา จึงเป็นที่มาของการเสพติดดรามาโดยไม่รู้ตัว ทั้งยังนิยมและให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์และบริการที่เน้นการขายคุณค่าด้านอารมณ์เป็นสำคัญ”
น.ส.สรินพรกล่าวอีกว่า ผลของการใช้สื่อสังคมออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดีย ทำให้ผู้บริโภคยุคใหม่มักจะมีพฤติกรรมเปรียบเทียบและประเมินตนเองตลอดเวลา เช่น ลงรูปแล้วคนกดไลก์น้อยก็เครียดได้ ประเมินตนเองว่าลงรูปไม่น่าสนใจ เห็นคนอื่นลงชีวิตดีๆ ก็มักเกิดการเปรียบเทียบว่าทำไมเราถึงไม่ดีแบบนั้นบ้าง จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเครียดได้
“งานวิจัยพบว่าผู้บริโภคที่เสพติดโซเชียลมีเดียจะมีความสุขน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้เล่นถึง 39% โดยผู้ที่ไม่ใช้โซเชียลมีเดียจะมีความเครียดน้อยกว่าผู้เสพติดโซเชียลฯ ทีเดียถึง 55% ในขณะที่ความเครียดเรื่องความสามารถและสติปัญญาที่ด้อยกว่ากลับตามมาห่างๆ เป็นอันดับ 2 และ 3 จึงทำให้เห็นได้ชัดว่าการที่คนเราติดสร้างภาพลักษณ์ทำให้การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์และบริการแต่ละอย่างจึงต้องมั่นใจว่ามีความหมายต่อชีวิตและสร้างความสุขให้ชีวิต” น.ส.สรินพรกล่าวในตอนท้าย
อนึ่ง ผลการสำรวจครั้งนี้เป็นการดำเนินงานต่อเนื่องมาจากการวิเคราะห์ค่านิยม 8 ประการของคนในปี 2558 ประกอบด้วย 1. อยากรวยลัด 2. งามภายนอก 3. ช่วยเหลือตัวเอง 4. ไม่ผูกมัด 5. อย่าปิดบัง 6. วัฒนธรรมเดียวกัน 7. มาตรฐานสูง และ 8. ซื้อน้อยแต่ได้มาก