xs
xsm
sm
md
lg

Bualuang House View : Big Data-เมกะเทรนด์ทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนโฉมธุรกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คอลัมน์บัวหลวง Money Tips
โดยรุ่งนภา เสถียรนุกูล
Portfolio Management

Big Data หรือการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ เป็นกระแสที่กำลังมาแรงในตลาดไอที และในองค์กรระดับโลก นอกจากจะเป็น mega trend แล้ว ยังเป็น business trend ที่หน่วยงานธุรกิจต้องปรับตัวและเปิดรับเพื่อก้าวให้ไกลกว่าคู่แข่งขัน เนื่องจาก Big Data มิใช่แค่บริหารจัดการข้อมูลเท่านั้น แต่ยังเป็นกระบวนการนำข้อมูลปริมาณมหาศาลไปใช้เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการให้ลูกค้าพึงพอใจสูงสุด
    
ข้อมูลที่เรียกว่า Big Data นั้นมาจากพฤติกรรมหรือไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคร่วมสมัย ที่แสดงปฏิสัมพันธ์ผ่านอินเทอร์เน็ตในช่องทางต่างๆ นั่นเอง ไม่ว่าจะเป็น Social media, อุปกรณ์พกพา หรือระบบ Cloud  ประมาณการว่าในแต่ละวันจะมีข้อมูลที่ถูกสร้างขึ้นถึง 2.5 quintillion bytes (2.5 ล้านล้านล้านไบต์) ทีเดียว พิจารณาเฉพาะการแชร์รูปภาพผ่านเฟซบุ๊กในยุคนี้ก็ตกวันละถึง 1,800 ล้านรูปแล้ว ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่าในช่วงสามปีที่ผ่านมา หากนับรวมปรากฏการณ์แชร์ข้อมูลแบบลูกโซ่ผ่านเครือข่ายสังคมอื่นๆ ก็จะยิ่งมหาศาล จนทำให้เกิดระบบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีประสิทธิภาพ และที่สำคัญยังต้องแสดงนัยทางธุรกิจ (business implication) ได้ด้วย
    
International Data Corporation (IDC) สถาบันวิจัยตลาดและให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและผู้บริโภคชั้นนำของสหรัฐฯ คาดการณ์ว่าตลาดเทคโนโลยีและบริการที่เกี่ยวข้องกับ Big Data ในปี 2015 จะมีมูลค่าถึง 1.69 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ มีอัตราเติบโตปีละ 40% ซึ่งสูงกว่าอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและการสื่อสารแขนงอื่นๆ ถึงเจ็ดเท่า
    
ในแง่มุมการลงทุนแล้ว BBLAM เห็นว่ากลุ่มธุรกิจที่ปรับตัวเองสู่กระแสดิจิตอลได้จะช่วยเปิดช่องทางสร้างผลกำไรให้กับตัวได้อย่างยั่งยืน ถือเป็นกลุ่มธุรกิจที่เราให้ความสนใจ และพิจารณาแล้วว่ายังให้โอกาสด้านลงทุน เพราะมีปัจจัยสนับสนุนผลประกอบการและกำไรได้อย่างต่อเนื่อง
    
ทั้งนี้ ธุรกิจไทยที่ไม่ยอมตกกระแสและกำลังลงทุนด้าน Big Data ธุรกิจแรก ได้แก่ ธนาคารหรือสถาบันการเงิน ซึ่งปัจจุบันเกิดธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ไล่กระชั้นธุรกรรมปกติมากขึ้นเรื่อยๆ  ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยในเดือนกันยายน 2557 ระบุว่า มีลูกค้าที่ใช้บริการอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง 8,943,950 บัญชี (เพิ่ม 16.04% ปีต่อปี) และมีมูลค่าธุรกรรม 1.71 ล้านล้านบาท ส่วนลูกค้าใช้บริการโมบายล์แบงกิ้ง 3,711,382 บัญชี (เพิ่ม 235.1% ปีต่อปี) และมีมูลค่าธุรกรรม 1.3 แสนล้านบาท นับว่าไม่น้อยทีเดียว จนจำเป็นที่ผู้ให้บริการต้องปรับตัวเข้าหาทิศทางนี้ ธนาคารไทยหลายแห่งลงทุนสร้าง Integrated Internet Platform ที่มิใช่เพื่อตอบสนองความพึงพอใจของลูกค้าในด้านบริการเท่านั้น แต่ยังนำข้อมูลต่างๆ เข้า data analytic เพื่อทำ customer segmentation เพื่อเข้าใจพฤติกรรมลูกค้าในแต่ละกลุ่มให้มากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ธนาคารไทยบางแห่งก้าวข้าม customer segmentation ไปสู่ Individual CRM (Customer Relation Management) เพื่อเจาะลึกลูกค้าเป็นรายบุคคล  จนเสนอสินค้าและบริการที่เจาะจงสำหรับลูกค้ารายนั้นๆ
    
ธุรกิจค้าปลีกเป็นธุรกิจอีกหนึ่งแขนงที่ปรับตัวรับ Big Data จากการศึกษาของ BBLAM พบว่าธุรกิจค้าปลีกวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้า จากการรวบรวมความคิดเห็นที่ลูกค้า comment ลงในสื่อสังคมต่างๆ ไม่ว่าเรื่องที่กำลังเป็นกระแสนิยม ความชื่นชอบในแฟชั่น รวมไปถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับสินค้าและบริการ ข้อมูลมากมายเหล่านี้จะถูกรวบรวมเพื่อวิเคราะห์และประมวลผล แล้วนำไปพัฒนาสินค้าและบริการรวมทั้งทำการตลาดให้ตรงใจผู้บริโภคมากที่สุด

ธุรกิจสายการบินก็เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่เทคโนโลยีแสดงบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะสายการบิน Low Cost  ระบบการจองตั๋วเครื่องบินในวันนี้ทำผ่านอินเทอร์เน็ตหรือผ่านสมาร์ทโฟนอย่างสะดวกสบาย ต่างจากเดิมที่ต้องจองผ่านตัวแทนจำหน่าย ทำให้สายการบินลดต้นทุนดำเนินงานได้    อย่างมาก ในทางตรงข้าม กลับเพิ่มคุณภาพการบริการและสร้างความพึงพอใจให้ผู้โดยสารได้มากขึ้น นอกจากนี้การสร้าง application ให้ติดตั้งใช้งานทางสมาร์ทโฟนยิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการที่ต้องการหาข้อมูล ไม่ว่าตารางการบิน จองตั๋ว เช็กอินล่วงหน้า โหลด boarding pass ตรวจสอบสถานการณ์ต่างๆ รวมทั้งบริการเกี่ยวเนื่องอื่นๆ ในลักษณะที่เป็น real time
    
จากตัวอย่างข้างต้น ประจักษ์ชัดว่าความสามารถทางการแข่งขันเชิงธุรกิจในวันนี้ไม่ได้ชี้วัดแค่เพียงประสิทธิภาพทางการผลิตหรือความสามารถในการลดต้นทุนอีกต่อไป แต่ยังขึ้นกับว่าธุรกิจจะนำข้อมูลของลูกค้า (customer insight) ในมิติต่างๆ อันซับซ้อน ไปกำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจ พัฒนาสินค้า และวางแผนการตลาด เพื่อทำให้ลูกค้าพึงพอใจสูงสุดได้อย่างไร ยิ่งในยุคที่ข้อมูลหลากล้นและยังปริวรรตตลอดเวลา ถ้าธุรกิจไม่นำตัวเองกระโจนลงสู่กระแส Big Data อย่างทันท่วงที อาจสุ่มเสี่ยงที่จะไล่กวดคู่แข่งไม่ทัน ซ้ำร้ายอาจพลาดโอกาสทองที่จะเพิ่มพูนกำไรไปอย่างน่าเสียดาย
    
สำหรับนักลงทุนที่กำลังสนใจในกิจการที่ปรับตัวรับเทรนด์ใหม่ทางธุรกิจนี้ ด้วยประสบการณ์ที่มียาวนานของ BBLAM พร้อมแล้วที่จะเฟ้นหาบริษัทชั้นนำและเป็นที่หนึ่งแห่งยุคดิจิตอล เพื่อร่วมลงทุนเสริมสร้างความมั่งคั่งให้ทั้งกิจการและนักลงทุนของเราเติบโตอย่างมั่นคงไปพร้อมๆ กัน ดังวรรคทองของ BBLAM ประจำปี 2558 ที่ว่า “วิถีใหม่เชื่อมโยงสายไหม เครือข่ายออนไลน์แสนสะดวก”


กำลังโหลดความคิดเห็น