xs
xsm
sm
md
lg

เกมวัดพลังค่ายมือถือ!!!(Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ปีนี้อาจเป็นปีชง “เอไอเอส” ในขณะที่บางรายดวงอาจพุ่งทะลุขีดสุดด้วยซ้ำ ธุรกิจโทรคมนาคมในประเทศไทย เรียกได้ว่าเป็น “ธุรกิจการเมือง” มาตั้งแต่ยุครัฐวิสาหกิจแสวงหาเมืองขึ้นในรูปแบบสัญญาสัมปทาน ที่กำกับดูแลโดยบอร์ดและกระทรวงคมนาคมจนกลายเป็นกระทรวงไอซีที จวบจนปัจจุบันที่เปลี่ยนรูปแบบไปเป็นระบบใบอนุญาต จาก กสทช.ที่มีหน้าที่ออกใบอนุญาตและกำกับดูแลให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม และไม่เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค

ปัจจัยแพ้ชนะของเอกชนที่รับสัมปทานหรือใบอนุญาตในธุรกิจโทรคมนาคม ไม่ใช่แค่ความสามารถในการแข่งขันเชิงธุรกิจอย่างเดียว แต่สิ่งที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จที่สามารถสร้างแต้มต่อการแข่งขัน หรือการเหนี่ยวรั้งคู่แข่งไว้บดขยี้ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ทุกยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลการเมืองหรือรัฐบาลทหาร การสร้างสายสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง ตอบสนองปัจจัย 4 ของผู้กุมอำนาจ ล้วนเป็นหนทางที่ทำให้ปัจจุบันเก้าอี้ผู้นำในธุรกิจโทรศัพท์มือถืออย่าง “เอไอเอส” ถูกเขย่าอย่างหนัก เพราะสิ่งที่คู่แข่งทำ ผู้กุมอำนาจรัฐบอกว่าถูก แต่เมื่อตัวเองทำบ้างกลับโดนดึงด้วยเหตุผลสารพัด จนท้ายสุดอาจทำไม่ได้ด้วยซ้ำ

วันนี้จึงดูเหมือนได้แต่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ได้แต่ตั้งรับมากกว่าคิดจะรุก

เมื่อผู้นำตลาดเพลี่ยงพล้ำ

สถานการณ์ในตลาดโทรคมนาคมในยุคเปลี่ยนผ่านจากระบบ 2G เป็นระบบ 3G และ 4G อย่างสมบูรณ์แบบอาจจะไม่สวยหรูอย่างที่คิด จากกรณีที่ลูกค้าเอไอเอสเกือบซิมดับ 4 แสนราย ในคืนวันที่ 15 มีนาคม 2559 ตามเวลาที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำหนดไว้ ว่าหลังจากผู้ประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz มาชำระเงินค่าประมูล และออกใบอนุญาตเรียบร้อยจะต้องปิดระบบ ดีที่ฟ้ามีตา ศาลปกครองกลางจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติของ กสทช.ให้ความคุ้มครองชั่วคราวออกไปอีก 30 วัน จนถึงวันที่ 14 เม.ย.เวลา 24.00 น.

เมื่อมองย้อนไปมองถึงสถานการณ์ที่เกิดตั้งแต่ช่วงปลายปี 2558 ที่ บริษัท แอดวานซ์ ไวเลส เน็ตเวิร์ก จำกัด (AWN) ภายใต้ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) พลาดการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ที่กสทช. จัดประมูลขึ้น และ บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูลในคลื่นชุดที่ 1 คือ คลื่นความถี่ 895-905 MHz คู่กับ 940-950 MHz ด้วยราคาสุดท้ายที่เสนอ 75,654 ล้านบาท และ บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) ผู้ชนะการประมูลในคลื่นชุดที่ 2 คือ คลื่นความถี่ 905-915 MHz คู่กับ 950-960 MHz กับราคาสุดท้ายที่เสนอ 76,298 ล้านบาท

โดยภายหลังการประมูล เอไอเอส ได้ชี้แจงว่า ราคาประมูลดังกล่าวเป็นช่วงราคาที่สูงเกินไป ซึ่งหากบริษัทนำเงินจำนวนดังกล่าวมาใช้ในการลงทุนเสริมโครงข่ายทั้งบนคลื่น 2100 MHz และ 1800 MHz ที่เพิ่งประมูลได้มา ก็จะสามารถให้บริการลูกค้าได้เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค ประกอบกับในอนาคตทาง กสทช.จะมีการเปิดประมูลคลื่นความถี่เพิ่มเติมอีกในอนาคต

ด้วยสถานการณ์ที่บีบบังคับ ทำให้เอไอเอสต้องเร่งโอนย้ายลูกค้าที่ยังใช้งาน 2G บนคลื่นความถี่ 900 MHz ที่เหลืออยู่ในช่วงเวลานั้นกว่า 1 ล้านรายให้เปลี่ยนมาใช้งาน AIS 3G รวมถึงลูกค้าที่ใช้งาน AIS 3G แต่เครื่องยังรองรับเพียง 2G อีกกว่า 11 ล้านราย ด้วยการงัดกลยุทธ์การแจกเครื่อง 3G ให้แก่ลูกค้าที่มาเปลี่ยนเครื่อง

แต่จนแล้วจนรอดเมื่อถึงช่วงเวลาที่ทางทรูมูฟมาชำระเงินค่าประมูล และได้รับใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 MHz ในวันที่ 14 มีนาคม 2559 ก็ยังเหลือลูกค้าเอไอเอสที่ยังใช้งาน 2G บนคลื่น 900 MHz อีกกว่า 4 แสนราย ไม่นับรวมกับลูกค้าที่ใช้งาน AIS 3G บนเครื่อง 2G อีกกว่า 7.6 ล้านราย เพียงแต่ลูกค้าที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงคือลูกค้ากลุ่มแรก 4 แสนรายที่หลังจากซิมดับจะไม่สามารถใช้งานเลขหมายได้อีกต่อไป

จากข้อมูลล่าสุดของทางเอไอเอส ระบุว่า กลุ่มลูกค้า 4 แสนรายที่ยังใช้งาน 2G อยู่ถือเป็นกลุ่มลูกค้าที่เน้นการโทร.เพียงอย่างเดียว และที่สำคัญคืออยู่ในพื้นที่ห่างไกล ต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทางมายังศูนย์บริการ จึงทำให้ไม่ได้มาทำเรื่องโอนย้ายมาใช้งาน AIS 3G แม้ว่าทางเอไอเอสจะมีมาตรการทั้งการแจ้งเตือนผ่านการส่ง SMS และโทร.เข้าไปแจ้งข้อมูลแล้วก็ตาม

ขณะที่ในกลุ่มของลูกค้า 7.6 ล้านรายนั้น เอไอเอส ไม่เป็นห่วงมากนัก เพราะได้มีการเตรียมการร่วมกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมอย่าง บริษัท โทเทิ่ล แอ็คแซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ในการโรมมิ่งเครือข่าย 2G บนคลื่น 1800 MHz มาให้บริการแก่ลูกค้าในกลุ่มนี้ โดยอาจจะมีบางพื้นที่ที่สัญญาณ 2G เข้าไม่ถึงทางเอไอเอสก็อยู่ในช่วงขยายสัญญาณให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

สมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส ให้ข้อมูลไว้ว่า ในยุคสมัยของการแข่งขัน 2G เชื่อว่าสถานีฐานของเบอร์ 1 และเบอร์ 2 ในตลาดมีพื้นที่ให้บริการครอบคลุมไม่ต่างกันมากอยู่แล้ว ดังนั้นเชื่อว่าจะสามารถรองรับลูกค้ากว่า 7.6 ล้านรายได้อย่างแน่นอน เพียงแต่จะมีบางจุดตามภูเขา หรือพื้นที่ห่างไกลที่จะได้รับผลกระทบแต่มีเพียงผู้ใช้งานส่วนน้อยเท่านั้น

รวมถึงทางด้าน ลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทค ยังออกมาให้ข้อมูลว่า เพราะดีแทคแคร์ผู้ใช้มือถือทุกคนไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายไหน จึงพร้อมให้ความร่วมมือในการช่วยเหลือทุกคน เพื่อไม่ให้กังวลว่าซิมจะดับ พร้อมติดแอชแท็ก #FairFight ออกมาสร้างมาตรฐานของการแข่งขันที่ขาวสะอาดบนพื้นฐานการใช้งานของผู้บริโภค

นอกเหนือไปจากการลงทุนขยายโครงข่าย ทำแคมเปญแจกมือถือ 3G ฟรีแก่ลูกค้า และการหาพันธมิตรในการโรมมิ่งสัญญาณจากดีแทคแล้ว อีกแนวทางหนึ่งที่เอไอเอสทำ คือการส่งหนังสือถึงก สทช.ในการขอขยายระยะเวลาเยียวยาลูกค้า 2G อย่างต่อเนื่อง แต่ถูกบอกปัดจาก กสทช.ที่ระบุว่า ต้องยึดตามมติที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) คือเมื่อออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ชนะการประมูลรายใดรายหนึ่ง มาตรการคุ้มครองก็ต้องสิ้นสุดลง

พร้อมกับมีการรับทราบข้อเสนอของ TUC ที่เสนอให้AWN สามารถใช้งานคลื่นความถี่ 900MHz จำนวน 10 MHz ในส่วนของบริษัทต่อไปได้อีก 3 เดือน เพื่อให้ลูกค้า 2G สามารถเปลี่ยนไปใช้ซิมใหม่ได้โดยยังคงใช้เบอร์เดิม โดย เอไอเอส จะต้องจ่ายค่าเช่าใช้งานคลื่นความถี่จำนวน 450 ล้านบาทต่อเดือนให้แก่ทรู

ก่อนที่ทางประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทรู “ศุภชัย เจียรวนนท์” จะออกมาให้ข้อมูลผ่านสื่อในวันที่มาชำระเงินค่าใบอนุญาตว่าพร้อมที่จะให้ใช้คลื่นโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย แต่สุดท้ายข้อเสนอดังกล่าวก็ตกไป เพราะการทำข้อตกลงในการเช่าใช้โครงข่ายดังกล่าวขัดกับเงื่อนไขการประมูลรวมถึงการที่ทางหน่วยงานกำกับดูแลมีพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางมิชอบโดยกฎหมายอาญาในหลายประเด็น

ว่ากันว่าแนวทางให้ใช้ความถี่ฟรี อาจเป็นการหวังดีประสงค์ร้าย เพราะหากลูกค้า 7.6 ล้านรายไปใช้การโรมมิ่งกับดีแทคหมด ช่วงความถี่ที่ว่างหรือถนนที่กว้างขึ้นอาจทำให้เอไอเอสแข็งแรงในการหาลูกค้าใหม่ 3G/4G มาขวางคอตัวเองก็เป็นได้

แต่สุดท้ายยังดีที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งทุเลามติของทาง กสทช. ทำให้ทางเอไอเอส สามารถให้บริการต่อเนื่องออกไปอีกเป็นระยะเวลา 30 วัน จนถึงวันที่ 14 เมษายน 2559 เวลา 24.00 น. โดยระบุว่า หากศาลมีมติคุ้มครองก็ไม่ทำให้ TUC ได้รับความเดือดร้อนเสียหายแต่อย่างใด

ว่ากันว่าหลังศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองลูกค้า 2G เอไอเอส มีคนแอบเห็นผู้ใหญ่ใน กสทช.มีสีหน้าดูผิดหวังมาก เหมือนทำงานให้ใครแล้วไม่สำเร็จ

และเมื่อเป็นเช่นนั้น ทางออกที่เตรียมการไว้ด้วยการโรมมิ่งลูกค้า 2G กับทางดีแทคก็สามารถยืดระยะเวลาออกไปก่อน แต่ภารกิจหนักก็ยังคงตกอยู่ที่เอไอเอส ในการลงทุนขยายเครือข่าย 3G ให้ครอบคลุมเทียบเท่า 2G พร้อมกับการกระตุ้นให้ลูกค้าที่ใช้งานคลื่น 900 MHz ให้มาทำการย้ายมาใช้เครือข่าย 3G เช่นเดียวกับการเปลี่ยนเครื่องลูกค้าที่เป็น 2G รวมๆกว่า 8 ล้านเลขหมายให้เป็นเครื่องที่รองรับ 3G หรือ 4G

รับซาลาเปาพร้อมย้ายค่ายมั้ยค่ะ

ย้อนกลับไปทางฝั่งของกลุ่มทรู หลังจากที่ประมูลได้ใบอนุญาตคลื่นความถี่ทั้ง 1800 MHz และ 900 MHz ก็กลายเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่มีคลื่นความถี่บนใบอนุญาตให้บริการมากที่สุดในประเทศไทย พร้อมระบุว่า การได้คลื่นความถี่ 900 MHz มาทำให้ทรูสามารถประหยัดการลงทุนโครงข่าย 4G ได้ถึง 45,000 ล้านบาท จากประสิทธิภาพของคลื่นที่ให้บริการได้ครอบคลุม และกว้างไกลกว่าขณะเดียวกันยังมีลูกค้าที่ใช้งาน 2G อยู่จริงถึง 15 ล้านราย (ในเวลานั้น)

ส่งผลให้หลังจากนั้น ทางกลุ่มทรูก็เริ่มเดินเกมแย่งชิงลูกค้าที่ใช้งานคลื่น 900 MHz ด้วยการออกแคมเปญกระตุ้นให้ลูกค้าที่ใช้งานร้านสะดวกซื้อ 7-11 ที่มีกว่า 8,000 สาขา เพื่อให้ลูกค้าย้ายค่ายเบอร์เดิมเพื่อรับโทรศัพท์เครื่องใหม่ฟรี ด้วยการงัดกลยุทธ์ไม่ว่าจะเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในเรื่อง ของการให้บริการบนคลื่นความถี่ต่าง ด้วยการโจมตีทั้งเอไอเอส และดีแทค ก่อนออกมาระบุว่าเป็นการกระทำของทางร้านค้า ไม่ได้เป็นนโยบายจากทางบริษัทแม่ และกลับเข้าสู่การแข่งขันตามปกติในเวลาต่อไป

ก่อนจะเริ่มเกมการฟ้องร้องจาก TUC แจ้งความต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) กรณีที่เอไอเอสปิดกั้นไม่ให้ลูกค้าโทร.ติดต่อคอลเซ็นเตอร์หรือทรูมูฟ เอช แคร์ 1331 เพื่อขอย้ายค่ายเบอร์เดิมจากเครือข่ายเอไอเอส มาเป็นทรูมูฟ เอช โดยในเวลานั้นทาง บก.ปคบ.ได้มีการรับเรื่องไว้ และส่งต่อให้ทางสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) มารับเรื่องร้องเรียนแทน โดยระบุด้วยว่า กรณีดังกล่าวหากเกิดความเสียหายต่อการดำเนินธุรกิจนั้นเป็นคดีอาญาถึงจะดำเนินการ แต่ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการให้บริการก็จะให้ทางกสทช.ดูแลต่อไป

หลังจากนั้นฝาก เอไอเอส ได้มีการทำหนังสือชี้แจงออกมาระบุว่า บริษัทไม่ได้มีการปิดกั้นการสื่อสารของลูกค้าแต่อย่างใด และลูกค้าเอไอเอสสามารถโทร.ออกไปยังทุกเบอร์ได้ตามปกติ เพียงแต่ขณะนี้อยู่ในช่วงการสื่อสารถึงลูกค้าที่ยังใช้เครื่อง 2G จึงทำให้เมื่อโทร.ออกแล้วจะได้ยินเสียงประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้าเปลี่ยนเครื่องฟรี ก่อนเชื่อมกับเบอร์ปลายทางตามปกติ

ขณะเดียวกัน จากปริมาณลูกค้าที่ทำเรื่องย้ายค่ายจาก 7-11 มีการร้องขอเข้ามาในปริมาณเพิ่มมากขึ้น ทำให้ทั้งเอไอเอส และดีแทค ยื่นหนังสือร้อง กสทช.ให้ตรวจสอบการโอนย้ายลูกค้าว่าอาจจะไม่ถูกตามหลักเกณฑ์ที่ กสทช.กำหนด เพราะมีการใช้งานลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ได้มีการลงนามในเอกสาร เพียงแต่ที่ประชุม กทค.ได้พิจารณาแล้วว่า การโอนย้ายเลขหมายผ่านช่องทางร้านสะดวกซื้อ โดยใช้ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ มิได้เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายและยังเป็นไปตาม พ.ร.บ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน

นอกจากนี้ที่ประชุม กทค. ยังมีมติให้สำนักงาน กสทช.ออกคำสั่งทางปกครองให้ เอไอเอส และดีแทค โอนย้ายลูกค้ากว่า 6 แสนราย ไปยัง ทรูมูฟ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรายใหม่โดยด่วน จากเหตุแห่งการปฏิเสธการโอนย้ายของ เอไอเอส และดีแทค ไม่เข้าเงื่อนไขการปฏิเสธการโอนย้ายทั้ง 8 ประการ ตามที่กำหนดในข้อ 4.9 ของเงื่อนไขแนวทางปฏิบัติการโอนย้ายผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่

ที่สำคัญทางกสทช. ยังระบุว่า หน้าที่ในการตรวจสอบเอกสารว่าถูกต้องหรือไม่เป็นของทางสำนักงาน กสทช. ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลใดที่ เอไอเอส ดีแทค และทรู จะขัดขวางการโอนย้าย ทำให้ดีแทค และเอไอเอส ถึงกับไปต่อไม่เป็นว่า “ถ้าต้นทางส่งหนังสือมาไม่ครบ แล้วปลายทางจะทำเรื่องให้สมบูรณ์ได้อย่างไร”

เนื่องจากการปฏิเสธการโอนย้ายดังกล่าวส่งผลกระทบกับประชาชนโดยตรง พร้อมกันนี้ได้ให้สำนักงาน กสทช.ไปดำเนินการตรวจสอบว่ากระบวนการขอโอนย้ายเลขหมายของทรูมูฟ เอช ถูกต้องตามที่ได้มีการร้องเรียนมาหรือไม่ว่ามีการส่งข้อมูลเฉพาะบัตรประชาชนเพียงอย่างเดียวไม่มีลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์แนบมาด้วย ทำให้เกิดการปฏิเสธการโอนย้าย

พันธมิตรทีโอที ...ล่ม!

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะพลาดทั้งการประมูล ความถี่ 900 MHz และเพลี่ยงพล้ำใน เรื่องของการย้ายค่ายเบอร์เดิม แต่เอไอเอสพยายามเล่นเกมโต้กลับหวัง หาทางเพิ่มความถี่ ด้วยการตกลงเป็นพันธมิตรกับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ด้วยการทำสัญญาในคลื่น 2100 MHz จำนวน 15 MHz เป็นระยะเวลา 10 ปี นับตั้งแต่คณะกรรมการบริษัททีโอทีมีมติรับรองในเรื่องนี้ไปแล้วในที่ประชุมเมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2558 ซึ่งในขณะนั้น มนต์ชัย หนูสง รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที คาดว่าจะใช้เวลาในการร่างสัญญาเพื่อลงนามความร่วมมือกันได้ภายในสิ้นปี 2558ที่ผ่านมา

แต่จนแล้วจนรอด การทำงานร่วมกันของทั้ง 2 บริษัท ก็ยังไม่มีการลงนามแต่อย่างใด หากแต่กระบวนการยังคงวนอยู่ในทีโอทีเองซึ่งดูเหมือนไม่ได้เดินหน้าไปไหน

ทั้งนี้กระบวนการเหมือนจะไม่มีอะไรซับซ้อนเพราะสัญญาดังกล่าวไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมการงานในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ) ดังนั้นจึงเพียงแค่ให้บอร์ดพิจารณาร่างสัญญา ก่อนที่จะส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณา และนำกลับมาให้ที่ประชุมพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง และนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบเท่านั้น

นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้แจ้งว่า หากเป็นรูปแบบการให้เช่าเสาและอุปกรณ์โทรคมนาคมเพื่อนำไปให้บริการ แต่ทีโอทียังคงเป็นผู้บริหารคลื่นความถี่เหมือนเดิม ก็ไม่ต้องเข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ซึ่งการพิจารณาดังกล่าวได้นำกรณีตัวอย่างการทำสัญญาธุรกิจมือถือรูปแบบใหม่ระหว่างบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กับกลุ่มบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มาเปรียบเทียบซึ่งสัญญาดังกล่าวไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ

แต่อะไรที่กลุ่มทรูทำสำเร็จกับ กสท ไม่ได้แปลว่าหากเอไอเอสทำในทำนองเดียวกับทีโอที ทุกอย่างจะราบรื่นเสมอไป เพราะหากเอไอเอสเป็นพันธมิตรกับทีโอที ไม่ใช่เฉพาะได้สิทธิใช้ความถี่ 2100 MHz เพื่อ 3G เท่านั้น แต่ยังมองยาวไปถึงการพัฒนาความถี่ 2300 MHz ของทีโอทีอีกจำนวน 60 MHz ที่มีคนบอกว่าทำอะไรได้มากมายชนิดที่ใครบางคนคาดไม่ถึง

การเป็นพันธมิตรกับทีโอที จึงเป็นแค่ฝันหวานยามค่ำคืน ที่เมื่อตื่นขึ้นมา ตอนเช้าจะพบกับความจริงชนิดขมปากว่ายากจะเป็นไปได้

ว่ากันว่า มีบอร์ดทีโอทีร่างทรงบางคนให้ความเห็นค้านว่า การเป็นพันธมิตรระหว่างทีโอทีกับเอไอเอสน่าจะเข้าข่าย “ppp” ต้องดำเนินการตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ เท่านั้น ทุกอย่างก็หยุดสนิท เพราะหากต้องทำตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ก็เหมือนกับเริ่มนับหนึ่งใหม่ ทีโอทีต้องนำเรื่องสอบถามกฤษฎีกาว่าเข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ หรือไม่ และนำเข้าที่ประชุมบอร์ดทีโอที ที่ประชุมเดือนละครั้ง ก่อนจะนำเรื่องเสนอให้กระทรวงไอซีที เสนอ ครม.ว่าจะสามารถดำเนินการหรือไม่ ซึ่งต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน ซึ่งเวลาทุกเดือนที่ผ่านไปในธุรกิจโทรคมนาคม เท่ากับความสามารถในการแข่งขันที่ถูกลิดรอนลงไปทุกขณะ

ทั้งๆ ที่การเป็นพันธมิตรกับเอไอเอส จะสามารถสร้างรายได้สุทธิให้ทีโอทีกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปีใน 5 ปีแรกจากอายุสัญญา 10 ปีที่คาดว่าจะได้รับรายได้ตลอดอายุสัญญาจำนวนแสนล้านบาท โดยมีรายได้จาก 1.การให้เช่าเสาโทรคมนาคมจำนวนประมาณ 12,000 กว่าแห่ง และโครงข่าย 2G คลื่น 900 MHz ซึ่งทีโอทีจะสามารถสร้างรายได้สุทธิปีละกว่า 5,000 ล้านบาทใน 5 ปีแรก และ 3,000 กว่าล้านบาทต่อปีใน 10 ปีหลัง โดยเอไอเอสจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา และ 2.การเป็นพันธมิตรธุรกิจโทรศัพท์มือถือคลื่น 2100 MHz โดยพันธมิตรจะลงทุนขยายโครงข่ายและเสนอซื้อความจุที่ 80% ซึ่งทีโอที จะสามารถสร้างรายได้สุทธิปีละเกือบ 4,000 ล้านบาทต่อปี และพันธมิตรเป็นผู้รับผิดชอบค่าบำรุงรักษาโครงข่ายประมาณ 600 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ ในธุรกิจโทรศัพท์มือถือคลื่น 2100 MHz ความจุที่เหลือ 20% ทีโอที จะทำตลาดเองโดยคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ปีละกว่า 1,000 ล้านบาท

อาการสะดุดของการเป็นพันธมิตรกับเอไอเอส ทั้งเรื่องการเช่าเสาโทรคมนาคม และ เรื่องบริการโทรศัพท์มือถือความถี่ 2100 MHz สาเหตุสำคัญที่สุดคือโครงการนี้ดูเหมือนไม่มี “เจ้าภาพ” ซึ่งจะมาเข็นให้โครงการผ่านไม่ว่าจะด้วยกระสุนดินดำอะไรก็ตาม เมื่อเทียบเอไอเอสกับทรู ยามนี้จึงต่างกันลิบลับ

คุณภาพเครือข่าย และ การใส่ใจให้บริการลูกค้า ยังเป็นเสาค้ำยันตำแหน่งผู้นำในตลาดให้เอไอเอส ในภาวะที่ถูกคู่แข่งถล่มหนัก ด้วยจุดแข็งด้านสายสัมพันธ์อำนาจรัฐ ที่สร้างแต้มต่อที่ค้านสายตาคนในวงการ มีคนกล่าวว่าซีอีโอที่ประสบความสำเร็จต้องเป็น “survivor” ที่สามารถ survive ในยามวิกฤตที่คับขันที่สุดในช่วงเวลาที่สำคัญ !!
กำลังโหลดความคิดเห็น