xs
xsm
sm
md
lg

กลัวย่ำรอยเท้าคนอื่น “อุตตม” รื้อโครงการดาต้า เซ็นเตอร์แห่งชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ยืดเป็นหนังยางเสียเวลาเป็นปี สุดท้ายนั่งดูข้อมูลใหม่ อย่างนึ้คงเจริญ “อุตตม” ลั่นไม่จำเป็นต้องเดินตามแนวคิดเดิม ปรับโครงการดาต้า เซ็นเตอร์ แห่งชาติใหม่ หลังบอร์ดดีอีชั่วคราวสั่งยกเลิกมติ ครม.ที่ระบุห้ามหน่วยงานภาครัฐสร้างศูนย์ดาต้า เซ็นเตอร์ เอง เผยให้ EGA ศึกษารายละเอียดเชิงลึก ไม่บังคับรัฐลงทุนกับเอกชน

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวถึงความคืบหน้าในการดำเนินโครงการดาต้า เซ็นเตอร์แห่งชาติ ว่า ขณะนี้ได้ปรับรูปแบบโครงการใหม่ โดยได้มอบหมายให้สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA สำรวจข้อมูลเชิงลึก ซึ่งในเบื้องต้นคณะทำงานได้แบ่งประเภทตามความสำคัญของระบบงานออกเป็น3 ประเภท ได้แก่ 1.ระบบข้อมูลด้านความมั่นคงของประเทศ มีสัดส่วน 60% 2.ระบบข้อมูลสำคัญ มีสัดส่วน 8% และ 3.ระบบข้อมูลทั่วไป มีสัดส่วน 32%

ทั้งนี้ ในที่ประชุมคณะกรรมการเตรียมการดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (บอร์ดดีอีชั่วคราว) เมื่อวันที่ 8 ก.พ.2559 ได้มีมติยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 12 พ.ค.2558 ในส่วนที่ “เห็นชอบให้หน่วยงานภาครัฐระงับการสร้างศูนย์ข้อมูลทุกประเภท ยกเว้นโครงการ/กิจกรรมที่มีการผูกพันตามสัญญาแล้ว ก่อนวันที่ 1 เม.ย.2558 และให้หน่วยงานภาครัฐขอแปลงงบลงทุน (ครุภัณฑ์ ที่ดิน สิ่งก่อสร้าง) เป็นงบดำเนินงานที่เพียงพอต่อการเช่าใช้บริการระบบสำหรับปีงบประมาณ พ.ศ.2558 ก่อนที่การลงทุนของภาคเอกชนจะเกิดขึ้น”

ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐประมาณ 300 หน่วยงานต้องมาวิเคราะห์ว่าข้อมูลต่างๆ อยู่ในหมวดหมู่ใด ซึ่งที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐมีการลงทุนด้านดาต้า เซ็นเตอร์เองอย่างต่อเนื่อง และจากการสำรวจมีการใช้งานเพียง 16% เท่านั้น จึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่าจะสร้างใหม่จำนวนเท่าไหร่ โดยหน้าที่หลักมอบหมายให้ EGA บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบเรื่องนี้

“ตอนนี้ข้อมูลเชิงลึกเราให้ EGA เป็นคนสำรวจจึงยังไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร แต่จะเร่งทำให้เสร็จเร็วที่สุด ส่วนราชการเขาจะใช้ของเอกชนหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับเขา ตอนนี้โครงการเราทำใหม่ เราไม่ขอพูดถึงโครงการเก่าที่บอร์ดดีอีชุดเก่าคิดไว้ เราขอพูดถึงปัจจุบัน โครงการต้องสร้างใหม่หรือไม่ก็ยังตอบไม่ได้ต้องขอดูข้อมูลก่อน”

อนึ่ง โครงการดาต้า เซ็นเตอร์แห่งชาติ เป็นแนวคิดของบอร์ดดีอีชั่วคราวสมัย นายพรชัย รุจิประภา เป็น รมว.ไอซีที โดยโครงการคืบหน้าจนกระทั่งเหลือเพียงการประชาพิจารณ์กำหนดมาตรฐานดาต้า เซ็นเตอร์ เพื่อให้เอกชนที่สนใจเข้ามาลงทุนเท่านั้น ซึ่งมีเอกชนทั้งชาวไทย และต่างชาติสนใจกว่า 20 ราย เพื่อสร้างดาต้า เซ็นเตอร์แห่งชาติกระจายไปยังสถานที่ต่างๆ กว่า 20 แห่ง และใช้เวลาในการสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 12 เดือน เพื่อให้สามารถเปิดใช้งานได้ภายใน 10 เดือน นับจากโครงการเสร็จ ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนในช่วง 1-2 ปีแรกประมาณ 30,000-40,000 ล้านบาท

เบื้องต้น เอกชนที่สนใจลงทุนต้องมีมาตรฐานดาต้า เซ็นเตอร์ในระดับ 3 (Tier 3) ขึ้นไป มีพื้นที่สำหรับให้บริการศูนย์ข้อมูลระหว่าง 2,000-3,000 ตารางเมตร และมีค่าประสิทธิผลการใช้ไฟฟ้าภายในศูนย์ข้อมูล (Power Usage Effectiveness : PUE) ไม่เกิน 1.9 เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพในการให้บริการ และเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมศูนย์ข้อมูลอีกด้วย โดยบริษัทที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับสิทธิประโยชน์ตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี รับประกันการใช้งานจากภาครัฐ 8 ปี อย่างต่อเนื่อง และการสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้า

Company Relate Link :
ICT


กำลังโหลดความคิดเห็น