ปปง.ลงทุน 120 ล้านบาท รื้อระบบไอทีใหม่ เลือกใช้เทคโนโลยีของแซสตรวจจับการฟอกเงิน หลังพบมีรายงานการฟอกเงินกว่า 1.5 ล้านธุรกรรม และสร้างความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจในช่วง 2-3 ปี กว่า 1 หมื่นล้านบาท ชี้ข้อดีเทคโนโลยีช่วยลดเวลาในการตรวจสอบจาก 1 อาทิตย์ เหลือเพียง 1 วัน ด้านแซสเผยมี 3 ธนาคารในเมืองไทยที่มีการนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้แล้ว
พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กล่าวว่า ปปง.ได้ทำการลงทุนระบบไอทีใหม่ทั้งหมด โดยใช้งบประมาณ 3 ปี ตั้งแต่ปี 2557-2559 เป็นจำนวนเงินรวม 120 ล้านบาท และได้เลือกใช้ซอฟต์แวร์ของแซส ซอฟท์แวร์ หรือ SAS ในการวิเคราะห์ธุรกรรมทางการเงิน หลังจากที่ผ่านมา พบว่ามีรายงานการฟอกเงินประมาณ 1.5 ล้านธุรกรรมต่อเดือน และในจำนวนนี้มีที่ต้องสงสัยประมาณ 500-1,000 รายการ
โดยเมื่อคิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เป็นจำนวนเงินสูงถึง 10,000 ล้านบาท ถือเป็นปัญหาที่มีความสำคัญที่กระทบต่อสังคม และประเทศชาติ และยังมีการกระทำความผิดในรูปแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ด้วยอำนาจหน้าที่ของ ปปง.จึงต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน รวมไปถึงทำการตรวจสอบวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องต่อการฟอกเงิน
“ปปง.ได้เลือกบริษัท แซส ซอฟท์แวร์ (ไทยแลนด์) จำกัด ในการนำเทคโนโลยีแซส (SAS) ที่มีความทันสมัยในการดักจับธุรกรรมทางการเงิน และสรุปธุรกรรมต้องสงสัยได้อย่างถูกต้อง มาสนับสนุนการทำงานของ ปปง.ด้านการวิเคราะห์ธุรกรรมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งคาดว่าเมื่อมีการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้อย่างต่อเนื่องแล้ว จะช่วยเพิ่มปริมาณข้อมูล และเพิ่มประสิทธิภาพในการวิเคราะห์ธุรกรรมได้”
พ.ต.อ.สีหนาท กล่าวว่า การนำระบบดังกล่าวมาใช้ยังช่วยลดเวลาในการตรวจสอบจากเดิมที่ต้องใช้เวลาประมาณ 1-2 อาทิตย์ ให้เหลือเพียง 1 ชั่วโมง หรือ 1 วันเท่านั้น นอกจากนี้ ยังไม่ต้องใช้บุคลากรจำนวนมากในการดำเนินการ
ด้าน นายทวีศักดิ์ แสงทอง กรรมการผู้จัดการบริษัท แซส ซอฟท์แวร์ (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า เทคโนโลยี SAS ได้รับการยอมรับ และรับรองจากหน่วยงานทางการเงินในประเทศต่างๆ เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกลาง นิวยอร์ก มีการใช้โซลูชันของ SAS ในการตรวจสอบกิจกรรมต่างๆ ของธนาคารกลาง 250 แห่ง โดยพบว่าสถิติการฟอกเงินในสหรัฐอเมริกามีมูลค่าประมาณ 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ส่วนเมืองไทยนั้นมีธนาคารที่ใช้เทคโนโลยีนี้แล้ว 3 ธนาคาร
Company Related Link :
ปปง.