Internet of Thing หรือ IoT กลายเป็นเทรนด์เทคโนโลยีที่กำลังพูดถึงอย่างกว้างขวาง และน่าจะเป็นอีกหนึ่งการขับเคลื่อนที่จะก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ให้ได้เห็นกันอีกมากในอนาคตอันใกล้นี้ เพราะการทำให้สิ่งของสามารถพูดคุยกันได้ สื่อสารระหว่างกันได้ จะช่วยสร้างประโยชน์ให้ทุกอุตสาหกรรมได้ไม่น้อย ซึ่งคาดว่าในปีหน้าจะได้เห็นภาพอย่างชัดเจนมากขึ้น
สำหรับในเมืองไทยการขยายเครือข่ายมือถือทั้ง 3G และ 4G ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสร้างการเติบโตให้กับ IoT ได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น เพราะเทคโนโลยีนี้จำเป็นต้องใช้เครือข่ายในการเชื่อมต่อระหว่างกัน นอกจากนี้เมื่อมองปัจจัยแวดล้อมแล้ว เมืองไทยเองมีหลายๆ ปัจจัยที่เกื้อหนุนไม่น้อยเลยทีเดียว
นายแพทย์ภาณุทัต เตชะเสน ประธานกรรมการ Thailand IoT Consortium กล่าวว่า ปัจจุบันฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์กับการสื่อสารมีการลดราคาลง ประกอบกับการมีเทคโนโลยีชิปรุ่นใหม่ที่เป็นเสมือนคอมพิวเตอร์ตัวหนึ่ง ส่งผลให้ IoT จะเข้ามามีบทบาทกับการใช้ชีวิตประจำวันได้ง่ายขึ้น อย่างเช่นในวงการแพทย์เดิมที่กระบวนการรักษามักจะเกิดขึ้นเมื่อเราป่วย
แต่ปัจจุบันเราสามารถเปลี่ยนจากการไปหาแพทย์เมื่อมีอาการ เป็นการรู้สุขภาพของตัวเราเองก่อนที่จะป่วย หรือ Self Service Medicine เช่นเดียวกับวงการเกษตรที่สามารถทำการพยากรณ์ล่วงหน้าได้ และสามารถบอกได้ว่าพื้นที่ไหนควรปลูกอะไร สภาพภูมิอากาศแบบนี้น่าจะทำการเกษตรแบบใด ที่เริ่มจะเห็นกันบ้างแล้ว
***IoT ความคิดไทยพร้อมแต่ยังไม่มีเวทีให้แสดงออก
การแข่งขันที่รุนแรงทำให้เกิดการตื่นตัวที่จะพัฒนาวงการไอที ในเมืองไทย IoT ที่เกิดขึ้นมีความต่างจากอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ เพราะเริ่มจากโอเพ่นซอสและกระบวนการคอมมูนิตี้ และน่าจะก่อให้เกิดการเมิร์ซของอุตสาหกรรมไอทีจนทำให้มีแนวคิดนวัตกรรมจากหลายๆ รูปแบบอันส่งผลกระทบกับการทำธุรกิจและอุตสาหกรรมไปในแนวทางใหม่ๆ ซึ่งทำให้เราต้องมีการปรับตัวเพื่อรับมือกับสิ่งเหล่านี้
'ปัจจุบันเงินทุนยังไปตกอยู่ที่สิงคโปร์และมาเลเซีย นักลงทุนยังสนใจที่จะไปที่ 2 ประเทศนั้นมากกว่าไทย ทั้งที่งานแสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่นั้นคนไทยเป็นผู้นำเสนอความก้าวหน้าทางด้าน IoT ทั้งสิ้น เพราะทางสิงคโปร์เชิญให้ไปแสดงความคิดและโชว์ผลงาน ในขณะที่ไทยเองยังมีเวทีทางด้านนี้น้อยมาก ทำให้นักลงทุนยังไม่ค่อยสนใจ แต่คาดว่าปีหน้านักลงทุนจะให้ความสนใจมากขึ้นถ้าเรามีการนำเสนอที่ดีพอ'
นายแพทย์ภาณุทัต กล่าวว่า IoT ในเมืองไทยเกิดแล้วแต่ยังอยู่ในวงจำกัดเฉพาะกลุ่มเท่านั้น คาดว่าในปีหน้า IoT ในไทยจะขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพราะ IoT เป็นเรื่องของซอฟต์แวร์และเอ็นจิเนียร์ ซึ่งวิศวะกรของเรามีความสามารถสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่ยังด้อยเรื่องการตลาด และยังขาดการสนับสนุนด้านการทำเซ็นเซอร์ที่ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญในเรื่องของ IoT ที่ขณะนี้มีหลายสถาบันการศึกษาที่มีความโดดเด่นในเรื่องนี้
'ดังนั้นรัฐควรจะสนับสนุนวิศวกรที่ทำเรื่องซอฟต์แวร์ฝังตัว เพราะขณะนี้ผู้ค้ารายใหญ่เริ่มมีบทบาทในการเข้ามาสนับสนุนอุตสาหกรรมนี้ในเบื้องต้นกันแล้ว'
ด้าน ศ.ดร.กาญจนา กาญจนสุต รองประธานมูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย ผู้อำนวยการ InterLab และรองประธานด้านรีเสิร์ซ สถาบัน AIT กล่าวว่า สำหรับ IoT ขณะนี้ทั่วโลกกำลังอยู่ในยุคขั้นตอนที่นักธุรกิจเริ่มเข้ามาลงทุนกันแล้ว ส่วนในเอเชีย จะเห็นได้อย่างชัดเจนในประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย ที่มีความก้าวหน้ากว่าไทยในเรื่องงานวิจัย ก็เริ่มมีนักธุรกิจให้ความสนใจเรื่องนี้แล้วเช่นกัน รวมไปถึงเวียดนามก็เริ่มมีการตื่นตัวมากขึ้น
ในส่วนของไทยที่ผ่านมายังไม่ได้สนับสนุนด้านการวิจัยที่ดีพอ อย่างเช่นการผลิตเซ็นเซอร์ที่ถือว่าเป็นตัวสำคัญและจำเป็นต้องสนับสนุน โดยต้องทำอย่างไรให้ไทยมีบทบาทในอุตสาหกรรมนี้ ถ้าเราสามารถโลคอลไลซ์ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับประเทศเราได้ ก็จะเป็นประโยชน์มาก
'การนำไปสู่วงการธุรกิจในขณะนี้ยังเป็นเรื่องยาก เพราะจำเป็นต้องมีแล็บสำหรับ IoT เพื่อทำการทดสอบความคิดทางเทคนิค นอกจากนี้ยังต้องดูว่าการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ในความเป็นจริงนั้น คนรับได้ไหม จะทำการดูแลอย่างไร นอกจากนี้การเก็บข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ยังต้องดูเนื้อหาทางกฎหมายด้วยว่าไปละเมิดทางด้านข้อมูลข่าวสารหรือไม่ รวมไปถึงโครงสร้างพื้นฐานทางอินเทอร์เน็ตในไทยที่ต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยังคงต้องคิดให้มาก'
ด้านอมฤต เจริญพันธ์ Co - CEO HUBBA ประเทศไทย กล่าวว่า IoT ทำให้ความฝันของสตาร์ทอัปรุ่นใหม่สามารถเป็นจริงได้ เพราะสามารถสร้างสรรค์รูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ให้หลากหลาย โดยที่ผ่านมาเรามีสตาร์ทอัปเพิ่มจำนวนขึ้นมาก และสามารถระดมทุนได้ประมาณ 80 กว่าล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเมื่อ 3 ปีก่อนที่มีเพียง 3 ราย และมีการระดมทุนเพียง 2.1 ล้านบาทเท่านั้น ดังนั้นเราต้องผลักดันให้งานวิจัยหรือความคิดองค์ความรู้ต่างๆ ออกมาให้มากที่สุด เพื่อให้สามารถต่อยอดได้อย่างรวดเร็วเพื่อรองรับกับการแข่งขันทางการตลาด
***เอกชนพร้อมต่อยอด แต่รัฐบาลไทยพร้อมหนุนหรือยัง
วัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิสโก้ ประเทศไทย และภูมิภาคอินโดจีน กล่าวว่า ซิสโก้มองไปมากกว่าการเป็นแค่ IoT แต่มองไปถึง Internet of Everything (IoE) ที่จะต้องไปถึงมากกว่าสิ่งของคุยกับสิ่งของ หรือสิ่งของคุยกับคน โดยคาดว่าในปีหน้าจะมีสิ่งของที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ประมาณ 10,000 ล้านชิ้น และภายในอีก 5 ปี จะเป็น 50,000 ล้านชิ้น ซึ่งการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจะก่อให้เกิดแพลตฟอร์มใหม่ๆ ขึ้นอีกในอนาคต
ปัจจุบัน Internet of Thing (IoT) กลายเป็นวาระแห่งชาติในหลายๆ ประเทศเพื่อจะก่อให้เกิดการก้าวสู่การเป็น Digital Country ซึ่งหากสามารถสร้างให้เกิดขึ้นในไทยได้ จะทำให้เราสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ Digital Thailand ได้อย่างแท้จริง ซึ่งถ้าภาครัฐเข้ามาช่วยเสริมในเรื่องนี้น่าจะทำให้เกิดการพัฒนาได้อย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด นอกจากนี้เรายังควรทำตัวให้เด่นในเรื่องนี้เพื่อเป็นการดึงให้นักลงทุนต่างๆ เข้ามาด้วย
สิ่งที่น่าจะเป็นประโยชน์กับไทย คือ ต้องทำการร่วมมือกันทุกภาคส่วน และจำเป็นต้องเลือกอุตสาหกรรมที่จะใช้เป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนก่อน ซึ่งน่าจะเป็นอุตสาหกรรม Healthcare ที่ตรงกับ Medical Hub ซึ่งเป็นโครงการของภาครัฐ นอกจากนี้ยังรวมถึงอุตสาหกรรมการผลิตที่จะสามารถสร้างให้เป็น Digital Factory และ Smart City ที่จะมีผลโดยตรงกับการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
รวมไปถึงยังสามารถนำมาใช้ในการคมนาคม เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการเชื่อมต่อกับเออีซี การคมนาคมที่ดีจะก่อให้เกิดการเชื่อมโยงที่ดีได้ในอนาคต โดยซิสโก้มีกองทุนที่ช่วยสนับสนุนด้านสตาร์ทอัปด้วย เพื่อสนับสนุนกลุ่มเหล่านี้ให้ดำเนินธุรกิจ โดย IoT ก็เป็นอีกหนึ่งในกลุ่มที่ซิสโก้พร้อมให้การสนับสนุนเช่นกัน
เมื่อพิจารณาจากสภาพแวดล้อมแล้วจะเห็นว่า IoT ในเมืองไทยเกิดได้ไม่ยากเลย เพราะไม่ว่าจะเป็นความคิดที่พร้อมจะนำเสนอ หน่วยงานต่างๆ ที่พร้อมจะให้การสนับสนุน รวมไปถึงทางด้านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเองก็พร้อมแล้วที่จะเป็นตัวกลางในการสื่อสารให้อุปกรณ์เหล่านี้สามารถพูดคุยกันได้ เพื่อก่อให้เกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่พร้อมจะนำมาใช้งาน เพื่อพัฒนาประเทศและสังคมต่อไป
แต่ในนาทีนี้ยังเหลือเพียงแรงส่งจากภาครัฐเท่านั้น ที่นับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะผลักดันให้อุตสาหกรรมหน้าใหม่นี้เติบโต และสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยในอนาคตต่อไป ดังนั้นเมื่อทุกอย่างพร้อมที่จะเดินหน้าแล้ว ภาครัฐล่ะจะรออะไร