ศูนย์ข่าวภูเก็ต - กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม จัดประชุมสภากระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 2 มุ่งหวังยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชน ให้เกิดเป็นมาตรฐานสากล สร้างความร่วมมือในการทำงานอย่างใกล้ชิดระหว่างองค์กร และหน่วยงานระดับภูมิภาค และอาเซียน
เมื่อเวลา 09.30 น. วันนี้ (5 พ.ค.) ที่โรงแรมกะตะบีช รีสอร์ท แอนด์ สปา อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสภากระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 2 (The Second Meeting of ASIA-PACIFIC Council for Juvenile Justice) ซึ่งกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จัดขึ้น โดยมี นายวีระยุทธ สุขเจริญ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน นายฟรานซิสโก้ เลอเกซ เซอเวนเตซ ประธานสถาบันกำกับดูแลกระบวนการยุติธรรมเด็กและเยาวชนระหว่างประเทศ นางมาร์การ์เร็ต อะคูลโล ผู้ประสานงานโครงการสำนักงานป้องกันนาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ นางเกรซ แอคคาโอลี่ ผู้เชี่ยวชาญด้านการคุ้มครองเด็กประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก องค์การยูนิเซฟ นายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ตลอดจนคณะผู้บริหารของหน่วยงานในสังกัดกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ผู้แทนผู้ปฏิบัติงานด้านเด็กและเยาวชนในประเทศภูมิภาคอาเซียน และผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในงานด้านกระบวนการยุติธรรมเด็กและเยาวชนจากนานาชาติกว่า 20 ประเทศ เข้าร่วม
สำหรับการประชุมในครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-8 พฤษภาคม 2558 เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงยุติธรรม โดยกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน สถาบันกำกับดูแลกระบวนการยุติธรรมเด็กและเยาวชนระหว่างประเทศ กองทุนเพื่อเด็กและเยาวชนแห่งสหประชาชาติ และสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และองค์ความรู้ระหว่างผู้เข้าร่วมประชุม เพื่อจัดทำแนวปฏิบัติที่มุ่งให้เกิดการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเด็กและเยาวชนในระดับภูมิภาค เพื่อให้สอดคล้องต่อบรรทัดฐาน และมาตรการสากล และเพื่อสนับสนุนความพยายามของประเทศสมาชิกอาเซียนในเรื่องการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิเด็กและเยาวชนที่เข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรม จัดการประชุมเป็น 2 รูปแบบ คือ การประชุมเชิงปฏิบัติการ ระหว่างวันที่ 5-7พฤษภาคม 2558 และประชุมเชิงวิชาการในวันที่ 8 พฤษภาคม 2558 เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการปฏิบัติที่เหมาะสม และมีประสิทธิภาพเกี่ยวต่อกระบวนการยุติธรรมเด็กและเยาวชนระหว่างประเทศ และยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมของไทย และประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน
นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า การที่ประเทศไทยจะรวมตัวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ในปี 2558 นี้ กระทรวงยุติธรรม ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบความร่วมมือประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ได้มีการดำเนินงานตามกรอบยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยมีเป้าประสงค์หลักเพื่อให้กระทรวงยุติธรรมมีขีดความสามารถ มีความพร้อมในการดำเนินงาน มีศักยภาพในการบริหารจัดการองค์กร และบุคลากร เพื่อให้ประชาชนทั้งในประเทศ และกลุ่มประเทศอาเซียนได้รับการบริการด้านกระบวนการยุติธรรมอย่างทั่วถึง และเป็นธรรม ตามหลักนิติธรรม ในนามของกระทรวงยุติธรรม นับว่าเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ประเทศไทยมีโอกาสต้อนรับผู้แทนจากนานาประเทศ และเป็นเจ้าภาพในการประชุมครั้งสำคัญ ภายใต้ปณิธานที่มุ่งมั่นในการยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนสำหรับประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อให้เกิดเป็นมาตรฐานสากล และสร้างความร่วมมือในการทำงานอย่างใกล้ชิดระหว่างองค์กร และหน่วยงานระดับภูมิภาค และระดับอาเซียน
“เนื่องจากกรมพินิจฯ กระทรวงยุติธรรม ของประเทศไทย เราได้จัดประชุมนานาชาติในลักษณะนี้มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อเดือนมิถุนายน 2555 โดยเชิญประเทศในภาคพื้นเอเชีย แปซิฟิกมาร่วมประชุม สิ่งที่เราทำกันก็คือ เรื่องเกี่ยวกับกรณีไม่ให้มีการกระทำความรุนแรงต่อเด็ก ซึ่งเป็นสิ่งที่สหประชาชาติกำลังขับเคลื่อน และในขณะนี้ประเทศไทยเราต้องทำหน้าที่ในฐานะที่เราเป็นผู้นำในอาเซียน และการจัดประชุมในครั้งนี้ ทางประเทศไทยเราได้เชิญประเทศในภาคพื้นเอเชีย แปซิฟิกมาทั้งหมด และเน้นที่ 10 ประเทศของภูมิภาคอาเซียน วัตถุประสงค์หลักคือ เราต้องการให้ประเทศในอาเซียนทั้งหมดได้มีมาตรฐานกลางในการดูแลเด็กและเยาวชนที่เข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรมให้มีมาตรฐานเดียวกัน หรือใกล้เคียงกัน เนื่องจากว่าเมื่อเราเปิดประชาคมอาเซียน ย่อมมีการเคลื่อนย้ายประชากร เพราะฉะนั้น อาจจะเป็นไปได้ที่มีเด็กของเราไปทำผิดในประเทศอื่น และเด็กประเทศอื่นในอาเซียนมากระทำความผิดในประเทศเรา ย่อมเป็นที่หวังว่าประเทศทั้งหลายในกลุ่มอาเซียน น่าจะมีมาตรฐานในการดูแลเด็กและเยาวชนให้ใกล้เคียง หรือเหมือนกัน ในขณะเดียวกัน ต้องทำงานร่วมกันเพื่อไม่ให้เด็กและเยาวชนเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรม ก็คงใช้สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา สถาบันชุมชน และสถาบันศาสนามาร่วมกัน ซึ่งในขณะนี้กรมพินิจฯ ได้ทำงานร่วมกับทางกระทรวงศึกษาธิการ โดยคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมไปถึงกระทรวงมหาดไทย คือ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อจะช่วยกันในการที่จะทำโครงการป้องกันเด็กที่อยู่ในสถาบันการศึกษา ในโรงเรียน ในชุมชน ไม่ให้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง หรือถ้าเขาอยู่ในกลุ่มเสี่ยงเราก็มีองค์ความรู้ในส่วนที่เป็นเจ้าหน้าที่ของกรมพินิจฯ ไปให้ความรู้ไม่ให้เด็กเหล่านี้ได้ก้าวพลาด และเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรม”
นายชาญเชาวน์ กล่าวอีกว่า สำหรับรูปแบบการกระทำผิดของเด็กและเยาวชน จากฐานความผิดในปัจจุบัน คงสะท้อนภาพสังคม ซึ่งปัจจุบันสังคมเรามีปัญหาเรื่องยาเสพติดเยอะ เพราะฉะนั้นเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดเข้ามา ส่วนใหญ่ก็จะมีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด แต่อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ หลังจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้พยายามให้สำนักงาน ป.ป.ส.ซึ่งอยู่ในกระทรวงยุติธรรม ขับเคลื่อนงานในเชิงแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการนำเข้ายาเสพติดจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับสารตั้งต้น ก็ได้ทำความร่วมมือใน 4 ประเทศที่อยู่รอบๆ ประเทศไทย ก็จะช่วยกันไม่ให้มีการผลิตยาเสพติด และนำยาเสพติดเข้าสู่ประเทศไทย ในขณะเดียวกัน เราก็ดำเนินการในเชิงของมาตรการเชิงรุกในการป้องกันไม่ให้เด็ก เยาวชน ประชาชนคนไทยเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด
“คิดว่าจากความร่วมมือของภาคพื้นเอเชีย แปซิฟิก จะช่วยลดปัญหาตรงนี้ได้ เพราะอย่างที่เรียนแล้วว่า ประเทศรอบบ้านเราคือ แหล่งผลิต และเป็นจุดนำเข้ายาเสพติด ถ้าได้สะท้อนปัญหาเรื่องเกี่ยวกับยาเสพติด และขอความร่วมมือกัน ก็คิดว่าน่าจะดีขึ้น ขณะเดียวกัน มาตรฐานในการดูแลเด็ก เยาวชน ซึ่งเราคาดหวังว่าอยากจะให้เขาได้ดูแลเด็กและเยาวชนไทยเรา กรณีที่ไปกระทำความผิดในประเทศเขา เขาก็น่าจะดูแลได้ดีเท่ากับที่เราดูแลเด็กและเยาวชนจากประเทศของเขา โดยเฉพาะอายุขั้นต่ำ ตอนนี้กฎหมายไทย โดยประมวลกฎหมายอาญา กำหนดไว้ว่า ผู้ที่กระทำความผิดแล้วต้องถูกดำเนินคดี อายุต้องเกิน 14 ปีขึ้นไป แต่ถ้าต่ำกว่าก็จะไม่เป็นคดี แต่บางประเทศกำหนดแค่ 7 ปี เพราะฉะนั้นถ้าเขามาทำความผิดในประเทศไทย เราก็ไม่เอาผิดเอาโทษ แต่ถ้าเราไปทำความผิดในประเทศเขา เขาก็เอาผิดเอาโทษ เพราะฉะนั้นเราต้องมาพูดคุยกันในเรื่องของมาตรฐานกลางที่จะถือปฏิบัติร่วมกันต่อเด็กและเยาวชน อย่างเช่น ของไทยเราในเรื่องของกฎระเบียบ เราจะไม่มีการทำร้ายร่างกายเด็ก เยาวชน เป็นต้น ทั้งนี้ เด็กที่มากระทำผิดบ้านเราส่วนมากมากับพ่อแม่ หลบหนีเข้าเมืองมา ของเรามีไปทำความผิดบ้านเขา ในลักษณะเดียวกันคือ ติดตามพ่อไม่ไปทำงานแล้วไปกระทำความผิดแต่ไม่เยอะ แต่ไม่มีการกระทำความผิดที่ไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เพราะของเราไม่ได้เป็นลักษณะผู้ค้ายาเสพติด หรือนำเข้าระหว่างประเทศ
โดยเฉลี่ยแล้วเด็ก เยาวชนที่กระทำความผิดแล้วเข้าไปสู่กระบวนการยุติธรรมของเรา ปัจจุบันจะอยู่ในเกณฑ์ 15 ปีขึ้นไป แล้วก็ในส่วนที่กรมพินิจฯ ดูแลคือ ไม่เกิน 18 ปี เพราะฉะนั้นจะต้องไปแก้ปัญหาเรื่องครอบครัว สร้างภูมิคุ้มกันให้เด็ก และในขณะเดียวกัน สถาบันการศึกษาต้องให้โอกาสเด็ก ให้เขาสามารถอยู่ในระบบการศึกษาได้ต่อไป เพื่อไม่ให้เด็กเสียอนาคต ก็ต้องช่วยกันดูแล นายชาญเชาวน์ กล่าวในที่สุด
ขณะที่ นายวีระยุทธ สุขเจริญ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กล่าวด้วยว่า กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม มีนโยบายอย่างต่อเนื่องในการพัฒนา และยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ให้มีมาตรฐานสากลตามหลักการคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชนและมีมาตรฐานทัดเทียมกับนานาประเทศ โดยที่ผ่านมา ได้จัดการประชุมสภากระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนระดับภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 1 ในปี 2555 ต่อมา ได้จัดการประชุมคณะกรรมการจัดการความยุติธรรมเด็กและเยาวชนภูมิภาคอาเซียน ครั้งที่ 1 ในปี 2557 ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ เป็นความต่อเนื่องของการพัฒนากระบวนการยุติธรรมเด็กและเยาวชน ในแนวทางการปฏิบัติที่เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเป็นการยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมของไทย และประเทศต่างๆ ตลอดจนสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการดูแลเด็กและเยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศในระดับนานาชาติ และประเทศในเขตภูมิภาคอาเซียนต่อไป