ทีเอชนิค จับมือพันธมิตรทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ร่วมเปิดตัวศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ต BKNIX เพื่อช่วยลดต้นทุนในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแก่ไอเอสพี พร้อมเชิญชวนผู้ให้บริการเข้าร่วม
น.ส.กาญจนา กาญจนสุต รองประธานมูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย (ทีเอชนิค) กล่าวว่า แนวคิดในการให้บริการศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ต Bangkok Neutral Internet Exchange Point (BKNIX) เกิดขึ้นจากการพูดคุยกันเมื่อปี 2013 ที่ผ่านมา โดยได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรในแง่ของอุปกรณ์ และเงินทุนที่จะจัดสร้างเป็นศูนย์กลางโดยองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร
“เนื่องจากเงินลงทุนส่วนใหญ่มาจากการบริจาค ทำให้ในปีแรก BKNIX จะไม่คิดค่าบริการจาก ISP เพื่อให้นำเงินส่วนดังกล่าวไปลงทุนในการเชื่อมโยงโครงข่ายเข้าหากัน แต่หลังจากนั้นจะมีค่าบริการเพื่อเก็บเป็นเงินทุนสำรองไว้ใช้จ่ายต่อไป”
เบื้องต้น มี ISP ที่เข้ามาใช้บริการแล้ว 2 ราย คือ UNINET จากสำนักงานบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา ที่เชื่อมต่อกับสถาบันการศึกษามากกว่า 1 หมื่นแห่งทั่วประเทศ และ BB Connect (บริษัท บีบี คอนเน็ค จำกัด ในเครือเบญจจินดา) ที่เป็นหนึ่งในบริษัทย่อยของ UIH ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตสำหรับองค์กร และกำลังอยู่ในระหว่างการเชื่อมโยงอีก 4 ราย
ทั้งนี้ ทางทีเอชนิคได้มีการจัดตั้งบริษัท บีเคนิกซ์ จำกัด ขึ้นมาเพื่อดูแลทั้งด้านปฏิบัติการทางเทคนิค รวมถึงการเข้าไปขอใบอนุญาตต่อทาง กสทช. โดยจะกลายเป็นผู้ที่เชื่อมโยง ISP ทั้งหลายให้ติดต่อเข้าหากันเพื่อลดความซับซ้อนในการเชื่อมต่อ และสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบโครงสร้างพื้นฐานทางอินเทอร์เน็ตให้ทัดเทียมกับประเทศชั้นนำ
สำหรับประโยชน์หลักๆ ของ BXNIX คือ ช่วยลดแบนด์วิดท์ที่ใช้การเชื่อมผ่านโครงข่าย IIG (International Internet Gateway) เพราะบางทีเป็นการเชื่อมต่อเข้าหาปลายทางในประเทศ แต่ไม่ได้เชื่อมโยงเข้าหากัน ก็ทำให้ต้องวิ่งผ่าน IIG ก่อนย้อนกลับเข้ามาในประเทศ ดังนั้น ถ้าผู้ให้บริการทั้งหลายเชื่อมต่อเข้ากับ BKNIX ก็จะช่วยลดแบนด์วิดท์ที่ควรจะวิ่งอยู่ในประเทศ
นายโคทม อารียา ประธานมูลนิธิทีเอชนิค กล่าวเสริมว่า ศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ตจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าขาดพันธมิตร ไม่ว่าจะเป็นองค์กรประชาคมอินเทอร์เน็ตสากล (Internet Society) อัลคาเทล-ลูเซ่น กูเกิล ซิสโก้ ไอไอเจ (Internet Initiative Japan) รวมถึงกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสื่อสาร (ไอซีที) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ศูนย์เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และทีซีซี เทคโนโลยี
“เชื่อว่าในช่วงแรกเจ้าใหญ่ๆ จะยังไม่ค่อยสนใจเข้าร่วม แต่เชื่อว่าเมื่อเห็นถึงการใช้งานที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายก็จะเข้ามาใช้งาน และก่อให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างเอกชน เพื่อผลักดันให้ประเทศเติบโตภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจดิจิตอล”
นายเซบาสเตียน โลฮอง ประธานของภูมิภาคเอเชียตะวันออก ส่วนตะวันตก และกรรมการผู้จัดการ บริษัท อัลคาเทล-ลูเซ่น (ประเทศไทย) จำกัด มองว่า จากเทรนด์การใช้งานอุปกรณ์พกพาที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ให้บริการต้องมีการลงทุนเพื่อให้การเชื่อมต่อได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น จึงเห็นว่าการลงทุนดังกล่าวจะสามารถช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศผ่านทางเทคโนโลยีได้
Company Relate Link :
BKNIX
CyberBiz Social