เรดดี้แพลนเน็ตเปิดโมบายแอปพลิชันใหม่ “Shappy” ตอบสนองการใช้งานสมาร์ตโฟนที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง มุ่งเจาะกลุ่มธุรกิจบริการ ค้าปลีก และการศึกษา ที่ต้องการดูแลและรักษาลูกค้าที่มีอยู่ให้ดีที่สุด ตั้งเป้ามีผู้เข้ามาใช้งานไว้ที่ 10,000 ธุรกิจในปีหน้า เผยใช้งานง่าย และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับทุกธุรกิจ พร้อมเปิด 2 รูปแบบทั้งฟรี และคิดค่าใช้จ่ายที่จะมีฟังก์ชันเพิ่มอีก 10 ฟังก์ชัน ที่จะช่วยสร้างแบรนด์ของตัวเองให้โดดเด่น
นายทรงยศ คันธมานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เรดดี้แพลนเน็ต จำกัด กล่าวว่า เรดดี้แพลนเน็ตได้พัฒนาโมบายแอปพลิเคชันในชื่อ “Shappy” เพื่อให้บริการกับทุกธุรกิจ ตอบสนองกับการใช้งานแอปพลิเคชันผ่านมือถือเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในปัจจุบัน เน้นความสะดวก และใช้งานได้อย่างง่ายดาย และถือได้ว่าเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้ธุรกิจสามารถประสบความสำเร็จได้ในปัจจุบัน มุ่งเจาะกลุ่มลูกค้าในธุรกิจบริการ ค้าปลีก และการศึกษา ตั้งเป้ามีผู้เข้ามาใช้งานไว้ที่ 10,000 ธุรกิจในปีหน้า
“Shappy” โดยเปิดให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงการใช้งานได้ 2 รูปแบบ คือ แบบฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย Channeled App และแบบ Branded App สำหรับผู้ประกอบการสามารถใช้สื่อสารทางการตลาดแก่กลุ่มลูกค้า ด้วยฟังก์ชันที่ตอบสนองความต้องการของธุรกิจกว่า 10 ฟังก์ชัน
ปัจจุบันค่าใช้จ่ายในการพัฒนาแอปพลิเคชันเองค่อนข้างสูง และมีความยากกว่าการทำเว็บไซต์ทั่วไป เนื่องจากมีหลายแพลตฟอร์ม และมีราคาพัฒนาที่สูงถึง 1-6 ล้านบาท ประกอบกับต้องมีการดูแลรักษา และอัปเกรดอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากมือถือมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เรดดี้แพลนเน็ตจึงได้พัฒนา “Shappy” ขึ้นเพื่อนำให้ธุรกิจสามารถเข้ามาใช้ได้ฟรี หรือเสียค่าใช้จ่ายไม่มากนัก แต่สามารถตอบสนองความต้องการของธุรกิจได้ครบวงจรมากขึ้น
“เราเคยพัฒนาเว็บไซต์พร้อมใช้เป็นบริการสำเร็จรูปไปแล้ว ตอนนี้จึงมาเปิดแอปพลิเคชันพร้อมใช้เพื่อให้เจ้าของธุรกิจคุยกับลูกค้า หรือทำซีอาร์เอ็ม สามารถเปิดใช้ได้ภายใน 5 นาที ฟังก์ชันเหมาะกับธุรกิจที่มีฐานลูกค้าประจำ ต้องการให้ลูกค้าได้รับรู้ข่าวสารของธุรกิจได้ตลอดเวลา สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าผ่านช่องทางสมาร์ตโฟน ตอบโจทย์การใช้งานมือถือของคนไทยที่เพิ่มขึ้น และเริ่มกลายเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจออนไลน์ในปัจจุบัน ประกอบกับ 4G ที่เมืองไทยมีอยู่จะทำให้การใช้งานสมาร์ตโฟนมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
นายทรงยศ กล่าวว่า ข้อแตกต่างระหว่างโมบายเว็บกับโมบายแอปพลิเคชัน คือ โมบายแอปพลิเคชันจะเหมาะสมกับธุรกิจที่มีลูกค้าประจำอยู่แล้ว สามารถบริหารจัดการลูกค้าเก่าได้ด้วยระบบการแจ้งเตือน รวมไปถึงมีความสะดวกในการใช้งานมากกว่า และสามารถใช้ประโยชน์จากฟังก์ชันของมือถือได้มาก ในขณะที่โมบายเว็บจะมีจุดเด่นตรงที่สามารถเข้าถึงลูกค้าใหม่ได้มากกว่า และรองรับกับการรองรับมือถือรุ่นต่างๆ ได้มากกว่า ซึ่งหากนำมาใช้งานร่วมกันแล้วจะสามารถสร้างประสิทธิภาพให้กับผู้ประกอบการได้มาก
ทั้งนี้ ข้อมูลจากสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) ระบุว่า ประเทศไทยมีผู้ใช้งานสมาร์ตโฟนจำนวน 48.2 ในขณะที่ผลสำรวจของ ETDA ระบุว่าคนไทยใช้สมาร์ตโฟนในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสูงถึง 82.1% หรือ 5.7 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนข้อมูลจาก comScore 2015 U.S Mobile App Report ระบุว่า ปัจจุบันการใช้สื่อดิจิตอลลดลงเหลือเพียง 38% ในขณะนี้ที่โมบายแอปพลิเคชันเพิ่มขึ้นเป็น 54% และโมบายเว็บ 8% โดยโมบายแอปเติบโตขึ้น 90% ใน 2 ปี