xs
xsm
sm
md
lg

ธุรกิจอีคอมเมิร์ซแค่ “มาร์เก็ตติง” คงไม่พอ(Cyber Weekend)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การเติบโตของอินเทอร์เน็ตและการใช้งานสมาร์ทโฟนของคนไทย ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตตามไปด้วย สอดคล้องกับผลการศึกษาของ ดันน์ฮัมบี้ บริษัทที่ทำการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคที่พบว่า คนไทยกำลังให้ความสนใจและยอมรับช่องทางออนไลน์มากขึ้น ผู้บริโภคกำลังเปลี่ยนแปลงวิถีการซื้อสินค้า มองหาทางเลือกที่มาพร้อมกับการช่องทางการซื้อสินค้าที่หลากหลาย ทำให้ร้านค้าออนไลน์กลายเป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยมมากขึ้น

ในขณะที่ตลาดออนไลนนี้ปัจจุบันก็มีผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซหลายราย ซึ่งข้อมูลของสมาคมโฆษณาดิจิตอล (ประเทศไทย) ระบุว่า ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2014 พบว่ามีผู้ประกอบการออนไลน์ในไทย แบ่งเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ 5,000 ราย เอสเอ็มอี 200,000 ราย และเป็นรายย่อยเล็กๆ ประเภทนักศึกษา คนทำงาน หรือเป็นพาร์ทไทม์อีกกว่า 800,000 ราย

ทรงยศ คันธมานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เรดดี้แพลนเน็ต จำกัด บริษัทผู้ดำเนินธุรกิจด้านออนไลน์ ปัจจุบันให้บริการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซออนไลน์แก่ลูกค้ากว่า 16,000 ราย มีอัตราการเติบโตของธุรกิจอยู่ที่ 50% ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ให้ความเห็นว่า การเติบโตของอีคอมเมิร์ซดังกล่าวเนื่องจากการมีการใช้งานดิจิตอลเพิ่มขึ้น เนื่องจากเครือข่ายมีความทั่วถึง ในขณะที่อุปกรณ์ที่รองรับมีราคาถูกลง และส่งผลให้เกิดนักธุรกิจรุ่นใหม่บนโลกออนไลน์มากขึ้น จึงมีสินค้ามากขึ้น ทำให้เกิดความน่าสนใจสำหรับลูกค้าที่จะเข้าไปซื้อเพิ่มขึ้นด้วย

สำหรับแนวโน้มของอีคอมเมิร์ซในปีนี้นั้น มีสิ่งที่น่าสนใจอยู่ 4 เรื่อง ประกอบด้วย 1.การที่ผู้ใช้งานจะใช้มือถือเพียงอย่างเดียวโดยไม่ใช้คอมพิวเตอร์จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งกลุ่มนี้เองจะเป็นกลุ่มที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตมากที่สุด 2.การนำข้อมูลของลูกค้าที่เข้ามาและตอบกลุ่มลูกค้าที่สนใจผลิตภัณฑ์มาประมวลผล เพื่อทำให้การตลาดผ่านดิจิตอลต้องเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายแบบแม่นยำ 3.ช่องทางในการชำระเงินออนไลน์ จะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญและมีผลต่อการตัดสินใจซื้อ และ 4.การทำโลจิสติกส์ที่ดีและมีการสต็อกสินค้าที่เหมาะสม จะช่วยให้สามารถส่งของให้กับลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและสร้างโอกาสได้มาก

*** มาร์เก็ตติง ด้านเดียวคงไม่พอ

แต่การเติบโตของอีคอมเมิร์ซดังกล่าว การใช้เพียงมาร์เก็ตติงเพื่อลดแลกแจกแถม หรือมีโปรโมชันด้านราคาที่โดนใจเพียงอย่างเดียวอาจจะยังไม่พอ แต่ยังต้องคำนึงถึงเรื่องอื่นๆ ที่ต้องให้ความสำคัญไม่แพ้กันด้วย โดยเฉพาะในธุรกิจอีคอมเมิร์ซขนาดใหญ่ที่มีคู่แข่งค่อนข้างสูงทั้งในและต่างประเทศ เช่นเดียวกับที่ ยักษ์ข้ามชาติอย่างลาซาด้า “LAZADA Group” ที่นำเสนอกลยุทธ์ที่หลากหลายและรอบด้าน เพื่อให้การรุกตลาดในแต่ละประเทศที่เข้าไปทำธุรกิจประสบความสำเร็จ

ริคคาร์โด บาซิล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาซาด้า ประเทศไทย กล่าวว่า ลาซาด้าให้ความสำคัญกับการขนส่งที่มีประสิทธิภาพเป็นลำดับต้นๆ เพราะถือว่าเป็นการสร้างความเชื่อมั่น และก่อให้เกิดความประทับใจให้กับลูกค้า ในเวลาที่ได้รับสินค้าอย่างถูกต้องและรวดเร็ว รวมไปถึงยังทำให้การซื้อขายออนไลน์มีความน่าสนใจมากขึ้น เพราะมีให้เลือกอย่างหลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งทางไปรษณีย์ การไปรับของที่ร้านสะดวกซื้อ หรือแม้แต่การจ้างแมซเซนเจอร์มาส่งให้ถึงมือลูกค้าได้ในทุกที่ทุกเวลา ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้นที่ลาซาด้าใช้กลยุทธ์นี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะในการเจาะตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลาซาด้าใส่ใจเรื่องการขนส่งที่จะช่วยให้บริการออนไลน์สามารถส่งสินค้าเข้าถึงลูกค้าจำนวน 550 ล้านคนใน 6 ประเทศได้อย่างง่ายดาย ด้วยช่องทางการค้าปลีกเพียงช่องทางเดียว

*** เรียนรู้ภูมิศาสตร์ของแต่ละประเทศสร้างการขนส่งที่ครอบคลุม

ปัญหาอย่างหนึ่งของการขนส่งสินค้าในอาเซียนนั้น ลาซาด้าต้องทำการคุ้นเคยกับการจัดส่งสินค้าให้ถึงจุดหมาย และยังต้องการการจัดการและกระบวนการที่ดี เพื่อให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซสามารถเดินต่อไปได้โดยไม่สะดุด ซึ่งการเข้าไปทำธุรกิจในประเทศ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซียและไทยนั้น ย่อมมีความแตกต่างกันทางด้านภูมิศาสตร์ และโลจิสติกส์

สำหรับประเทศเล็กอย่างไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ เรื่องการขนส่งคงไม่น่าหนักใจเท่ากับประเทศอย่างฟิลิปปินส์ซึ่งมีเกาะมากมายกว่า 7,000 เกาะ หรือ 17,000 เกาะของอินโดนีเซีย ก็กลายเป็นเรื่องที่ทำให้การจัดส่งสินค้ากลายเป็นเรื่องที่ต้องจัดการให้ดี

ด้วยเหตุนี้เองลาซาด้าจึงได้ใช้งบประมาณในการขนส่งสินค้าเพื่อพัฒนาศักยภาพในการขนส่งสินค้า โดยปัจจุบันลาซาด้ามีโกดังสินค้า 8 แห่ง ทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีบริการจัดส่งสินค้าแบบเร่งด่วน ครอบคลุมจุดบริการหลัก 50 จุด ใน 80 เมือง โดยลาซาด้าได้ให้บริการด้านการจัดการสินค้าที่หลากหลาย ครอบคลุมทั้งการจัดเก็บสินค้าคงคลัง การเปลี่ยนถ่ายสินค้า การเป็นศูนย์กลางสำหรับร้านค้า และการจัดเติมสินค้า นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับบริษัทจัดส่งสินค้าแบบเร่งด่วนและบริษัทขนส่งกว่า 60 รายทั่วภูมิภาค

ไม่ใช่แค่เรื่องขนส่งเท่านั้นที่ลาซาด้าต้องทำการบ้านเป็นพิเศษ เพราะทางด้านการเงินนั้น ลาซาด้าก็ได้เตรียมวิธีที่หลากหลายไว้เช่นกัน เนื่องจากประเทศอย่างเวียดนามและฟิลิปปินส์นั้น ประชากรกว่า 70% ยังไม่มีบัญชีธนาคาร การใช้บัตรเครดิตจึงยังเป็นเรื่องที่ห่างไกล นอกจากนี้ในบางประเทศหรือแม้แต่ประเทศไทยเอง การชำระเงินออนไลน์ยังไม่ได้รับความน่าเชื่อถือเท่าที่ควร เพราะยังไม่มั่นใจหาต้องมีการเปิดเผยรายละเอียดของบัญชีธนาคาร

ดังนั้นลาซาด้าจึงมีบริการชำระเงินสดเมื่อส่งสินค้า เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เหมาะสำหรับลูกค้าในกลุ่มที่ไม่มีบัตรเครดิตและลูกค้าใหม่ รวมไปถึงยังมีระบบการชำระเงินที่ได้รับความนิยมในแต่ละประเทศอีกด้วย ดังนั้นด้านการชำระเงินอาจจะมีแพลตฟอร์มใหม่ๆ ออกมาอีกเพื่อรองรับในตลาดต่างๆ
อีกปัจจัยหนึ่งในการรุกตลาดอีคอมเมิร์ซคือ การที่ลาซาด้าต้องศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภค และภาษาที่หลากหลายจาก 6 ประเทศ ที่มีความแตกต่างกัน ซึ่ง 85% ของพนักงานทั้งหมดกว่า 4,000 คนของลาซาด้า เป็นคนท้องถิ่น ซึ่งการใช้คนในพื้นที่นี่เองที่จะทำให้ลาซาด้าสามารถเข้าถึงและเข้าใจลูกค้าในแต่ละประเทศได้เป็นอย่างดี

ลาซาด้า เป็นเพียงอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ข้ามชาติที่เข้ามาทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย นอกเหนือไปจากรายเดิมๆ ที่คุ้นเคยกันอยู่ แต่การเข้ามาครั้งนี้มีการเตรียมตัวและความพร้อมในหลายๆ ด้านเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในส่วนของการเรียนรู้พฤติกรรมและการใช้ชีวิตอย่างใกล้ชิดของลูกค้าในแต่ละประเทศ และการขนส่งที่รวดเร็ว

ทั้งสองส่วนนี้อาจจะกลายเป็นจุดแข็งที่อาจทำให้บริษัทอีคอมเมิร์ซท้องถิ่นต้องสูญเสียตำแหน่งทางการตลาดที่ยืนอยู่ เพียงเพราะมองข้ามสิ่งเล็กๆ ที่คิดว่ารู้ดีอยู่แล้ว และมัวแต่ไปสนใจกับการทำมาร์เก็ตติงให้ดูดใจแต่เพียงอย่างเดียว

Instagram


กำลังโหลดความคิดเห็น