xs
xsm
sm
md
lg

บก.ปอศ.ชี้ใช้โซเชียลมีเดียตามจับซอฟต์แวร์เถื่อนได้ผลเกินคาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พ.ต.อ.ดร.กิตติศักดิ์ ปลาทอง รองผู้บังคับการ กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.)
บก.ปอศ. เผยมีความพอใจในการใช้โซเชียลมีเดียในการให้ความรู้ และดำเนินการต่อบริษัทที่ละเมิดซอฟต์แวร์ ชี้นอกจากจะช่วยขยายการสร้างความเข้าใจแล้ว ยังช่วยให้ประชาชนชี้เบาะแสได้ง่ายขึ้น ส่วน 9 เดือนแรกของปีนี้มีคดีการละเมิดแล้ว 166 คดี หรือเพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เผยการจับกุมได้เพิ่มมากขึ้นไม่ได้หมายถึงอาชญากรเพิ่มขึ้น แต่เป็นเพราะ บก.ปอศ.มีการบังคับที่เข้มแข็งมากขึ้น

พ.ต.อ.ดร.กิตติศักดิ์ ปลาทอง รองผู้บังคับการ กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กล่าวว่า การดำเนินการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์อย่างจริงจังในปี 2558 ในช่วง 9 เดือนแรกที่ผ่านมา นับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยนโยบาย EDC Police Software Crackdown 2.0 ซึ่งใช้เทคโนโลยีดิจิตอลเป็นเครื่องมือในการดำเนินการสามารถช่วยให้ บก.ปอศ. เดินหน้าในการให้ความรู้ และดำเนินการต่อบริษัทที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยในเดือนมกราคม ถึงกันยายน 2558 มีจำนวนคดีเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์แล้ว 166 คดี หรือเพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว มีมูลค่าซอฟต์แวร์ที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์คิดเป็นเงิน 358 ล้านบาท โดยบริษัทที่ทำการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ส่วนใหญ่มีรายได้เฉลี่ย 255 ล้านบาทต่อปี ในขณะที่มูลค่าเฉลี่ยของซอฟต์แวร์ที่ถูกละเมิดต่อบริษัทอยู่ที่ประมาณ 2.15 ล้านบาทเท่านั้น

“เราใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือในการรณรงค์ให้องค์กรที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ผู้บริหารบริษัทต่างๆ ตระหนักรู้เกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ และเคารพสิทธิต่างๆ และก่อให้เกิดธรรมมาภิบาล โดยที่ผ่านมา การใช้ช่องทางนี้ถือว่านอกจากจะช่วยในเรื่องการสื่อสาร และให้ความรู้แก่ประชาชน และองค์กรธุรกิจเรื่องความเสี่ยงของซอฟต์แวร์ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิแล้ว ยังเป็นช่องทางให้ประชาชนสามารถแจ้งเบาะแสการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ภายในองค์กรธุรกิจผ่านช่องทางนี้ได้อีกด้วย”

พ.ต.อ.ดร.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า ตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา พบว่าองค์กรธุรกิจส่วนใหญ่ที่ละเมิดอยู่ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต โดยมีสัดส่วนสูงถึง 34% รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมก่อสร้างและการออกแบบ 32% ส่วนภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น ตัวแทนจำหน่ายและบริษัทค้าส่ง 7% วิศวกรรม 7% อสังหาริมทรัพย์ 4% ไอทีและโทรคมนาคม 2% และอื่นๆ 14% ซึ่งสัดส่วนของโรงงานอุตสาหกรรมที่ละเมิดมากขึ้นนั้นเพราะมีการเติบโตของกลุ่มนี้ค่อนข้างมาก

ทั้งนี้ การปราบปรามที่ได้มากขึ้นไม่ได้หมายความว่ามีผู้กระทำความผิดมาก แต่หมายถึง บก.ปอศ.มีการบังคับใช้ที่เข้มแข็งมากขึ้น เพิ่มการแจ้งเบาะแสในหลากหลายช่องทางทั้งสายด่วน เว็บไซต์ และสื่อโซเชียลมีเดีย แต่ทั้งนี้แม้การดำเนินการต่อผู้กระทำผลิตจะเพิ่มขึ้น แต่พบว่าแนวโน้มของการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยมีอัตราที่ลดลง โดยผลการศึกษาจากไอดีซีพบว่า อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ของไทยเหลือเพียง 71% ในปี 2556 เมื่อเทียบกับปี 2554 ที่มีอัตราการละเมิดอยู่ที่ 72%

“การละเมิดลิขสิทธิ์ในสังคมไทยลดลงไม่ใช่แค่การปราบปรามเท่านั้น แต่หมายถึงเรามีการรณรงค์มากขึ้น ชี้ให้เห็นความเสียหายที่เกิดขึ้น สำหรับปัญหาการเข้าจับกุมนั้น เนื่องจากเรามีขั้นตอนที่ค่อนข้างชัดเจน และมีการนำเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ทางด้านไอทีเข้าไปทำแบบเป็นขั้นเป็นตอนจึงไม่มีปัญหา แต่ที่ผ่านมาพบว่าปัญหาหลักๆ มาจากผู้ประกอบการบางรายในระดับผู้บริหารระดับสูงไม่ทราบเรื่องการละเมิด เนื่องจากอยู่กับฝ่ายไอที ดังนั้น เราจึงต้องเข้าไปชี้แจงถึงผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นให้เข้าใจ มากกว่าการที่จะบุกเข้าไปจับกุม”

Company Related Link :
บก.ปอศ.

Instagram


กำลังโหลดความคิดเห็น