xs
xsm
sm
md
lg

ปอศ.แจงผลปราบปรามซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 20

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

 พ.ต.อ.กิตติศักดิ์ ปลาทอง รองผบก.ปอศ. พร้อมด้วยพ.ต.อ.อภิวิชญ์ ภัทรกุล ผกก.3 บก.ปอศ และ พ.ต.อ.ธีระ ทองระยับ ผกก.4 บก.ปอศ.
ปอศ. แถลงผลการปราบปรามซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ตั้งแต่ต้นปี 58 ถึงปัจจุบัน ดำเนินคดีกับองค์กรธุรกิจกว่า 166 แห่ง มูลค่าความเสียหาย 358 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 20 ส่วนใหญ่เป็นการละเมิดในภาคอุตสาหกรรม

วันนี้ (29 ก.ย). ที่โรงแรม เดอะ เวสทิน แกรนด์ สุขุมวิท กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) นำโดย พ.ต.อ.กิตติศักดิ์ ปลาทอง รอง ผบก.ปอศ. พร้อมด้วย พ.ต.อ.อภิวิชญ์ ภัทรกุล ผกก.3 บก.ปอศ. และ พ.ต.อ.ธีระ ทองระยับ ผกก.4 บก.ปอศ. ร่วมกันแถลงผลการดำเนินงานและนโยบายการปราบปรามซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ปี 2558 - 2559

พ.ต.อ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า ข้อมูลจาก บก.ปอศ. ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึง กันยายน 2558 พบว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินคดีกับองค์กรธุรกิจกว่า 166 แห่ง มูลค่าซอฟต์แวร์ที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์สูงราว 358 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่าองค์กรที่ถูกดำเนินคดีส่วนใหญ่ อยู่ในภาคอุตสาหกรรมโรงงานอุตสาหกรรม ถึงร้อยละ 34 อุตสาหกรรมก่อสร้างและออกแบบร้อยละ 32 สาเหตุหลักมาจากประเทศไทยมีนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีการละเมิดค่อนข้างสูง และผู้ถือหุ้นที่ถูกดำเนินคดีส่วนใหญ่ชาวไทย ร้อยละ 83.15 เกาหลีใต้ ร้อยละ 1.20 จีน ร้อยละ 0.60 และบริษัทร่วมทุนร้อยละ 15.05 โดยซอฟต์แวร์ที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์บ่อยที่สุด 4 อันดับแรก คือ Microsoft, Autodesk, ThaiSoftware, Tekla และคาดว่าอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยจะมีแนวโน้มที่ลดลงอย่างเรื่อย ๆ

ขณะเดียวกัน สถิติคดีการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2556 ปอศ. มีการดำเนินคดีการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์มากที่สุด 247 คดี ส่วนปี 2557 มี 207 คดี แสดงให้เห็นความมุ่งมั่นที่จะปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์อย่างจริงจัง และต่อเนื่องของเจ้าหน้าที่ และให้ความรู้แก่ประชาชนและองค์กรธุรกิจเรื่องความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจริงจากการใช้งานซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย บก.ปอศ. ได้ลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์อย่างเห็นได้ชัดในระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา รอง ผบก.ปอศ. กล่าว

พ.ต.อ.อภิวิชญ์ กล่าวว่า ในส่วนขั้นตอนของการร้องทุกข์นั้น ผู้ที่เข้ามาร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ บก.ปอศ. หลังจากนั้น จะนำคำร้องทุกข์ไปขอศาลเพื่อให้ออกหมายค้น และทำการเข้าตรวจค้นโดยในการตรวจค้นนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจะแสดงหมายสารเพื่อขอเข้าค้น ในการตรวจค้นประกอบไปด้วย เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปอศ. 5 - 6 นาย และพนักงาน IT จากการตรวจค้นหากพบหลักฐาน หรือข้อมูลที่สำคัญจะทำการคัดลอกลงแผ่นดีวีดี และทำการบันทึกข้อมูลดังกล่าวโดยมีผู้เซ็นรับรอง ได้แก่ เจ้าหน้าที่ IT เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปอศ. และเจ้าของธุรกิจที่ทำการละเมิดลิขสิทธิ์ ก่อนจะนำเอกสารหลักฐานส่งกลับให้ทางพนักงานสอบสวน

พ.ต.อ.ธีระ กล่าวว่า สำหรับขั้นตอนของการรณรงค์นั้น จะทำควบคู่กับการปราบปรามโดยมีการร่วมมือกับทางภาคเอกชน มีการออกบูตจัดกิจกรรม พร้อมทั้งแจกแผ่นพับ เพื่อให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ ทั้งนี้ จะเร่งเดินหน้าปราบปรามการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์อย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมดิจิตอลของประเทศไทย อีกทั้งยังนำมาซึ่งความเสี่ยงต่อองค์กรธุรกิจจากไวรัส หรือ มัลแวร์ มีผลต่อความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ด้วย โดย บก.ปอศ. จะบังคับใช้กฎหมายและปกป้องลิขสิทธิ์ของผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ โดยใช้ช่องทางการสื่อสารที่มากขึ้น ทั้งเว็บไซต์ www.stop.in.th , www.ecdpolice.com สายด่วน 191 และโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสสำหรับการแจ้งข้อมูลเบาะแสมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น