xs
xsm
sm
md
lg

Review รีวิวสินค้าไอที สมาร์ทโฟน โน้ตบุ๊ก

x

“กูเกิลเพลย์” โดนด้วย แฮกเกอร์เล่นงานซ้ำรอย App Store

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจากรอยเตอร์ส
วันก่อนเป็นแอปเปิลที่ออกมาประกาศตรวจสอบแอปใน App Store อย่างเข้มงวด หลังพบว่ามีนักพัฒนาบางส่วนถูกหลอกให้ใช้ซอฟต์แวร์พัฒนาแอปสำหรับ iOS และแมคตัวปลอมไปแล้ว มาวันนี้ถึงทีของกูเกิล (Google) ที่ตกเป็นเหยื่อกันบ้าง โดยในกรณีของกูเกิลนี้พบว่า มีทีมแฮกเกอร์ชาวจีนส่งมัลแวร์ออกเล่นงานแพลตฟอร์มแอนดรอยด์ ซึ่งคาดว่าอาจสร้างความเสียหายอย่างน้อย 200,000 เครื่องแล้ว

ความพยายามของแฮกเกอร์กลุ่มดังกล่าวมีตั้งแต่การลอบส่งแอปที่มีมัลแวร์เข้าไปใน Google Play ในชื่อ Brain Test App โดยแอปดังกล่าวจะเปิดแบ็กดอร์ให้กับมัลแวร์ตัวอื่นๆ ได้เข้ามาเล่นงานในภายหลังด้วย ซึ่งบริษัทด้านซิเคียวริตีอย่าง Check Point ได้ออกมาเผยว่า ต้องใช้กระบวนการที่ยุ่งยากในการกำจัดมัลแวร์เหล่านั้น และคาดว่ามีสมาร์ทโฟนบนแพลตฟอร์มแอนดรอยด์ตกเป็นเหยื่อมัลแวร์จากแอป Brain Test แล้วกว่า 1 ล้านเครื่อง

โดย Michael Shaulov หัวหน้าฝ่ายโมบิลิตีของ Check Point เผยว่า แฮกเกอร์ได้ใช้เทคนิคหลายประการที่ทำให้ Google Bouncer ไม่สามารถตรวจจับมัลแวร์เหล่านี้ได้เจอ เช่น พวกมันสามารถวิเคราะห์ได้ว่าเมื่อใดที่ Bouncer กำลังทำงานอยู่ มัลแวร์ก็จะอยู่อย่างสงบนิ่ง ไม่ออกมากวนใจให้จับได้นั่นเอง

อย่างไรก็ดี เมื่อเทคนิคในการหลบเลี่ยงการตรวจสอบจากกูเกิลของ BrainTest เวอร์ชันหนึ่งได้ถูกตรวจพบ และถูกลบออกจากกูเกิลเพลย์เมื่อ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา แฮกเกอร์กลุ่มนี้ก็ได้ใช้โปรไฟล์ของนักพัฒนารายใหม่ลอบส่งแอปกลับเข้าไปในกูเกิลเพลย์อีกครั้ง อีกทั้งยังใช้เครื่องมือของไป่ตู้ (Baidu) หลอกไม่ให้กูเกิลตรวจจับได้ด้วย

Shaulov ระบุว่า การใช้เครื่องมือของไป่ตู้นั้นชี้ให้เห็นว่าแฮกเกอร์กลุ่มนี้เป็นชาวจีน

ด้าน Adolfo Lorente จากทีม ElevenPaths ได้ออกมาเปิดเผยว่า สามารถระบุตัวตนทีมแฮกเกอร์กลุ่มนี้ได้จากข้อมูลด้านเทคนิคที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น การพบว่า มัลแวร์ทั้งหมดมีการใช้งานแอปโมบายล์ชื่อ “Umeng” ที่มีเจ้าของเป็นเว็บไซต์สัญชาติจีนยักษ์ใหญ่ “อาลีบาบา” (Alibaba) อีกทั้งยังพบว่า ทั้งหมดใช้ข้อมูลในการยืนยันตัวตนชุดเดียวกันเพื่อเข้าสู่ระบบ และมีการส่งโฆษณาเข้ามาหลอกล่อให้คลิกอย่างหนักเพื่อสร้างรายได้ นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการเชื่อมโยงไปถึงชื่อ “zhtiantian” ด้วย

แอปที่มีรายชื่ออยู่ในกลุ่มถูกลบ ได้แก่ Candy Crazy 2015, Save Eyes, Tiny Puzzle และ Crazy Jelly ซึ่งพัฒนาขึ้นระหว่างวันที่ 13 มิถุนายน-9 กันยายน โดยทั้งหมดถูกลบออกจากกูเกิลเพลย์แล้ว

“ผมพนันได้ว่า มีโปรไฟล์ของนักพัฒนาชาวจีนจำนวนมากอยู่ในมือของแฮกเกอร์เหล่านี้ และพวกเขาพยายามที่จะปรับแอปให้กระจาย Adware ให้มากที่สุด รวมถึงเก็บข้อมูลจากเครื่องที่ส่งมัลแวร์ลงไปติดตั้งด้วย” Lorente กล่าว

ด้านกูเกิล ระบุว่า แอปพลิเคชันที่มีปัญหานั้นถูกลบออกไปแล้ว แต่ไม่ได้เปิดเผยว่ามีการพบตัวใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีกหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น