ปอศ.ลั่นปี 58 เร่งปราบปรามบริษัทใช้ซอฟต์แวร์เถื่อน หลังปี 57 พบสถิติลดลงร้อยละ 10 แต่จับกุมองค์กรธุรกิจ 197 แห่ง เสียหาย 456 ล้าน มีคนไทยเป็นเจ้าของร้อยละ 76 เตือนผู้บริหารองค์กรถูกจับต้องรับผิดชอบ บริษัทเสื่อมเสียชื่อเสียง มีปัญหาเวลาทำธุรกิจในตลาดโลก
เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (24 ก.พ.) ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล พ.ต.อ.สรรักษ์ จูสนิท รองผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) รรท.ผบก.ปอศ. และพ.ต.อ.กิตติศักดิ์ ปลาทอง รองผบก.ปอศ. ร่วมแถลงผลการปราบปรามซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ปี 2557/2558
พ.ต.อ.สรรักษ์กล่าวว่า การใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือซอฟต์แวร์เถื่อน สร้างความเสียหายให้แก่ประเทศเป็นมูลค่ามหาศาล จึงจำเป็นต้องกวดขันจับกุม พร้อมกันนี้จะทำให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ที่ส่งผลเสียต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และภาพลักษณ์ของประเทศในสายตาประชาคมโลก
ขณะเดียวกัน การปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ยังมีความเชื่อมโยงระหว่างมัลแวร์และภัยคุกคามทางไซเบอร์ การปราบปรามนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมามีมากกว่า 40 บริษัททั้งในกรุงเทพมหานคร ปทุมธานี ราชบุรี ที่ถูกเข้าตรวจค้นจับกุมข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ซึ่งจะเน้นไปที่กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต การก่อสร้าง
พ.ต.อ.สรรักษ์กล่าวว่า ปี 2557 แม้ว่าจะมีผู้กระทำความผิดลดลงถึงร้อยละ 10 แต่มีการจับกุมองค์กรธุรกิจ 197 แห่ง ความเสียหายประมาณ 456 ล้านบาท ธุรกิจเหล่านี้มีคนไทยเป็นเจ้าของร้อยละ 76 ญี่ปุ่น 1.5 มาเลเซีย 1.5 ส่วนใหญ่เป็นงานก่อสร้างและออกแบบร้อยละ 19 ค้าส่งร้อยละ 10 วิศวกรรม และอสังหาริมทรัพย์ร้อยละ 10 นอกนั้นเป็นร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่
“องค์กรธุรกิจไทยต้องเคารพลิขสิทธิ์ เนื่องจากผลสำรวจพบว่า กว่าร้อยละ 71 ของซอฟต์แวร์ที่ถูกดาวน์โหลดในเครื่องพีซียู คือซอฟต์แวร์ที่ไม่ได้รับอนุญาต ทาง ปอศ.ต้องปราบปรามอย่างเร่งด่วน”
พ.ต.อ.กิตติศักดิ์กล่าวว่า สำหรับแนวทางการปราบปรามปี 2558 จะเน้นประชาสัมพันธ์ให้องค์กรธุรกิจ ตระหนักถึงความเสี่ยงของการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ เช่น ผู้บริหารองค์กรที่ถูกจับกุมต้องรับผิดชอบด้วย อีกทั้งบริษัทจะเสื่อมเสียชื่อเสียง ประสบปัญหาเมื่อทำธุรกิจในตลาดโลก หรือกับสหรัฐอเมริกา รวมถึงไม่มีความปลอดภัยในข้อมูล