xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนชี้ไลเซนส์แพงเหตุค่าอินเทอร์เน็ตราคาสูง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเผยค่าไลเซนส์เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ค่าอินเทอร์เน็ตของไทยถูกลงกว่านี้ไม่ได้ เผยในต่างประเทศที่มีราคาถูกกว่าเพราะรัฐสนับสนุน แนะไทยมีภูมิศาสตร์ที่ดีที่ต่างชาติจะมาลงทุนตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ แต่ต้องแก้ไขกฎระเบียบให้เอื้อด้วย ชี้หากมองว่าอินเทอร์เน็ตเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐาน ก็ควรสร้างควบคู่ไปกับระบบรางรถไฟเพื่อลดต้นทุน คาดในปี 2558 ภาพรวมตลาดสื่อสารยังสามารถเติบโตได้ใกล้เคียงปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 12.3% โดยคิดเป็นมูลค่าตลาดรวม 561,418 ล้านบาท

นายธีรรัตน์ ปัณฑรสูตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานเผยผลการสำรวจมูลค่าตลาดสื่อสาร ประจำปี 2557 และประมาณการปี 2558 ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ว่า ปัจจุบันค่าไลเซนส์ในการประมูลคลื่นความถี่ต่างๆ ยังมีราคาที่สูงมาก ทำให้ราคาขั้นต่ำในการให้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยยังไม่สามารถลดลงได้มากกว่าที่เป็นอยู่ เนื่องจากการตั้งราคาการให้บริการต้องดูที่ต้นทุน และกำไร

แต่ทั้งนี้ ราคาที่สมเหตุสมผลไม่ใช่ราคาถูก เพราะราคาถูกอาจจะเกิดจากการแทรกแซง อย่างเช่นในประเทศแถบยุโรปมีการแทรกแซงด้วยการช่วยเหลือจากรัฐบาลในการลงทุนเพื่อเป็นการควบคุมราคา อย่างเช่น การเปิดราคาประมูลในราคาที่ต่ำแต่มีเงื่อนไขที่จะต้องให้บริการในราคาที่ต่ำลงเช่นกัน ขณะที่การประมูลในเมืองไทยยังแพงมาก ดังนั้น การที่เอกชนหากสามารถควบคุมต้นทุนได้ก็จะทำให้ราคาถูกลงได้

“ค่าไลเซนส์ของไทยถือว่าแพงที่สุดในโลกเมื่อเทียบกับรายได้จีดีพี ส่วนทางด้านความเร็วนั้นกว่าครึ่งหนึ่งที่ใช้คอนเทนต์ในไทยส่วนใหญ่วิ่งไปใช้ดาต้าเซ็นเตอร์ข้างนอก อย่างเช่น กูเกิล เฟซบุ๊ก ที่มีดาต้าเซ็นเตอร์อยู่นอกประเทศ ซึ่งหากไทยสามารถดึงให้พวกเขาเข้ามาตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ในเมืองไทยได้ก็จะช่วยประหยัดค่าการเชื่อมต่อได้มาก และช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการได้เช่นกัน”

นายธีรรัตน์ กล่าวว่า ทั้งนี้ การจะดึงให้เข้ามาตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ในไทย ประกอบด้วย 1.ปริมาณการใช้งานของไทยซึ่งมีมาก เรียกได้ว่ามีตลาดอยู่แล้ว 2.ความเป็นโครงข่ายที่เป็นเกตเวย์ เพื่อให้มีทางเลือกในการเชื่อมต่อไปทั่วโลก โดยเฉพาะซับมารีนเคเบิล และ 3.กฎระเบียบที่ต้องการความยืดหยุ่น ต้องปรับทางด้านตัวบทกฎหมายด้วย ให้สามารถเอื้อให้เกิดการเติบโตไปได้ด้วยดี ซึ่งทั้ง 3 ปัจจัยนี้จะทำให้ไทยสามารถดึงทราฟฟิกต่างๆ มาลงที่ไทยได้มากขึ้น เพราะไทยมีภูมิศาสตร์ที่ดี และมีตลาดที่เพียงพอ

นอกจากนี้ ประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศนั้น ปัจจุบันต้องมีการเชื่อมต่อผ่านไทยก่อนที่จะไปยังเกตเวย์ที่สิงคโปร์ หรือมาเลเซีย ดังนั้น ถ้าไทยสามารถตั้งตัวเป็นเกตเวย์ได้ด้วยตัวเอง จะทำให้ประเทศเพื่อนบ้านเหล่านั้นสามารถเชื่อมต่อได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านไทยแล้วไปมาเลเซียก่อนแล้วค่อยกลับไปยังประเทศนั้นๆ ทั้งนี้ ปัจจุบัน กูเกิล เฟซบุ๊ก มีความต้องการที่จะมาประเทศไทยมากเนื่องจากประชากรของไทยมีการใช้เฟซบุ๊กเป็นจำนวนมาก มีการใช้งานโซเชียลเป็นอันดับ 3 ของโลก ดังนั้น ถ้าผู้ให้บริการเหล่านี้เข้ามาตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ในเมืองไทยจะช่วยประหยัดค่าการเชื่อมต่อได้มาก

ด้าน นายอนันต์ แก้วร่วมวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเอส ล็อกซอินโฟ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในส่วนของการให้บริการอินเทอร์เน็ตนั้น หากภาครัฐมองว่าอินเทอร์เน็ตเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศก็ควรจะลงทุนไปพร้อมๆ กับโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ อย่างเช่น ระบบรางรถไฟความเร็วสูง และสามารถวางสายไฟเบอร์ควบคู่ไปตามระบบรางเพื่อให้ไปพื้นที่ต่างๆ ที่ระบบรางไปถึงได้เลย

“การวางแบ็กโบนของอินเทอร์เน็ตไปพร้อมกับระบบราง ถือเป็นการทำให้อินเทอร์เน็ตขยายตัวไปพร้อมกับที่ระบบรางไปถึง และจะช่วยประหยัดค่าติดตั้งได้มากขึ้นอีกด้วย ซึ่งหากรัฐมองเห็นว่าอินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งสำคัญก็ควรที่จะวางระบบไปควบคู่กันเพื่อสร้างการเข้าถึงในชนบทได้อย่างรวดเร็ว เพราะถ้ามัวแต่ให้เอกชนทำเขาก็ต้องเลือกที่จังหวัดใหญ่ เมืองใหญ่ที่มีการใช้งานสูงก่อน”

แต่ทั้งนี้ การกำหนดโครงสร้างพื้นฐานนั้นต้องพิจารณาว่าปัจจุบันปัญหา อุปสรรค และข้อจำกัดคืออะไร รวมไปถึงการแข่งขันที่ปลายทางจะเป็นอย่างไร ขณะนี้บรอดแบนด์แห่งชาติยังพูดถึงเรื่องการเอาถนนแบ็กโบนมาต่อมาผูกกัน มาเชื่อมโยงกัน แต่ไม่ได้พูดถึงว่าควรจะนำแบ็กโบนนั้นจะตอบสนองอะไรให้มีความชัดเจน

ดังนั้น การจะลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานนั้นต้องดูประโยชน์ของการใช้งาน ต้องทำทั้งเน็ตเวิร์ก และคอนเทนต์ไปพร้อมๆ กัน ถ้าประชาชนได้ประโยชนจาการใช้จะมีแรงกดดันให้เน็ตเวิร์กเกิดง่ายขึ้น และเร็วขึ้น ถ้าต้องการให้ไทยก้าวไปอย่างรวดเร็วนั้นจะต้องพัฒนาแอปพลิเคชันในทุกธุรกิจให้เกิดขึ้น และให้เน็ตเวิร์กไปเพิ่มได้ตามการใช้งาน เพราะถ้ารอให้เน็ตเวิร์กเกิดก่อนแล้วค่อยพัฒนาแอปพลิเคชันอาจจะเป็นเรื่องไม่ทันการ

ด้าน นายศุภชัย สัจไพบูลย์กิจ เลขานุการสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย และที่ปรึกษาโครงการสำรวจตลาดฯ กล่าวว่า สำหรับภาพรวมของมูลค่าตลาดสื่อสารในปี 2557 มีการเติบโตถึง 12.6% หรือคิดเป็นมูลค่า 499,741 ล้านบาท แม้ประเทศเผชิญปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจทั้งภายใน และภายนอกประเทศ ภาวะหนี้สินภาคครัวเรือน โดยคาดการณ์ว่า ในปี 2558 ภาพรวมตลาดสื่อสารยังสามารถเติบโตได้ใกล้เคียงเดิมที่ 12.3% หรือคิดเป็นมูลค่าตลาดรวม 561,418 ล้านบาท

โดยปัจจัยการเติบโตที่สำคัญคือ การใช้งานอินเทอร์เน็ต และเทคโนโลยีสื่อสารข้อมูลของภาคธุรกิจเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันเพื่อรองรับการใช้งาน Cloud และ Big Data และการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนสำหรับสมาร์ทโฟนเพื่อเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์ และการใช้บริการอินเทอร์เน็ตที่สะดวกขึ้นโดยผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ อย่างไรก็ตาม ภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงหลัก รวมถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่ทำให้ประชาชน และภาคธุรกิจระมัดระวังการใช้เงินทั้งเพื่อการบริโภค และการลงทุน

Instagram


กำลังโหลดความคิดเห็น