สำนักข่าวอิศรา เจอดี “ซีเอส ล็อกซอินโฟ” ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเจ้าดัง อ้าง คสช. สั่งออนไลน์ให้บล็อกข่าวทรัพย์สินน้องชาย “ประยุทธ์” ระบุเข้าข่าย “ยุยง - ปลุกระดม” แต่ตอนหลังพบไร้ลายลักษณ์อักษร ให้เปิดหน้าเว็บอีกครั้ง
รายงานข่าวจากสำนักข่าวอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย แจ้งว่า เมื่อวันที่ 6 ก.พ. ที่ผ่านมา ผู้ดูแลเว็บไซต์ ได้รับแจ้งคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ระงับการเผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับการแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ของ พล.อ ปรีชา จันทร์โอชา น้องชาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ช่วงเข้ารับตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยระบุว่า มีลักษณะยุยง ปลุกระดม
เบื้องต้น ภายหลังได้รับแจ้งคำสั่งจาก คสช. ดังกล่าว ผู้ดูแลเว็บไซต์ ก็ตกใจ รีบทำการปิดข่าวเรื่องนี้ ไม่ให้สามารถเผยแพร่ในเว็บไซต์ได้ตามปกติ ก่อนที่จะแจ้งข้อมูลเข้ามาให้สำนักข่าวอิศราได้รับทราบในภายหลัง
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่ามีที่มาอย่างไร สำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อกลับไปยังเบอร์โทรศัพท์หน่วยงานที่แจ้งคำสั่ง คสช. ให้ระงับการเผยแพร่ข่าว ปรากฏว่าเป็นเบอร์โทรศัพท์ของบริษัท ซีเอส ล็อกซอินโฟ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต และได้รับคำตอบว่า ให้ดำเนินการตามที่แจ้งมา เมื่อดำเนินการเรียบร้อยแล้ว ให้แจ้งผลเข้ามา จะได้แจ้งให้ คสช. รับทราบอีกครั้ง
ต่อมา นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา ได้ติดต่อไปยัง นางเมธินี เทพมณี ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เพื่อขอทราบความชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งได้รับคำตอบว่า ขอเวลาในการตรวจสอบข้อมูลก่อน จากนั้นในวันรุ่งขึ้น ปลัดไอซีที ได้ติดต่อกลับมายังนายประสงค์ พร้อมแจ้งว่า ยังไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลได้อย่างชัดเจน
เบื้องต้น ทางสำนักข่าวอิศรา จึงได้แจ้งไปยังบริษัท ซีเอส ล็อกซอินโฟ เพื่อขอให้ส่งหนังสือสั่งการ จาก คสช. ที่เป็นลายลักษณ์อักษร มาให้ทางสำนักข่าวอิศราได้รับทราบได้รับคำตอบว่า เป็นการประสานงานผ่านช่องทางออนไลน์ โดยไม่มีจดหมายเป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อไม่หนังสือสั่งการอย่างชัดเจน ในระหว่างนี้ ทางกองบรรณาธิการ จึงเห็นควรให้ทำการเปิดหน้าเว็บดังกล่าวอีกครั้ง เนื่องจากไม่ทราบว่าคำสั่งที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแจ้งมานั้นเป็นคำสั่ง คสช. จริงหรือไม่
“เพราะไม่มีเอกสารหลักฐานใด พิสูจน์ว่าเป็นคำสั่ง คสช. จริง อ้างลอยๆ ว่าเป็นการติดต่อทางออนไลน์ และถึงแม้จะเป็นคำสั่ง คสช. จริงก็ต้องพิจารณาว่าใครเป็นผู้สั่ง ผู้สั่งมีอำนาจจริงหรือไม่ และที่สำคัญ ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายที่ถูกต้องหรือไม่เพราะตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 26 /2557 ได้ระบุชัดเจนว่าปลัดกระทรวงไอซีที ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินการ และต้องดำเนินการภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย ซึ่งตามบทบัญัญัติของกฎหมายในเรื่องการปิดกั้นเว็บไซต์ ก็มีแต่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ซึ่งการปิดกั้น เว็บไซต์จะต้องอาศัยอำนาจของศาลเท่านั้น” นายประสงค์ กล่าว