เบื้องหลัง พนักงานสาว Call Center 1188 ภายในทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิง คลอง 5 จ.ปทุมธานี ถ้าฟังเสียงการรับสายจากผู้ใช้บริการ หลายคนคงไม่รู้หรอกว่า Call Center 1188 แห่งนี้ปฎิบัติงานกันภายในทัณฑสถานหญิง คลอง 5
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กลุ่มอินทัช ประกอบด้วยบมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ (อินทัช), บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส), บมจ.ไทยคม (ไทยคม) และบมจ.ซีเอส ล็อกซอินโฟ (ซีเอสล็อกซ) ได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมโดยมุ่งเน้นการสร้างคุณค่าและประโยชน์ร่วมกันระหว่างองค์กรและสังคม (Creating Shared Value-CSV) เพื่อสร้างมูลค่าและการเติบโตที่ยั่งยืนให้แก่องค์กรและสังคมไปพร้อมๆ กัน ภายใต้แนวคิด “คนไทยแข็งแรง ประเทศไทยแข็งแรง”
วิไล เคียงประดู่ ประธานคณะกรรมการกลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กลุ่มอินทัช กล่าวว่า “ในการสร้างสรรค์คุณค่าและประโยชน์ร่วมกันระหว่างองค์กรและสังคม กลุ่มอินทัช ได้นำทรัพยากร ความเชี่ยวชาญ รวมถึงศักยภาพขององค์กรมาสร้างโอกาส สร้างอาชีพให้กับผู้ต้องขัง และผู้พิการ ซึ่งได้ดำเนินการในหลายโครงการ อาทิ โครงการปลูกข้าวเพื่อสุขภาพโดยอินทัช ในพื้นที่เรือนจำชั่วคราวโคกตาบัน สังกัดเรือนจำกลาง จ.สุรินทร์ ให้ผู้ต้องขังมีรายได้และอาชีพเลี้ยงตัวเองหลังพ้นโทษ โครงการ Call Center 1188 ในทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิง คลอง 5 จ.ปทุมธานี แ ละโครงการ เอไอเอส คอลเซ็นเตอร์เพื่อผู้พิการ ซึ่งเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ และเปิดโอกาสให้กับคนเหล่านี้ได้แสดงศักยภาพสามารถเลี้ยงตนและครอบครัวได้”
โครงการ Call Center 1188 ในทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิง คลอง 5 จ.ปทุมธานี เป็นโครงการ CSV ของบมจ.เทเลอินโฟมีเดีย ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบมจ.ซีเอส ล็อกซอินโฟ ที่มีความเชี่ยวชาญด้าน Call Center จัดตั้งโครงการขึ้นเมื่อปี 2555 โดยร่วมมือกับกรมราชทัณฑ์ที่มีนโยบายในการฝึกวิชาชีพ พัฒนาฝีมือแรงงาน และส่งเสริมการมีงานทำให้กับผู้ต้องขังหญิงหลังจากพ้นโทษเป็นครั้งแรกของเมืองไทย ผ่านบริการ Call Center 1188 บริการสอบถามข้อมูลหมายเลขโทรศัพท์ของกลุ่มธุรกิจ ร้านค้า รวมไปถึงข้อมูลบุคคลทั่วประเทศไทยกว่า 6 ล้านเลขหมาย ครอบคลุมทุกกลุ่มสินค้าและบริการ รวมไปถึงหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉิน บริการรับพิมพ์ และส่งข้อความผ่าน SMS ฯลฯ
อนันต์ แก้วร่วมวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บมจ.ซีเอส ล็อกซอินโฟ กล่าวว่า “เริ่มแรกมีผู้ต้องขังเข้าเป็นพนักงานจำนวน 20 คน โดยเทเลอินโฟมีเดียเป็นผู้ฝึกอบรม วางระบบ เตรียมสถานที่พร้อมทั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่เอื้อต่อการทำงาน ตลอดจนปรับปรุงทัศนียภาพและสร้างบรรยากาศการทำงานให้เสมือนออฟฟิศจริง จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่า ผู้ต้องขังมีศักยภาพในการทำงานที่ดี มีพัฒนาการ ความมุ่งมั่นตั้งใจทำงานไม่ด้อยไปกว่าพนักงานที่อยู่ภายนอก อีกทั้งยังอยู่ในกฎระเบียบเป็นอย่างดี ไม่มีเรื่องอื่นๆ มาทำให้เสียสมาธิในการทำงาน ปัจจุบัน จึงได้ขยายจำนวนพนักงานเป็น 80 คน ทำงานวันจันทร์-วันเสาร์ เวลา 08.00-17.00 น. บริษัทมีเบี้ยเลี้ยงให้แก่ผู้ต้องขังในอัตราที่เหมาะสม โดยรายได้ที่ผู้ต้องขังได้รับจะถูกแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งผู้คุมจะนำมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อสิ่งของที่จำเป็นสำหรับผู้ต้องขัง อีกส่วนหนึ่งทางกรมราชทัณฑ์ได้มีการฝากเงินไว้ในบัญชีออมทรัพย์ให้กับผู้ต้องขังแต่ละคน เพื่อที่เวลาพ้นโทษจะได้มีเงินก้อนสำรองติดตัวไว้ใช้ในอนาคต”
“จากผลตอบรับที่ดีในการดำเนินโครงการดังกล่าว ทางเทเลอินโฟมีเดีย มีความเชื่อมั่นว่าผู้ต้องขังสามารถนำความรู้ ความสามารถ และทักษะที่ได้รับมาใช้ประกอบอาชีพภายหลังจากที่พ้นโทษ สามารถมีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว เป็นบุคคลที่มีคุณค่า กลับมาใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติและดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเข้มแข็ง นอกจากนี้ ผู้ต้องขังที่พ้นโทษออกมาแล้ว จะได้รับโอกาสเข้าทำงานกับบริษัท เทเลอินโฟมีเดีย ในตำแหน่ง Call Center และตำแหน่งอื่นๆ ตามความเหมาะสมอีกด้วย ซึ่งในอนาคต ทางเทเลอินโฟมีเดีย มีแนวคิดที่จะสานต่อโครงการไปยังทัณฑสถานอื่นๆ เพื่อขยายโอกาสให้กับผู้ต้องขังที่จะทำให้ช่วงเวลาที่ต้องโทษ กลายเป็นช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ และสามารถกลับมามีที่ยืนในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี” อนันต์ กล่าว