รายงานการวิจัยผลกระทบของสัญญาณคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่แผ่ออกมาจากสถานีฐานโทรศัพท์มือถือมีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง แต่ท้ายที่สุดก็ยังไม่มีรายงานชิ้นใดสรุปออกมาเป็นตัวเลขที่ชัดเจนถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง ขณะที่ข้อพิพาทดังกล่าวได้ส่งผลร้ายให้เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้ติดตั้งและประชาชนในพื้นที่การติดตั้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ความจริงเป็นเช่นไร สัญญาณคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์จริงหรือไม่ มาตรฐานการผลิต ตลอดจนการติดตั้งอุปกรณ์เป็นเช่นไร มีความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน หรือเราไม่ควรมีหรือใช้อุปกรณ์ที่เป็นตัวการแผ่สนามแม่เหล็กไฟฟ้าดี เรื่องนี้ต้องมีคำตอบ
**** อุปกรณ์ใดบ้างแผ่สัญญาณคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
ย้อนกลับไปเมื่อปี 1873 ที่ทฤษฎีแม่เหล็กไฟฟ้า ของเจมส์ คลาร์ก แมกซ์เวลล์ ได้ไขปริศนาแรงแม่เหล็กไฟฟ้าว่าเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของคนเรามาอย่างต่อเนื่อง จวบจนพัฒนาเป็นการสื่อสารระหว่างกันด้วยความเร็วเท่ากับแสงบนเทคโนโลยีการสื่อสาร หากแต่ความเข้าใจของคนส่วนใหญ่เมื่อนานวันเข้ากลับแปรเปลี่ยนแรงแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นเพียงการกระจายของสัญญาณการสื่อสารเท่านั้น โดยหารู้ไม่ว่าแท้ที่จริงแล้วทุกอุปกรณ์มีการแผ่รังสีแม่เหล็กไฟฟ้าอย่างใดอย่างหนึ่งออกมา ไม่มากก็น้อย
ชาญไชย ไทยเจียม กรรมการสมาคมวิจัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย อาจารย์ในสาขาวิศวกรรมสายอากาศ วิศวกรรมไมโครเวฟ และวิศวกรรมคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า กล่าวว่า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ในทางวิชาการแบ่งออก 2 ส่วน คือ ส่วนที่ก่อให้เกิดไอออน หรือ Ionizing Radiation ซึ่งเป็นคลื่นที่มีความถี่สูง มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางพันธุกรรมได้ โดยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากลุ่มนี้ถูกใช้ในทางการแพทย์ เช่น การทำ CT Scan, การ X-rayเหล่านี่เป็นคลื่นที่มีผลต่อร่างกาย ดังนั้นจึงต้องมีการใช้งานอย่างระมัดระวัง และมีเครื่องป้องกันการแพร่กระจายของคลื่นตามมาตรฐาน
ขณะที่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าอีกประเภทคือส่วนที่ไม่ก่อให้เกิดไอออน หรือ Non-Ionizing Radiation ซึ่งเป็นคลื่นที่มีความถี่ต่ำ ไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของร่างกายแต่อย่างใด และคลื่นโทรคมนาคมได้จัดอยู่ในกลุ่มนี้ รวมถึง คลื่นวิทยุ โทรทัศน์ คลื่นไมโครเวฟที่ใช้ในการติดต่อสื่อสาร ดังนั้น คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ที่ใช้สำหรับเสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือ จึงอยู่ในกลุ่มที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อร่างกายแต่อย่างใด
กล่าวโดยสรุปคือทุกสิ่งบนโลกใบนี้ล้วนแล้วแต่สร้างสนามแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อการเคลื่อนไหวมวลสารทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้แต่ตัวคนหรือมนุษย์ที่มักเกิดไฟฟ้าสถิตย์อยู่ในตัวเมื่อร่างกายแห้งและมีการเสียดสีเกิดขึ้น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดก็ใช้หลักการคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเช่นเดียวกัน หากแต่รูปแบบและชนิดของคลื่นที่มีรายละเอียดแตกต่างกันย่อมมีคุณสมบัติและผลกระทบที่แตกต่างกัน หากจะเหมารวมว่าทั้งหมดเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่จะต้องส่งผลอันตรายกับสิ่งมีชีวิตทั้งหมดก็ดูจะเป็นเรื่องที่ทำให้ 'คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า' กลายเป็นจำเลยของสุขภาพดีไปโดยปริยายอย่างไม่เป็นธรรม
**** ความแรงของสัญญาณมีผลต่อสิ่งมีชีวิตอย่างไร
ชาญไชย กล่าวต่อว่า การถกเถียงกันอีกประการคือ กำลังส่งหรือความแรงของสัญญาณอาจมีผลต่อร่างกายได้ ซึ่งตามข้อมูลทางวิศวกรรม เสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือมีการปล่อยกำลังส่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารในปริมาณที่ต่ำมาก ไม่ถึง 1 วัตต์ จึงต้องมีการออกแบบโครงข่ายเสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือให้มีการกระจายตัวในปริมาณมาก ใช้กำลังวัตต์น้อย แต่ครอบคลุมพื้นที่ได้กว้าง รวมถึงมีการใช้เสาสัญญาณขนาดเล็กในพื้นที่เมือง เพื่อให้มีสัญญาณโทรศัพท์ใช้งานได้
สำหรับอุปกรณ์ที่ใช้ในการติดตั้งเสาสัญญาณนั้น เป็นอุปกรณ์ที่ผ่านการออกแบบและผลิตจากต่างประเทศ ผ่านการรับรองจาก WHO และ ITU มีการจำกัดความแรงในการส่งสัญญาณตามมาตรฐาน จึงมั่นใจได้ว่า เสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือทุกแห่งในประเทศไทย ไม่สามารถปล่อยสัญญาณให้แรงขึ้นกว่าที่มีการกำหนดไว้ได้
ยิ่งกว่านั้น ด้วยความสูงของเสาสัญญาณหลายสิบเมตร เพื่อให้สามารถกระจายคลื่นได้ครอบคลุมพื้นที่กว้างไกล การยิ่งอยู่ใกล้เสาสัญญาณ กลับจะได้รับกำลังส่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในปริมาณที่น้อยลงไปอีก เนื่องจากความสูงที่เบี่ยงเบนทิศทางสัญญาณหรือง่ายๆก็คือด้านล่างจะกลายเป็นจุดอับสัญญาณนั่นเอง
ขณะที่ประเทศไทยยังไม่ใช่ผู้ผลิตเครื่องส่งสัญญาณ อุปกรณ์เหล่านี้ต้องนำเข้า โดยมีการผลิตกันในต่างประเทศ แน่นอนว่าการนำเข้าต้องผ่านมาตรฐานและขั้นตอนของแต่ละประเทศมากมาย จึงเป็นเรื่องที่ยืนยันได้ว่า เสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในระดับความถี่ต่ำตามมาตรฐาน และใช้กำลังส่งในปริมาณที่น้อยมาก เพราะมีการจำกัดความแรงของสัญญาณตามมาตรฐานสากลอยู่ในตัวอุปกรณ์เอง จึงไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและร่างกายของมนุษย์
นอกจากนี้จากการศึกษาของสมาคมวิจัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย จากบทวิจัยกว่า 260 เรื่อง ที่มาจากจากหน่วยงานระดับสากล เช่น องค์การอนามัยโลก หรือ WHO, สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ITUยุโรป, อเมริกา, ญี่ปุ่น และประเทศไทย พบว่า 90% ของงานวิจัย มีผลสรุปออกมาในแนวทางเดียวกัน คือ ไม่สามารถฟันธงได้ว่าคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ใช้ในด้านโทรคมนาคม มีผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายมนุษย์ โดยมีเพียงบางส่วนที่ใช้คำว่า 'อาจจะ' ก่อให้เกิดผลกระทบกับชีวภาพได้ ซึ่งก็ทำให้ องค์การอนามัยโลก ประกาศให้อุปกรณ์ที่ใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากลุ่ม Non-Ionize จัดอยู่ในกลุ่ม 2B ซึ่งเป็นกลุ่มอุปกรณ์ที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบได้เท่านั้น
**** มาตรฐานอุปกรณ์เป็นอย่างไร
บัญญัติ เกิดนิยม ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารและองค์กรสัมพันธ์ อีริคสัน กล่าวว่า อุปกรณ์ที่ใช้ในการสื่อสารโทรคมนาคมปัจจุบันมีการผลิตออกมาได้มาตรฐานที่ทั่วโลกยอมรับ โดยไม่ใช่เพียงแค่มาตรฐานปกติที่ประเทศใดประเทศหนึ่งรับรองเท่านั้น แต่ยังรวมถึงหน่วยงานสากลทั้ง ITU และ องค์กรอนามัยโลก ก็ยื่นมือเข้ามาตรวจสอบเพื่อควบคุมให้อุปกรณ์ทั้งหมดได้มาตรฐานและความปลอดภัยที่มากขึ้นด้วย
ขณะที่อุปกรณ์ซึ่งนำเข้ามาในประเทศไทยก็จะต้องได้รับการตรวจสอบอย่างเป็นขั้นตอนจากหน่วยงานกำกับดูแลอย่าง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. โดยมีการมาตรวจสอบคุณภาพอุปกรณ์ในทุกแง่มุมเพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับผู้บริโภคอย่างสูงสุด โดยยอมรับว่าการนำเข้าอุปกรณ์อย่างเช่นไวไฟหากนำเข้ามาในประเทศไทย จะมีมาตรฐานการตรวจสอบที่สูงกว่าประเทศทางฝั่งยุโรปด้วยซ้ำ ซึ่งมั่นใจได้ว่าหน่วยงานของรัฐที่ดูแลด้านนี้มีมาตรการที่เข้มงวดเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งานเป็นอย่างดี
ทางด้านผู้ผลิต ก็มีการพัฒนาให้อุปกรณ์มีความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากจะเกรงว่าเมื่ออุปกรณ์ชำรุดจะทำให้เกิดความผิดพลาดของการปล่อยสัญญาณจนเป็นอันตราย จุดนี้ทางผู้ผลิตและผู้ให้บริการก็มีการตรวจสอบทุกขั้นตอนนับตั้งแต่ขั้นตอนการติดตั้ง และระหว่างการใช้งานอยู่เป็นระยะ โดยมีระยะเวลาการตรวจสอบเพื่อให้มั่นใจว่าอุปกรณ์มีประสิทธิภาพในการใช้งานอยู่เต็มที่ 100% เพราะท้ายที่สุดแล้วหากมีอุปกรณ์ชำรุดเกิดขึ้น ประสิทธิภาพของเครือข่ายก็ตกลงซึ่งมีผลต่อการให้บริการ ซึ่งก็จะสร้างความเสียหายกับผู้ให้บริการเองอย่างแน่นอน
ทั้งนี้อีริคสันเองได้พัฒนาให้อุปกรณ์สถานีฐานมีอัตราการปล่อยสัญญาณที่ต่ำลง แต่คงประสิทธิภาพของการสื่อสารที่มากขึ้น ขณะเดียวกันก็จำกัดการตั้งค่าการปล่อยสัญญาณที่ตัวอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยเอาไว้ด้วยโดยไม่ว่าจะถูกนำไปใช้อย่างไรอุปกรณ์จะต้องปล่อยสัญญาณต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่ได้รับการยอมรับ เพื่อความปลอดภัยของสิ่งมีชีวิตเป็นหลักตามปรัชญาการดำเนินธุรกิจของอีริคสันนั่นเอง
**** หนทางอยู่ร่วมกับเทคโนโลยีอย่างเหมาะสม
ชาญไชย กล่าวเสริมว่า ประเด็นนี้เป็นเรื่องใกล้ตัวที่มีความละเอียดอ่อน เมื่อมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และมีข้อมูลออกมาว่ามีอันตราย ส่งผลให้เกิดความตื่นตระหนกและมีผลกระทบทางจิตใจ ซึ่งทางออกต้องสร้างความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง หน่วยงานรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องต้องให้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงกับประชาชนทุกคน เช่น เสาสัญญาณที่ต้องมีขนาดใหญ่ ก็เพื่อความแข็งแรงทางโครงสร้างเท่านั้น แต่อุปกรณ์ที่ใช้ส่งสัญญาณมีขนาดเล็ก และติดอยู่ด้านบนของเสาสัญญาณ และมีระดับความสูงที่พ้นรัศมีของผู้ที่อยู่ใกล้อย่างปลอดภัย
สิ่งสำคัญคือ หน่วยงานของรัฐ ต้องสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง เช่น จัดทำมาตรฐานเพื่อยืนยันว่า เสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ผ่านการรับรอง และมีการตรวจสอบเป็นประจำ พร้อมทั้งปิดประกาศให้ประชาชนได้รับรู้ว่า พื้นที่บริเวณนี้มีความแรงของกำลังส่งเป็นไปตามมาตรฐานที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายมนุษย์ เชื่อว่าจะมีส่วนช่วยสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และลดความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นได้
หากทุกฝ่ายร่วมมือกันให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน จะช่วยคลายความกังวลใจให้กับประชาชนทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ใกล้กับเสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ให้มั่นใจได้ว่า การติดตั้งและใช้งานเสาสัญญาณเป็นไปตามมาตรฐาน มีการควบคุม และไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายของมนุษย์แต่อย่างใด
ขณะที่ผู้บริโภคเองก็ควรลดพฤติกรรมการใช้งานที่เสี่ยงต่อการกลืนรังสีที่แผ่ออกมาจากตัวอุปกรณ์ เช่น 1. เมื่อต้องการใช้โทรศัพท์ก็ให้คู่สายกดรับเสียก่อน เนื่องจากช่วงที่มีการส่งสัญญาณเรียกไปยังปลายทาง เครื่องลูกข่ายจะใช้กำลังส่งสูงสุดในการเรียกคู่สาย ต่อเมื่อรับสายแล้วจึงจะมีการคลายความแรงของสัญญาณและรักษาระดับให้สม่ำเสมอจนจบการสนทนา 2. ควรใช้หูฟังก้านพลาสติกแทนก้านโลหะ เพราะจะเกิดปฏิกิริยาสนามแม่เหล็กระหว่างการใช้งานจากลำโพงหูฟัง 3.ก่อนซื้ออุปกรณ์ควรศึกษาค่า SAR หรือค่าการแผ่รังสีสัญญาณแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นเท่าไหร่เพื่อให้มั่นใจว่าอยู่ในระยะปลอดภัยจริงๆ
**** บทบาทสมาคมวิจัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย
สมาคมวิจัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย (Thai Biomedical Engineering Research Association) เริ่มก่อตั้งจากกลุ่มนักวิจัย ที่ประกอบด้วย แพทย์ วิศวกร และนักวิจัยสาขาต่างๆ ที่ต้องการขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างแพทย์และวิศวกร ในการวางรากฐานทางวิชาการ พัฒนาบุคลากร และผลักดันให้เกิดการวิจัยทางด้านวิศวกรรมการแพทย์ที่สามารถนำไป ใช้งานได้จริง เพื่อประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อวงการการศึกษาและสาธารณสุขของประเทศ จึงประชุมร่วมกันก่อตั้ง ชมรมวิศวกรรมการแพทย์ไทย ขึ้น เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2549 ที่ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก ใช้ชื่อชมรมภาษาอังกฤษว่า Thai Medical Engineering Society ใช้อักษรย่อว่า TME ซึ่งต่อมาได้มีมติที่ประชุมให้จัดตั้งเป็นสมาคม โดยขึ้นทะเบียนเป็นสมาคมจากกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2550มีสำนักงานตั้งอยู่ที่ ฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร สุขุมวิท 23 กรุงเทพฯ
**** ขั้นตอนการติดตั้งเสาสัญญาณ
1.กำหนดพื้นที่ติดตั้งเสาสัญญาณบริเวณที่มีการใช้งานหนาแน่น หรือคุณภาพสัญญาณอ่อน และมีคนร้องเรียนปัญหาการใช้งาน
2.ขออนุญาตการก่อสร้างเสาสัญญาณจากกรมโยธาธิการ หรือหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบในพื้นที่ก่อสร้างเสาสัญญาณ โดยแบบการก่อสร้างเป็นไปตามหลักวิศวกรรม ซึ่งแบบที่ก่อสร้างเสาตามมาตรฐานได้รับการรับรองแบบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีการก่อสร้างมาแล้วทั่วประเทศตามขั้นตอนปกติ
3.การทำการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจและเห็นถึงความจำเป็นในการสร้างเสากับผู้อยู่อาศัยในพื้นที่รอบบริเวณดังกล่าว ผ่านสื่อติดประกาศบริเวณชุมชนที่จะก่อสร้าง
4.ดำเนินงานขออนุญาตการติดตั้งอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม และการใช้สัญญาณกับทาง กสทช.
5.ทดสอบสัญญาณและเปิดให้บริการ
Company Related Link :
สมาคมวิจัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย