ปฎิวัติวงการแท็กซี่ไทยไม่ใช่เรื่องง่าย All Thai Taxi จากผู้ให้บริการที่คร่ำหวอดในระบบขนส่งโดยสารอย่างนครชัยแอร์ กำลังเปิดมิติใหม่ของการเดินทางด้วยแท็กซี่อัจฉริยะ ที่ต้องมีมากกว่าความเป็นรถหรูและประหยัดต้นทุน ด้วยปัญหาการจราจร การส่งกะเปลี่ยนรอบ ความต้องการที่หลากหลายของผู้โดยสาร และสุดท้ายคนขับที่จะเป็นด่านสำคัญของการพบปะลูกค้า
ความท้าทายเช่นนี้ผู้ที่ให้คำตอบได้ดีที่สุดคงหนีไม่พ้นผู้คิดค้นระบบอัตโนมัติทั้งหมดที่จะคอยจัดการ Big Data ที่จะเกิดขึ้น
แม้ว่าจะไม่ใช่การปฏิวัติระบบทั้งโครงสร้าง แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่เชื่อว่าหลายๆคนรอคอยอย่างแน่นอน
เอกชัย สุมาลี ผู้อำนวยการศูนย์ Smart City Research Center (SCRC) ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เปิดเผยว่า All Thai Taxi คาดว่าหวังว่าจะเข้ามาเป็นหนึ่งในตัวเลือกของผู้ใช้บริการแท็กซี่ในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯและปริมณฑล ด้วยแนวคิดของการสร้างระบบไอทีอัจฉริยะเข้ามาควบคุมการทำงานทั้งระบบ โดยเชื่อว่าจะสามารถสร้างต้นแบบของการบริการที่ดีขึ้นได้ แม้ว่าจะไม่สามารถแก้ไขได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็เป็นตัวเลือกที่มี 'ความหวัง' สำหรับคนเมืองในวันนี้
*** ระบบอัจฉริยะเริ่มต้นอย่างไร
การทำงานของ All Thai Taxi มีการใช้ระบบ Smart Taxi Control Systemเพื่อควบคุมการทำงานทั้งโครงสร้างผ่านศูนย์บริการSmart City Research Center (SCRC) ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่เป็นเพียงแค่ผู้มอนิเตอร์ โดยการเรียกใช้บริการจะเรียกผ่านแอปพลิเคชันเท่านั้น แม้ว่าจะมีศูนย์ร่วมเพื่อคอยรับสายผู้ใช้บริการอย่างสายด่วนนครชัยแอร์แล้วก็ตาม
ขณะที่ภายในรถยนต์จะมีการติดตั้งอุปกรณ์เทคโนโลยี เพื่อให้สามารถสื่อสารระหว่างศูนย์บริการได้อย่างทันท่วงที โดยศูนย์บริการจะเป็นสมองสั่งงานทั้งหมด ผ่านระบบสื่อสารของ บริษัท กสท โทรคมนาคม บนเครือข่าย 3G ด้วยงบลงทุนระบบ Smart Taxi Control System 10 กว่าล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นส่วนอุปกรณ์ที่ติดตั้งภายในรถยนต์แต่ละคันกว่า 5 หมื่นบาท และส่วนของระบบศูนย์บริการพร้อมแอปพลิเคชั่นทั้งหมด
โดยรถยนต์ที่เปิดให้บริการจะเป็นรถรุ่นโตโยต้าพรีอุส ซึ่งเริ่มต้นให้บริการช่วงหลังสงกรานต์ที่ 40 คันและเพิ่มขึ้นเดือนละ 100 คันจนครบ 500 คันตามแผนการให้บริการ และเชื่อว่าจะสามารถคุ้มทุนได้ภายใน 5-7 ปี ขึ้นอยู่กับปัจจัย ทั้งนี้ระบบดังกล่าวสามารถรองรับการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในอนาคตสามารถเพิ่มจำนวนรถได้อย่างไม่จำกัด ขณะที่ระบบสำรอง (DR Site) ได้ถูกวางแผนไว้อย่างชัดเจน โดยระบบทั้งหมดจะใช้พื้นที่แบบคลาวด์ เพื่อความสะดวกในการควบคุมและสั่งการ
ผู้ใช้บริการเพียงแสดงความต้องการใช้งานแท็กซี่ผ่านแอปพลิเคชัน ระบบจะตอบรับความต้องการ พร้อมแจ้งรถที่จะไปรับหรือจุดจอดรถที่ใกล้ที่สุดเพื่อความรวดเร็วในการเดินทาง หรือหากมีอุตบัติเหตุเกิดกับรถระหว่างเดินทางไปรับ ระบบจะแจ้งเหตุขัดข้องพร้อมแจ้งแนวทางการแก้ไขให้ผู้ใช้บริการผ่านแอปอย่างต่อเนื่อง โดย เอกชัย ยืนยันว่า All Thai Taxi จะไม่มีการปฏิเสธผู้โดยสารอย่างแน่นอน
ทั้งนี้โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่างบริษัทนครชัยแอร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังและกรมการขนส่งทางบก คิดค้นและพัฒนาระบบให้บริการรถแท็กซี่อัจฉริยะ ในชื่อ 'All Thai Taxi' มีการใช้ระบบ Smart Taxi Control System ซึ่งเป็นระบบที่ช่วยในการแก้ไขปัญหาและตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการโดย ผ่านศูนย์ควบคุม Smart City Research Center (SCRC) เพื่อสื่อสารระหว่างแท็กซี่ที่ได้ติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ไว้ภายในอย่างทันสมัยสูงสุดในประเทศไทย รวมทั้งแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนเมษายน 2558
***มาตรฐานใหม่คืออะไร
การปฏิเสธผู้โดยสารของแท็กซี่เป็นอีกหนึ่งข้อกล่าวหาที่ผู้โดยสารทั่วกรุงเทพฯ รู้อยู่แก่ใจแต่ไม่สามารถทำอะไรได้ แม้ว่าจะมีสายแจ้งเรื่องร้องเรียนก็เปล่าประโยชน์ เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่ไม่สามารถหาหลักฐานมายืนยันได้ การมี All Thai Taxi หมายถึงจะไม่มีการปฏิเสธอีกต่อไป เนื่องจากระบบพนักงานขับขี่ที่จะรับคำสั่งในการรับผู้โดยสารผ่านระบบแอปพลิเคชันเช่นกัน อีกทั้งยังมีระบบประเมินการให้บริการของผู้ขับขี่ ทั้งความเร็ว รูปแบบการขับขี่ หรือแม้กระทั่งมารยาทในการให้บริการที่ผู้โดยสารสามารถกดปุ่มแสดงความพึงพอใจได้จากแอปพลิเคชันเมื่อใช้บริการ
รวมทั้งไม่มีปัญหาเรื่องเปลี่ยนกะ ด้วยเทคโนโลยีหลังบ้านแบบอัจฉริยะของศูนย์ควบคุม Smart City Research Center (SCRC) ระบบจะคำนวนตำแหน่งของรถในช่วงเวลาที่จะต้องทำการเปลี่ยนกะผู้ขับ พร้อมแจ้งเตือนผู้ขับว่ามีรถคันใดที่อยู่ใกล้ ให้สามารถเดินทางไปเปลี่ยนกะกันได้อย่างสะดวก โดยประโยชน์ดังกล่าวนอกจากจะช่วยเพิ่มความสะดวกให้ผู้ขับแล้ว ยังเป็นการลดต้นทุนเชื้อเพลิงและเวลาที่จะต้องสูญเสียไประหว่างเดินทางเพื่อนำรถไปเปลี่ยนกะที่อู่เหมือนแท็กซี่ปัจจุบัน โดยแนวคิดดังกล่าวทำได้ด้วยการวิเคราะห์และหาความสัมพันธ์ระหว่างเวลา ตำแหน่งรถ และตำแหน่งผู้ขับ เพื่อหาจุดที่ดีที่สุดในการจับคู่กัน
นอกจากนี้ยังช่วยลดการสูญเสียเที่ยวเปล่า จากเดิมที่การบริการแท็กซี่ในปัจจุบันจำเป็นต้องวิ่งรถเปล่าเพื่อหาผู้โดยสาร แต่ All Thai Taxi ใช้การคำนวนจุดต่อจุดเพื่อเชื่อมต่อระหว่างจุดส่งผู้โดยสารและจุดรับผู้โดยสารต่อไป ทำให้ลดระยะทางการวิ่งเที่ยวเปล่าได้ โดยประมาณการเฉลี่ยไว้ที่สัดส่วนรถวิ่งมีผู้โดยสาร 80% ต่อรถวิ่งเปล่า 20% ลดลงจากเดิมที่มีสัดส่วนเฉลี่ย 60% ต่อ 40% สำหรับรถแท็กซี่ในปัจจุบัน แต่เมื่อถามว่าจะสามารถจองบริการล่วงหน้าได้หรือไม่ ได้รับคำตอบว่าไม่สามารถจองล่วงหน้าได้นาน เนื่องจากระบบจองล่วงหน้าจะติดขัดเรื่องจุดเชื่อมต่อเพื่อลดการสูญเสียเที่ยวเปล่านั่นเอง
ระบบ Smart Taxi Control System จะเป็นเสมือนสมองกลที่จะคิดคำนวนการทำงานที่สัมพันธ์กันทั้ง ผู้ใช้บริการ ผู้ขับรถ และเวลา บนพื้นฐานของการสูญเสียที่น้อยที่สุด และท้ายที่สุดจะกลายมาเป็นแพลตฟอร์มใหม่เพื่อยกระดับมาตรฐานการให้บริการขนส่งสาธารณะของประเทศไทยต่อไปในอนาคต โดยระบบดังกล่าวใช้งานบนพื้นฐานของคลาวด์ที่สามารถขยับขยาย เพื่อรองรับการใช้งานที่มากขึ้นหรือลดจำนวนลงตามความต้องการได้อย่างสะดวก
'บริการรูปแบบใหม่นี้ อาจจะเป็นเพียงส่วนเล็กน้อยของระบบขนส่งมวลชนในเมืองขนาดใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร แต่เราก็ยังหวังว่าบริการนี้จะเป็น ความหวัง ของคนไทยทุกคน ดังชื่อ All Thai Taxi ในการที่จะได้นั่งรถแท็กซี่ที่เทียบเท่าบริการแท็กซี่วีไอพีดังที่กฏหมายกำหนด ด้วยค่าบริการที่เพิ่มขึ้นเพียง 20 จากราคาปกติเท่านั้น หลังจากที่ผิดหวังกับการบริการที่ผ่านมาอย่างไร้ความหวัง' เอกชัย กล่าวทิ้งท้าย
Company Related Link :
Smart City Research Center (SCRC)