ทิศทางการพัฒนาประเทศที่เริ่มคืบคลานเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีและเครือข่ายมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตประชาชนตลอดจนการอำนวยความสะดวกของภาครัฐเพื่อยกระดับการเข้าถึงบริการ เริ่มเป็นสิ่งที่ทุกคนกังวลถึงความชัดเจนของแผนการดำเนินการ โดยความท้าทายใหม่คือการสร้างเป้าหมายของประเทศไทยไปสู่ Digital Economy เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของการแข่งขัน และคุณภาพชีวิตของพลเมืองให้สามารถดึงเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ได้เหมาะสมที่สุด
สนธิญา หนูจีนเส้ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดมุมมองของอินเทลที่มีกับนโยบาย Digital Economy ของภาครัฐว่าความกังวลแรกของการเดินเข้าสู่ความเป็นDigital Economy ของไทย คือรายละเอียดของแผนที่จะเดิน เนื่องจากความชัดเจนของการดำเนินงานนั้นยังคลุมเครือ หรือแม้กระทั่งเป้าหมายที่พูดถึงกัน ก็ยังไม่มีความชัดเจนถึงขั้นที่จะสามารถกำหนดวิธีการได้ ท้ายที่สุดก็อาจจะส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินกิจกรรมเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ความเป็นDigital Economy อย่างแท้จริงในอนาคต
ความพร้อมดังกล่าวหมายถึงการเตรียมการด้านบุคคลากร การเพิ่มองค์ความรู้ให้ประชาชน การเตรียมการด้านองค์กร การเตรียมการด้านโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนความพร้อมด้านข้อกฏหมายเพื่อเอื้อให้เกิดการทำงานแบบศูนย์กลางมากยิ่งขึ้น แน่นอนว่าภาพรวมของการตั้งเป้าหมายสู่ Digital Economy ก็เป็นเรื่องสำคัญ อย่างประเทศอินเดีย มีการตั้งเป้าหมายว่าอีกกี่ปีข้างหน้าจะสามารถพัฒนาผู้มีความรู้ (Digital Literacy)อย่างน้อย 1 คนในครอบครัวทั่วประเทศ เพื่อเป็นจุดเชื่อมโยงประชากรสู่โครงสร้างพื้นฐานแบบดิจิตอล ควบคู่ไปกับการพัฒนาบุคคลากรตั้งแต่เยาว์วัยเพื่อสั่งสมองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีอย่างถ่องแท้ และสามารถพัฒนาต่อยอดเพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบการใช้ชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ในประเทศอินเดีย เริ่มมีการเรียนการสอนเขียนโปรแกรมเพื่อสร้างสรรค์รูปแบบการใช้ชีวิตใหม่ๆ เช่นการเขียนโปรแกรมควบคุมการเปิด-ปิดของไฟฟ้าแสงสว่าง เพื่อการเจริญเติบโตของพืช โดยการพัฒนาดังกล่าวสามารถต่อยอดไปสู่การใช้เทคโนโลยีในหลากหลายอุตสาหกรรม ยกตัวอย่างเช่นในพื้นที่ห่างไกลของบางประเทศ การควบคุมน้ำหรือระบบชลประทานในบางพื้นที่ สามารถใช้ระบบควบคุมทางไกล เพื่อเปิด-ปิดและจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกเหนือจากการรับคำสั่งและต้องเดินทางไปเปิด-ปิดด้วยตนเอง ซึ่งต้องใช้เวลาในการเดินทางจนเกิดผลกระทบ ขณะที่ในประเทศไทย เริ่มมีความสนใจในการบริหารจัดการน้ำ แต่อาจจะต้องใช้เวลาในการศึกษาและสร้างสรรค์ระบบเพื่อให้เหมาะสมกับประเทศไทยมากที่สุด
***อะไรคือสิ่งที่เรียกว่า Digital Economy
กล่าวโดยสรุปDigital Economy ก็คือการจัดการระบบโครงสร้างของประเทศด้วยดิจิตอล โดยองค์รวมของข้อมูลทั้งหมดจะสามารถเรียกใช้ได้ผ่านการระบุตัวบุคคล ผ่านช่องทางดิจิตอลเพื่อรับบริการ ตลอดจนใช้สิทธิ์ใดๆในการดำเนินกิจกรรมได้ทั่วประเทศ ยกตัวอย่างเช่นการรับบริการทำใบขับขี่ในอนาคต จะสามารถดึงข้อมูลผู้ยื่นคำร้องทำใบขับขี่ ทั้งประวัติทางการแพทย์ ประวัติอาชญากรรม และข้อมูลประกอบจากทุกกระทรวงเพื่อประกอบการยื่นเรื่องโดยที่เจ้าตัวไม่ต้องค้นหาเอกสารให้วุ่นวาย เพียงแค่ใช้การระบุตัวตนเช่นการสแกนลายนิ้วมือ การสแกนม่านตา เพื่อยืนยันตัวตนที่แท้จริงเท่านั้น โดยโครงสร้างดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้จากการรวมศูนย์ข้อมูลทุกอย่างเป็นดิจิตอลภายใต้การดูแลของหน่วยงานเดียวที่จัดตั้งขึ้นมาเป็นพิเศษ ด้วยความปลอดภัยระดับเหนือชั้น จากการประมวลผลของซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง
Digital Economy จึงกลายเป็นเสมือนความหวังใหม่ของอนาคตที่ทุกอย่างจะเริ่มพึ่งพาโปรแกรมอัจฉริยะมากขึ้น โดยที่มนุษย์แทบจะไม่ต้องเคลื่อนไหวเพื่อตอบสนองความต้องการนั้นๆแต่อย่างใด ยกตัวอย่างเช่นการควบคุมการจราจร จะมีการฝังเซ็นเซอร์บนถนนเพื่อตรวจสอบปริมาณรถยนต์ที่กำลังวิ่งบนถนนในทุกๆสาย และควบคุมไฟจราจรด้วยสมองกล โดยเมื่อเกิดเหตุการณ์ใดขึ้น ระบบจะสามารถควบคุมปริมาณรถและสั่งการรถส่วนเกิน เพื่อบังคับให้รถวิ่งเบี่ยงไปในทิศทางที่เหมาะสม เพื่อบริหารจัดการจราจรอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
'เทียบจากตัวอย่างที่อินเทลเริ่มนำเทคโนโลยีเข้าไปควบคุมการผลิตแทนมนุษย์ อินเทลเริ่มปรับใช้ระบบอัตโนมัติในโรงงานผลิตชิปที่ประเทศอินโดนีเซีย โดยเป็นการใช้เซ็นเซอร์ควบคุมตลอดทั้งกระบวนการผลิต ในการตรวจสอบความผิดพลาดและแก้ไขทันที เพื่อลดปริมาณของเสียที่เกิดจากการผิดพลาดในกระบวนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ลดต้นทุนการผลิตได้หลายสิบล้านเหรียญในช่วงปีที่ผ่านมา' สนธิญา กล่าวย้ำถึงความสำเร็จในการนำเทคโนโลยีเข้าไปสอดแทรกในกระบวนการผลิต
องค์ประกอบหลักของDigital Economy คือการสร้างศูนย์กลางข้อมูลที่จะมีมากมายมหาศาล และต้องมีความปลอดภัยในระดับโลกเพื่อป้องกันความลับส่วนบุคคลของประชากรทั้งประเทศ โดยช่องทางการเข้าถึงระบบเครือข่ายจะต้องมีความเสถียรสูงสุด เนื่องจากข้อมูลจะมีการเรียกใช้เพื่อระบุตัวบุคคลอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งความผิดพลาดของข้อมูลต้องเป็นศูนย์ เนื่องจากเป็นเรื่องข้อมูลทะเบียนราษฎร์ ดังนั้นโครงสร้างเครือข่ายอินเทอร์เน็ตจึงต้องใช้รูปแบบเฉพาะที่เหมาะสม เพื่อสนับสนุนกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นทั้งหมดได้อย่างเพียงพอ
'ประเทศไทยนับเป็นลำดับที่ 3 ในภูมิภาคที่มีความพร้อมและเตรียมการด้าน Digital Economy'
***สถานะการณ์ Digital Economy ปัจจุบัน
แม้ว่าจะมีการพูดถึง 'Digital Economy' มาพอสมควรแต่ด้วยกระบวนการขับเคลื่อนที่ต้องเกิดขึ้นจากทุกภาคส่วนอย่างพร้อมเพรียงกัน ก็เป็นอุปสรรคที่ก่อให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินงานอย่างใหญ่หลวง ด้วยข้อกำหนดทางด้านกฏหมาย ตลอดจนรูปแบบการดำเนินงานที่ยังคงต้องใช้เอกสารประกอบในหน่วยงานราชการ ทำให้ Digital Economy ยังไม่มีความชัดเจนมากพอ
'เราหวังว่าการประกาศเรื่องDigital Economy ที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้ จะสามารถออกแผนการพัฒนาเพื่อวางกลยุทธ์และกำหนดรายละเอียดเพื่อเดินสู่เป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว โดยเชื่อว่าเมื่อความชัดเจนเกิดขึ้นภาคเอกชนจะสามารถเดินไปข้างหน้าภายใต้เป้าหมายเดียวกับรัฐบาลได้อย่างชัดเจนมากขึ้นเช่นกัน'
หากจะย้อนกลับไปดูโครงการเพื่อส่งเสริมให้ภาคครัวเรือนเข้าถึงบริการของรัฐผ่านระบบดิจิตอลก็สะท้อนความพยายามที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากหลายโครงการ ยกตัวอย่างเช่น ICT ชุมชน ที่สร้างห้องคอมพิวเตอร์เพื่อบริการประชาชนในท้องถิ่น ตลอดจนให้ความรู้พื้นฐานในการใช้งานคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนนั้นๆ และอีกตัวอย่างคือ Free WiFi ที่แม้ว่าจะเป็นโครงการที่ฝนตกไม่ทั่วฟ้า แต่ก็สามารถส่งเสริมให้คนมีประสบการณ์ในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น แต่การกระจายตัวของโครงการส่งเสริมที่ต่างคนต่างทำยังไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็น Digital Economy อย่างแท้จริง หากแต่เป็นพื้นฐานองค์ความรู้ที่จะส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในอนาคตต่อไปเท่านั้น
สถานะของDigital Economy ในประเทศไทยตอนนี้จึงรอคอยความชัดเจนของหน่วยงานกำกับดูแล และคำปรึกษาจากภาคเอกชนที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีมากกว่าภาครัฐ ผสานความคิดเพื่อกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ Digital Economy ที่มีเป้าหมายชัดเจน สอดคล้องกับนานาประเทศที่กำลังก้าวเดินอย่างมั่นคง โดยรวมองค์ประกอบทั้งโครงสร้างเข้าไว้ด้วยกันอย่างมีเป้าหมาย แบ่งเป็นระยะตามความเหมาะสม เพื่อส่งเสริมให้ไทยกลายเป็นประเทศDigital Economy อย่างแท้จริง ในอีก 10 ปีหรือ 20 ปีข้างหน้าได้อย่างตั้งใจ
***หวังเอกชนที่เป็นที่พึ่ง
สนธิญา กล่าวว่า อินเทลพร้อมที่จะนำความรู้และความสามารถที่มี เป็นผู้สนับสนุนให้เกิดDigital Economy ในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม โดยเอกชนเป็นตัวแปรสำคัญในการเป็นที่ปรึกษาให้ผู้กำกับนโยบายอย่างหน่วยงานรัฐให้สามารถวาดภาพอนาคตได้อย่างชัดเจนมากขึ้น แน่นอนว่าด้วยองค์ความรู้ของภาคเอกชนที่มีมากกว่ารัฐบาล ย่อมสามารถแนะนำหรือบอกเล่าประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศของการทำ Digital Economy เพื่อลดภาระการดูงานต่างประเทศที่จะต้องใช้เวลาและค่าใช้จ่ายในการปล่อยให้ภาครัฐศึกษาเอาเองได้อย่างลงตัว
ทั้งนี้นอกจากการดึงเอกชนเข้าร่วมเป็นที่ปรึกษาเพื่อวางยุทธศาสตร์แล้ว อินเทลยังมีความพร้อมในการเป็นเทรนเนอร์เพื่อผลิตบุคลากรในการส่งเสริมความรู้ด้านเทคโนโลยีให้กับชุมชนได้อย่างครบสมบูรณ์ เนื่องจากมีทั้งหลักสูตร ความพร้อมด้านเทคโนโลยี และบุคลากรในการให้ความรู้ในทันที ขอเพียงความชัดเจนของแผนยุทธศาสตร์มีมากขึ้น เชื่อแน่ว่าความมุ่งมั่นของภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ที่ไม่เฉพาะอินเทลเอง ย่อมต้องการส่งเสริมให้เกิด Digital Economy ในประเทศไทยอย่างแน่นอน
ที่สำคัญการก้าวเข้าสู่ Digital Economy แบบที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ย่อมมีความเสถียรมากกว่า การกำหนดเป้าหมายโดยหน่วยงานรัฐมโนขึ้นเองเพียงลำพัง และหากจะเป็นการดำเนินงานของเอกชนเพียงอย่างเดียวก็ดูจะเป็นการก้าวข้ามหัวภาครัฐอย่างที่ไม่มีวันจะเกิดขึ้นได้ บทสรุปของการเดินเคียงคู่กันไประหว่างหน่วยงานรัฐ เอกชน และภาคประชาชนจึงเป็นจุดกึ่งกลางที่น่าจะเป็นหนทางสว่างไสวสู่ยุค 'Digital Economy' อย่างแท้จริง
และหากจะย้อนไปถึงความเชี่ยวชาญที่หน่วยงานเอกชนอย่างอินเทล กล้าเสนอความคิดการมีส่วนร่วมในการพัฒนาDigital Economy ในประเทศไทย ก็เชื่อแน่ความเชี่ยวชาญของยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตชิปเบอร์ 1 ของโลกย่อมเป็นที่ประจักษ์แก่ผู้คนทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยที่ทุกบ้านจะต้องมีผลิตภัณฑ์ของอินเทลอยู่ภายใน เหลือก็แต่เพียงแนวคิดของหน่วยงานรัฐเท่านั้นที่จะแสดงความสามารถให้เป็นที่ประจักษ์ในยุทธศาสตร์ 'Digital Economy' ได้หรือไม่
Company Related Link :
อินเทล