xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแผนปี 58 กสท โทรคมนาคม(Cyber Weekend)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการบอร์ด และรักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่
ท่ามกลางกระแส Digital Economy ที่รัฐบาลเร่งผลักดัน โดยบูรณาการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานใต้สังกัดกระทรวงไอซีทีอย่างบริษัท กสท โทรคมนาคม ที่ถูกกาหัวว่าเป็นรัฐวิสาหกิจอาการขั้นโคม่า ก็เป็นหนึ่งในกลไกที่ต้องขับเคลื่อนตามกระแส แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั่นคือการพลิกฟื้นธุรกิจให้อยู่รอดได้ในภาวะที่ไร้รายได้จากสัญญาสัมปทาน ตามโครงสร้าง 6 กลุ่มที่คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ให้การบ้านไว้รวมถึงต้องลดค่าใช้จ่ายให้ได้ 10%

*** เพิ่มกำไร-ปรับโครงสร้างองค์กร

ภารกิจแรกของกสท คือ การเร่งปรับโครงสร้างองค์กรรวมทั้งแผนธุรกิจ โดย พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการบอร์ด และรักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ตั้งเป้าไว้ว่าภายในสิ้นปี 2557นี้ กสทต้องมีกำไรหลักพันล้านบาท หลังจากสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ 10% ตามที่คนร.กำหนดแล้ว พร้อมเป้าหมายปีหน้ากสทต้องมีรายได้ 5.2 หมื่นล้านบาท

พ.อ.สรรพชัย คาดว่าในปี 57 จากเดิมที่คิดว่าจะมีกำไร 425 ล้านบาท จะเปลี่ยนเป็นกำไรมากกว่า 1 พันล้านบาท โดยกำไรที่เพิ่มขึ้นกว่า 50% มาจากรายได้ปี 56 ที่ตกค้าง และเพิ่งดำเนินการเสร็จจะรับรู้รายได้ในปีนี้ รวมถึงรายได้จากค่าสัญญาสัมปทานที่เหลืออยู่ ค่าโรมมิ่งที่เก็บจากดีแทค ตลอดจนรายได้จากกลุ่มธุรกิจบางกลุ่ม เช่น กลุ่มธุรกิจบรอดแบนด์ที่อาจจะมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกจากที่คาดไว้เดิม

ขณะเดียวกันกสท ก็กำลังดำเนินการปรับโครงสร้างองค์กรให้เข้ากับ 6 กลุ่มงานตามที่ คนร.กำหนดคือ1.โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม 2. โครงสร้างเสาโทรคมนาคม 3. บริการอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ และเคเบิลใต้น้ำ 4.ธุรกิจโทรศัพท์มือถือ 5.ธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและโทรศัพท์พื้นฐานประจำที่ และ 6. บริการไอที ไอดีซี และคลาวด์ โดยเบื้องต้น คาดว่าจะแบ่งโครงสร้างองค์กรออกเป็น 8 กลุ่ม ส่วนที่เพิ่มมา 2 กลุ่มคือ กลุ่มการเงิน และกลุ่มดูแลสัญญาสัมปทานเพราะสัญญาที่ทำกับดีแทค ยังคงมีอยู่ไปจนถึงปี 2561

*** เน้น 3 กลุ่มธุรกิจดาวรุ่ง

สำหรับกลยุทธ์การตลาดในปี 58 จะเน้นผลักดัน 3 กลุ่มธุรกิจ คือกลุ่มสื่อสารไร้สาย กลุ่มบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต และกลุ่มคลาวด์ ไอดีซี เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีการเติบโตสูง และจะทำให้เป้ารายได้ของกสทในปีหน้าทะลุ 5.2 หมื่นล้านบาทได้อย่างแน่นอน

กลุ่มแรก กลุ่มธุรกิจสื่อสารไร้สาย 'my 3G' ในปี 58จะทุ่มงบ 200 ล้านบาท ในการสร้างแบรนด์อย่างต่อเนื่องไปยังกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ตลอดจนคนทำงานรุ่นใหม่ที่ใช้ดาต้าอยู่เป็นประจำ ซึ่งการสร้างแบรนด์ครั้งนี้ นอกจากจะทำให้ลูกค้าสนใจมาใช้บริการเพิ่มขึ้นแล้วยังหวังเพิ่มความสนใจในกลุ่มดีลเลอร์เพื่อให้มีจำนวนดีลเลอร์ในพื้นที่ต่างๆ เพิ่มขึ้นอีกด้วย โดย my 3G จะขยายสถานีฐานเพิ่มขึ้นอีก 500 สถานีฐาน จากเดิมที่มีอยู่ 13,500 สถานีฐาน จะเพิ่มขึ้นเป็น 14,000 สถานีฐาน ซึ่งสถานีฐานที่เพิ่มขึ้นจะเติมเต็มในส่วนพื้นที่ที่มีความต้องการใช้งานดาต้าหนาแน่นเป็นพิเศษ นอกจากนี้จะดำเนินการปรับปรุงคอลเซ็นเตอร์ และระบบไอทีหลังบ้านเพื่อรองรับการบริการลูกค้าที่เข้ามาสอบถาม หรือเปลี่ยนโปรโมชันได้สะดวกรวดเร็วขึ้น รวมถึงมีการจัดโปรโมชันแพกเกจใหม่ และเพิ่มช่องทางในการเติมเงินมากขึ้น

กสทตั้งเป้าลูกค้า my 3G ปีหน้าไว้ที่ 1 ล้านเลขหมาย เพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่มีลูกค้า 6 แสนราย คิดเป็นรายได้ 2.6 หมื่นล้านบาท โดยเป็นรายได้ที่มาจากการทำตลาดเอง 2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 1 พันล้านบาท และรายได้ที่มาจากการขายส่ง 2.4 หมื่นล้านบาท แต่เป็นรายได้ที่ไม่เพิ่มขึ้น แม้ว่าแผนปีหน้ากสทจะหาตัวแทนเพิ่มขึ้นอีก 5 รายก็ตาม เนื่องจากคาดว่าทั้ง 5 รายกว่าจะเซ็นสัญญา และพร้อมทำการตลาดก็ประมาณกลางปีหน้า จากนั้นต้องใช้เวลาในการหาลูกค้า ดังนั้น จึงยังไม่มีรายได้ในปีหน้า

กลุ่มที่ 2 บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต (FTTx) คาดว่าจะเติบโตถึง 15% ซึ่งเป็นการเติบโตที่สูงกว่าตลาดรวมที่โตเพียง 7-8% เนื่องจากเป็นธุรกิจใหม่ที่กสทเพิ่งเข้าสู่ตลาด สำหรับกลยุทธ์ในการทำตลาดปีหน้า กสทจะรีแบรนดิ้งใหม่เพื่อดึงดูดความสนใจลูกค้า จะมีการขยายโครงข่ายเพิ่มขึ้นอีก 1.5 แสนพอร์ต จากเดิมที่มีอยู่ 1 แสนพอร์ต โดยคาดรายได้ปีหน้าอยู่ที่ 7,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากรายได้ปีนี้ที่ 7,000 ล้านบาท

'การเติบโตของเศรษฐกิจ การส่งเสริมโครงการจากภาครัฐและเอกชน ทำให้ความเจริญขยายสู่พื้นที่รอบนอกและภูมิภาค ประกอบกับการใช้งานอินเทอร์เน็ตของประชากรมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คนจึงต้องการใช้แบนด์วิดท์ที่มากขึ้น ดังนั้น FTTx คือคำตอบที่ทำให้ตลาดนี้เติบโตต่อเนื่อง'

นอกจากการรีแบรนด์แล้ว กสทจะขยายโครงข่าย FTTx ไปยังพื้นที่ของลูกค้ากลุ่มเอกชน เอสเอ็มอี และทำบันเดิลบริการให้เหมาะสมกับธุรกิจของลูกค้า ขณะเดียวกัน จะเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับผู้ที่มีโครงข่ายลาสไมล์อยู่เดิม เช่น ผู้ให้บริการเคเบิลทีวีที่มีโครงข่าย Coaxial และมีฐานลูกค้าเดิม เพื่อช่วยให้เข้าถึงกลุ่มผู้ใช้งานตามบ้านในการเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตพร้อมคอนเทนต์ เช่น ไอพีทีวี วิดีโอ ออนดีมานด์ และเกม

กลุ่มที่ 3 กลุ่มคลาวด์และไอดีซี เป็นกลุ่มที่มีการเติบโตสูงสุด คาดว่าจะมีรายได้ในปีหน้า 850 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่มีรายได้ 600 ล้านบาท โดยผลงานโดดเด่นของกลุ่มนี้คือ บริการไอริสคลาวด์ คาดว่าปีหน้าจะมีรายได้ 200 ล้านบาท เนื่องจากเป็นบริการที่เจ้าของโครงข่ายอย่าง กสท มาให้บริการเอง ดังนั้น จึงมั่นใจได้ถึงศักยภาพของโครงข่าย และมีการกระตุ้นตลาดผ่านกลยุทธ์ต่างๆ เช่น การให้แพกเกจทดลองใช้ การบันเดิลโปรโมชันฟรีคลาวด์ควบกับสัญญาอินเทอร์เน็ต โดยปีหน้ากสทตั้งเป้าจะขยายลูกค้าไปสู่กลุ่มที่เป็นดิจิตอล คอนเทนต์ และดิจิตอล มีเดีย มากขึ้น

โดยภาพรวม กสท จะต้องดำเนินแผนยุทธศาสตร์เพื่อให้รายได้ปีหน้าเป็นไปตามที่คาดไว้นั่นคือ 52,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นรายได้จากโทรศัพท์ระหว่างประเทศ 3,300 ล้านบาท ,โทรศัพท์มือถือ 26,000 ล้านบาท,บรอดแบนด์ 7,500 ล้านบาท ,กลุ่มคลาวด์และไอดีซี 850 ล้านบาท และรายได้จากสัญญาสัมปทาน 12,000 ล้านบาท ที่เหลือ 2,000 กว่าล้านบาท เป็นรายได้อื่นๆ เช่น ดอกเบี้ย เป็นต้น

***เซ็นเอ็มโอยูดีแทคหวังต่อยอดธุรกิจ

เป็นที่ทราบกันดีว่ารายได้หลักของ กสท คือรายได้ที่มาจากสัญญาสัมปทาน แต่เมื่อคู่สัญญาสัมปทานอย่าง บริษัท ทรูมูฟ จำกัด และ บริษัท ดิจิตอลโฟน (ดีพีซี) สิ้นสุดลงเมื่อปี 56 ที่ผ่านมารายได้ของ กสท ก็หายไปหมดตลอดจนลูกค้าที่ทั้ง 2 บริษัทมีรวมอยู่กว่า 7.1 ล้านรายก็ได้รับการเยียวยาจากประกาศของกสทช.ให้ยังคงอยู่ในระบบได้ต่อไป ทำให้ลูกค้าที่ควรจะถูกย้ายมาที่ my 3G ไม่ได้ย้ายมา จน กสท ต้องฟ้องร้องต่อศาลปกครองและคิดมูลค่าเสียหายถึง 2.75 แสนล้านบาท

นี่ยังไม่นับคดีการไม่ส่งมอบเสาโทรคมนาคมคืนตามสัญญา หรือข้อพิพาทต่างๆเรื่องการส่งผลประโยชน์ตอบแทนขาดอีกหลายคดี ด้วยเหตุนี้ทำให้ กสท ต้องเตรียมรับมือกับ ดีแทค ซึ่งเป็นคู่สัญญาสัมปทานรายสุดท้ายที่จะหมดสัญญาลงในปี 2561 และคาดว่าลูกค้าอาจจะย้ายออกจากระบบ 2G ไปสู่ 3G ก่อนหมดสัญญาสัมปทาน ด้วยการลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (เอ็มโอยู) เพื่อเคลียร์ปัญหาข้อพิพาทที่มีร่วมกัน 15-20 คดี ซึ่งเป็นคดีคล้ายๆกับทรูมูฟ ที่สำคัญคือเมื่อหมดสัญญาสัมปทานดีแทคจะต้องส่งมอบเสาโทรคมนาคมให้ตามสัญญาบีทีโอจำนวน 13,500 สถานีนั้น ทั้ง 2 บริษัทจะหาแนวทางในการทำธุรกิจร่วมกันอย่างไรเพื่อให้ กสท ยังคงมีรายได้จากการให้เช่าเสา ขณะที่ดีแทคไม่ต้องลงทุนสร้างเสาโทรคมนาคมใหม่โดยอาจให้บริษัทดีแทค ไตรเน็ต เนคเวอร์ค จำกัด (ดีทีเอ็น) ที่ได้ใบอนุญาตความถี่ 2.1 GHz มาเช่าใช้เสาในสัมปทานต่อไป

ชัยยศ จิรบวรกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทค อธิบายเพิ่มเติมว่า การลงนามความร่วมมือครั้งนี้เป็นนิมิตหมายที่ดีที่ดีแทคและ กสท จะนำข้อพิพาทที่มีร่วมกันมานานในศาลปกครอง และอนุญาโตตุลาการ เกือบ 20 คดี มาหาทางออกร่วมกัน ซึ่งที่ผ่านมา ทั้ง 2 บริษัทได้ตั้งคณะทำงาน และประชุมร่วมกันมาแล้ว 3-4 ครั้ง ทั้งนี้ แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการเจรจาร่วมกันหลายครั้งแต่ไม่ประสบความสำเร็จอาจมาจากความเข้าใจเรื่องการตีความกฎหมายที่ต่างกัน

จนกระทั่งจนถึงยุคคณะผู้บริหารของทั้ง 2 ฝ่ายมีความเห็นตรงกันว่า ถึงเวลาที่จะต้องมาหาทางออกร่วมกัน และเป็นโอกาสอันดีในการเตรียมความพร้อมล่วงหน้าก่อนที่สัญญาสัมปทานของดีแทคจะหมดลงในปี 2561 ว่าจะมีทางออกในการใช้โครงข่ายร่วมกันได้ต่อไปหรือไม่ โดยที่ดีแทคไม่ต้องลงทุนโครงข่ายใหม่ จากปัจจุบันที่ดีแทคมีเสาโทรคมนาคมอยู่ประมาณหมื่นกว่าต้น ดังนั้น เรื่องข้อพิพาทที่ผ่านมาสิ่งไหนควรยอมกันได้ และมาตีความทางกฎหมายให้ตรงกันก็สมควรรีบทำ โดยคาดว่าข้อพิพาทเรื่องเสาโทรคมนาคมจะเป็นข้อพิพาทแรกที่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้ก่อน

ด้าน พ.อ.สรรพชัย กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่สามารถบอกถึงลักษณะข้อตกลงได้ว่าจะเป็นในรูปแบบใด ไม่ว่าจะเป็นการร่วมลงทุน การแปลงทรัพย์สินเป็นทุน หรือการนำเข้ากองทุนเพื่อระดมทุน แต่คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ภายในสิ้นเดือน ธ.ค.นี้ และจะเริ่มดำเนินการในขั้นต่อไปในช่วงเดือน ม.ค.ปีหน้า

Company Related Link :
CAT

Instagram


กำลังโหลดความคิดเห็น