xs
xsm
sm
md
lg

เทียนเหอ2 ซูเปอร์คอมฯ จีนยังไร้เทียมทาน ทิ้งห่างอันดับ 2 เกือบเท่าตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เทียนเหอ 2 (天河 2/Tianhe 2 หรือ Milky Way-2)  พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีกลาโหมแห่งชาติจีน  (China’s National University of Defense Technology) ซึ่งติดตั้งและปฏิบัติการที่ศูนย์ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ (National Supercomputer Center) นครก่วงโจว มณฑลก่วงตง  (ภาพเอพี)
เว็บไซต์ top 500 เผย (18 พ.ย.) อันดับซูเปอร์คอมพิวเตอร์ ซึ่งจัดขึ้นปีละสองครั้ง พบว่าเทียนเหอ-2 พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีกลาโหมแห่งชาติจีนในเมืองฉางซา มณฑลหูหนาน ทางตอนกลางของจีน ยังครองอันดับหนึ่งเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน ด้วยระบบประมวลผลที่มีอัตราการคำนวณสูงสุดตามการออกแบบทางทฤษฎีแล้วเป็น 54.9 เพตาฟลอป(petaflop) ต่อวินาที (หน่วยมาตราฐานรางวัดความเร็วของซูเปอร์คอมพิวเตอร์) หรือมีการประมวลผลที่ยืนยันได้คิดเป็น 33.86 เพตาฟลอปต่อวินาทีซึ่งเท่ากับ 33,860 ล้านล้านคำสั่งต่อวินาที

รายงานฯ อันดับระบุว่า มีความเปลี่ยนแปลงน้อยมาในอันดับซูเปอร์คอมพิวเตอร์ โดยล่าสุดนี้ มีอันดับเปลี่ยนแปลงเพียงอันดับ 10 ได้แก่ Cray CS-Storm ระบบซูเปอร์คอมพิวเตอร์ของหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ มีอัตราการประมวลผลที่ยืนยันได้คิดเป็น 3.57 เพตาฟลอปต่อวินาที

ทั้งนี้ เทียนเหอ 2 (天河 2/Tianhe 2 หรือ Milky Way-2) พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีกลาโหมแห่งชาติจีน (China’s National University of Defense Technology) ซึ่งติดตั้งและปฏิบัติการที่ศูนย์ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ (National Supercomputer Center) นครก่วงโจว มณฑลก่วงตง หรือกวางตุ้ง เข้าประจำการปฏิบัติการได้เร็วกว่ากำหนดที่คาดหมายไว้ 2 ปีนี้ เป็นซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีจุดเด่นห้าประการ คือ ประสิทธิภาพสูงด้วยอัตรารวดเร็วทำสถิติใหม่ของโลก ประหยัดพลังงานถึงระดับชั้นนำของโลก ระบบไม่ซับซ้อน ครอบคลุมทุกการใช้งาน และต้นทุนการผลิตคุ้มค่า โดยมีการเปรียบเทียบว่าปฏิบัติการประมวลผลภายใน 1 ชั่วโมงของเทียนเหอ 2 นี้ เทียบเท่ากับการคำนวณด้วยเครื่องคำนวณในเวลาเดียวกันของคน 1,300 ล้านคน เป็นเวลา 1,000 ปี

สำหรับซูเปอร์คอมพิวเตอร์อันดับสองของโลก ได้แก่ Titan ของบริษัท Cray ติดตั้งอยู่ที่ศูนย์ทดลอง Oak Ridge National Laboratory ของสำนักงานพลังงานแห่งสหรัฐอเมริกา มีการประมวลผลที่ยืนยันได้คิดเป็น 17.59 เพตาฟลอปต่อวินาที

ซูเปอร์คอมพิวเตอร์อันดับสาม ได้แก่ Sequoia ของ IBM (17.17 เพตาฟลอปต่อวินาที) ติดตั้งอยู่ที่ Lawrence Livermore National Laboratory ของสำนักงานพลังงานสหรัฐอเมริกา โดยร่วงลงไปหนึ่งอันดับจากการจัดอับดับครั้งก่อนเช่นกัน

ส่วนซูเปอร์คอมพิวเตอร์อันดับสี่ ได้แก่ “K computer” ของ Fujitsu แห่งแดนปลาดิบ ติดตั้งอยู่ที่ RIKEN Advanced Institute for Computational Science (AICS) ในโกเบ ประเทศญี่ปุน (10.51 เพตาฟลอปต่อวินาที) และอันดับ 5 Mira (8.59 เพตาฟลอป) อันดับ 6 Piz Daint (6.27 เพตาฟลอป) อันดับ 7 Stampede (5.17 เพตาฟลอบ) อันดับ 8 JUQUEEN (5.01 เพตาฟลอป) อันดับ 9 Vulcan (4.29 เพตาฟลอป) อันดับ 10 Cray CS-Storm (3.57 เพตาฟลอป)

ทั้งนี้ การจัดอันดับ TOP500 รวบรวมโดย Hans Meuer แห่ง University of Mannheim ประเทศเยอรมนี Erich Strohmaier และ Horst Simon แห่ง Lawrence Berkeley National Laboratory และ Jack Dongarra แห่ง University of Tennessee ใน นอกซ์วิลล์ รัฐเทนเนสซี สหรัฐอเมริกา


กำลังโหลดความคิดเห็น