เครือข่ายพลเมืองเน็ตชี้การใช้งานอินเทอร์เน็ตไทยยังเสี่ยงด้านข้อมูลส่วนบุคคล เผยเว็บไซต์กว่าครึ่งจากที่สำรวจมีความไม่ปลอดภัยแบบซ้ำซ้อน จี้ กสทช.ใช้เครื่องมือที่มีอยู่ให้ดีมากกว่านี้ และควรจะปรับหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนให้ทันต่อเทคโนโลยีมากขึ้น ด้านนักวิชาการแนะ กสทช.ควรจะแบ่งการดูแลเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนเครือข่ายกับบริการ และส่วนกำกับเนื้อหา ไม่ใช่ดูแลคนเดียว ส่วนสุภิญญา เผยงาน กสทช.ล้นมือเพราะทุกอย่างต้องขึ้นตรงต่อบอร์ด ทำให้งานเดินช้า ส่วนเรื่องเน็ตควรให้อุตสาหกรรมกำกับดูแลกันเอง
ธิติมา อุรพีพัฒนพงศ์ เครือข่ายพลเมืองเน็ต (Thai Netizen Network) กล่าวภายในงานเสวนาหัวข้อ “บทบาทของ กสทช.ในการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ต” จัดโดย โครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม (NBTC Policy Watch) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่า ที่ผ่านมาพบว่า การใช้งานอินเทอร์เน็ตของผู้ให้บริการรายต่างๆ ยังไม่มีความมั่นใจในความปลอดภัยด้านอินเทอร์เน็ตที่ดีพอ
จากการสำรวจของเครือข่ายพลเมืองเน็ตจาก 50 เว็บไซต์ พบว่า กว่าครึ่งไม่ได้มีการเข้ารหัสตั้งแต่ต้นทาง และระบบเครือข่ายที่ไม่ปลอดภัยทำให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจะเกิดปัญหาความไม่ปลอดภัยแบบซ้ำซ้อน นอกจากนี้ เมื่อดูจากใบสมัครใช้บริการอินเทอร์เน็ตพบว่า บางรายไม่ได้บอกเงื่อนไขที่ชัดเจนในกรณีที่เกิดการรั่วไหลของข้อมูล
เช่นเดียวกับเมื่อพิจารณาจากบทบาทของ กสทช.พบว่า แม้จะมีการออกมาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริการโทรคมนาคมที่เกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล สิทธิในความเป็นส่วนตัว และเสรีภาพในการสื่อสารถึงกันโดยทางโทรคมนาคมปี พ.ศ.2553 ตามมาตรา 32 ของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม แต่ที่ผ่านมา ก็ยังพบว่ายังไม่ได้แสดงถึงการกำกับดูแลในมาตรการดังกล่าวตามที่ได้ออกมาตรการไว้
เครือข่ายพลเมืองเน็ตจึงขอเสนอให้ กสทช.นำเครื่องมือที่มีอยู่มาใช้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สนใจต่อปัญหาด้านความปลอดภัย และละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลบนอินเทอร์เน็ตอย่างจริงจัง รวมไปถึงการมุ่งเชิงรุกด้านความปลอดภัยให้มากขึ้นเช่นเดียวกับบริการโทรคมนาคมอื่นๆ และควรทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านความปลอดภัย เป็นตัวกลางในการวินิจฉัยในกรณีที่เกิดข้อสงสัยว่าระบบอินเทอร์เน็ตอาจจะไม่ปลอดภัย และที่สำคัญควรจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทำงานของสำนักรับเรื่องร้องเรียนให้เท่าทันเทคโนโลยี
ด้านนายสุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยโครงการความร่วมมือระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับภาคอุตสาหกรรม กล่าวว่า กสทช.ควรจะให้โอเปอเรเตอร์ หรือผู้ให้บริการนำข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยส่งมาให้ กสทช. และต้องทำการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่ส่งมาด้วยตนเอง ซึ่งจำเป็นต้องต้องมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเรื่องนี้โดยเฉพาะ และเมื่อเกิดเหตุขึ้นเราจะต้องหาองค์กรเข้ามาตรวจสอบ และตัดสินในเรื่องนี้ให้ชัดเจน นอกจากนี้ยังต้องเร่งให้ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยทางด้านอินเทอร์เน็ตให้แก่ประชาชนเพิ่มมากขึ้น และต้องมีการนำเสนอให้สภาปฏิรูปแห่งชาตินำเรื่องนี้เข้าไปเป็นวาระด้วย เพื่อให้เกิดการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม
“ทั้งนี้ในส่วนของ กสทช.เองควรจะแบ่งการกำกับดูแลให้เป็น 2 ส่วน และหาหน่วยงานภายในขึ้นมาดูแลเฉพาะด้าน อย่างเช่น ด้านเครือข่ายและการบริการก็จะมีผู้ดูแลฝ่ายหนึ่ง ส่วนเรื่องการกำกับเนื้อหาก็ให้อีกฝ่ายหนึ่งดูแล ไม่ใช่รวมทั้งหมดไว้ที่เดียวซึ่งจะทำให้เกิดความยุ่งยากในการปฏิบัติงานเหมือนที่ผ่านมา”
น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา กสทช.เองมีบทบาท และหน้าที่ซึ่งต้องทำเป็นจำนวนมาก แต่ด้วยการนำทุกอย่างไว้ที่ศูนย์กลางจึงทำให้การดำเนินการในเรื่องต่างๆ มีความล่าช้า ทั้งที่ในความเป็นจริงการทำงานของ กสทช.ควรจะกระจายอำนาจให้มากขึ้น ให้ผู้อำนวยการของแต่ละสำนักได้ทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่ เพื่อให้ทุกเรื่องดำเนินการได้เร็วขึ้น ไม่ใช่ทุกอย่างต้องส่งให้บอร์ดพิจารณาอย่างเดียว หากบอร์ดไม่พิจารณาก็จะไม่มีการเดินหน้าทำ
สำหรับในเรื่องการกำกับดูแลเรื่องอินเทอร์เน็ตนั้น ต้องมองในหลายมิติ และไม่ใช่เพียงให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ เนื่องจากถือเป็นเรื่องใหม่ที่แม้ในต่างประเทศเองก็ยังไม่ได้มีกฎหมายที่ชัดเจนในเรื่องนี้มากนัก ดังนั้น จึงควรที่จะศึกษาบทเรียนจากต่างชาติแล้วนำเข้ามาผสมผสานความความเป็นไทยของเราก่อนแล้วจึงค่อยๆ ปรับไป ซึ่งต้องมีการวางกรอบที่มากกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ เนื่องจากมีการผลิตเนื้อหาที่มาจากหลายที่
“ทางออกที่ดีที่สุดน่าจะอยู่ที่การส่งเสริมให้อุตสาหกรรมดูแลกันเอง ให้ใช้มาตรฐานการทำงานที่สอดคล้องตามหลักสากล โดย กสทช.ต้องเป็นผู้ออกกฎควบคุมการทำงาน นอกจากนี้ ยังต้องใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ควบคุมผู้กระทำผิดอย่างแท้จริง แล้วให้กระทรวงไอซีทีเป็นผู้ดำเนินการสั่งฟ้องพวกแฮกเกอร์ หรือผู้กระทำผิดจากการฉ้อโกงทางอินเทอร์เน็ต ไม่ใช่ใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าวจัดการต่อพวกหมิ่นประมาทเพียงอย่างเดียว และที่สำคัญต้องสอนให้ผู้ใช้งานรู้เท่าทันอินเทอร์เน็ต และเทคโนโลยี โดยต้องเริ่มตั้งแต่การสอนนักเรียนนักศึกษาให้รู้ตั้งแต่เริ่มใช้งานคอมพิวเตอร์”
Company Relate Link :
กสทช.