เอไอเอส กลุ่มสิงค์เทล ซัมซุง เดินหน้าความร่วมมือระดับภูมิภาค ภายใต้รูปแบบโคมาร์เกตติ้ง โคดิเวลล็อป ร่วมลงทุนประเดิมจัดแข่ง Regional Mobile App Challenge ค้นหาสุดยอดแอประดับภูมิภาค พร้อมพัฒนาสู่ตลาดในประเทศและระดับภูมิภาค หวังสร้างความแตกต่างโอเปอเรเตอร์รายอื่นด้วยแอป เด่น โดนใจ
นายสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวถึงความคืบหน้าของความร่วมมือระหว่างเอไอเอส กลุ่มสิงค์เทล และซัมซุง ว่า เป็นความร่วมมือที่อยู่ภายใต้ข้อตกลงด้านโคมาร์เกตติ้ง โคดิเวลล็อป ตลอดจนการลงทุนร่วมกันโดยปัจจุบันมีความคืบหน้าไปมาก เพื่อให้มีรูปแบบบริการใหม่ๆ เพื่อให้เกิดความแตกต่างด้านการตลาดกับโอปอเรเตอร์รายอื่น โดยในช่วงแรกจะเน้นในรูปแบบอีโคซิสเต็มส์ และพร้อมไปลงทุนร่วมกันเมื่อโอกาสเหมาะ โดยมองว่าการได้ซัมซุงเข้าร่วมเป็นข้อดีที่สามารถเลือกโปรดักต์รุ่นที่เหมาะสมเพื่อทำตลาดกับเอไอเอส หรือสิงค์เทลเท่านั้นได้
ทั้งนี้ การทำงานในช่วงแรกเป็นการนำเอาศักยภาพ และจุดแข็งจากประสบการณ์ ความชำนาญในการให้บริการของประเทศสมาชิกในด้านต่างๆ มาผนึกกำลังกันเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เพื่อนำเสนอบริการแบบพิเศษให้แก่ลูกค้าของทั้ง 6 โอเปอเรเตอร์ จาก 6 ประเทศสมาชิก 23 ตลาด รวมลูกค้ากว่า500 ล้านรายทั่วภูมิภาค ประกอบไปด้วย สิงค์เทล ประเทศสิงคโปร์, ออพตัสประเทศออสเตรเลีย, เอไอเอส ประเทศไทย, แอร์เทล ประเทศอินเดีย และแอฟริกา, โกลบ เทเลคอม ประเทศฟิลิปปินส์ และเทลคอมเซล ประเทศอินโดนีเซีย
นายปรัธนา ลีลพนัง รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานการตลาด เอไอเอส กล่าวว่า เอไอเอส กลุ่มสิงค์เทล และซัมซุง มีความต้องการที่จะผนึกกำลังกันพัฒนาดิจิตอลโซลูชัน และโมบายแอปพลิเคชันในระดับภูมิภาค และให้บริการทั้งในแต่ละประเทศสมาชิก และระดับภูมิภาค เริ่มจากการคัดเลือกทีม Startup ในแต่ละประเทศมาเพื่อแข่งขันในระภูมิภาค
ล่าสุด กลุ่มมีการผนึกกำลังกันจัดงาน Regional Mobile App Challenge เพื่อการแข่งขันค้นหาสุดยอดดิจิตอลโซลูชัน และแอปพลิเคชันแห่งภูมิภาค ที่ประเทศสิงคโปร์ โดยแต่ละโอเปอเรเตอร์ในกลุ่มสมาชิกได้ส่งทีม Startup เข้าแข่งขัน รวม 6 ทีมจาก 6 โอเปอเรเตอร์ ซึ่งตัวแทนของประเทศไทย ได้แก่ ทีม Nugrean (นักเรียน) ซึ่งเป็นทีมชนะเลิศหมวด Corporate Solution จากโครงการ AIS The StartUp 2014 Growing with Partnership โดยเป็นโซลูชันครบวงจรที่ช่วยให้ผู้ปกครอง และครูสามารถดูแลความปลอดภัยของเด็กนักเรียนตลอดการเดินทางระหว่างโรงเรียนและบ้าน ด้วยระบบการติดตามนักเรียนแนวใหม่ผ่าน อุปกรณ์ติดตามแบบพกพาสะดวกสำหรับนักเรียน ที่มาพร้อมแอปพลิเคชันบนมือถือ ประกอบไปด้วย แอปสำหรับอาจารย์เพื่อเช็กรายชื่อนักเรียนที่ใช้บริการรถโรงเรียน และอีกหนึ่งแอปสำหรับพ่อแม่และผู้ปกครองให้สามารถติดตามบุตรหลานได้แบบเรียลไทม์
สำหรับผลการแข่งขัน ทีมที่ชนะ Regional Mobile App Challenge ได้รับเงินรางวัล 10,000 ดอลล่าสิงคโปร์ พร้อมโอกาสในการก้าวสู่โลกธุรกิจระดับสากล โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดกับซัมซุง และเครือสิงค์เทล ที่มีฐานลูกค้ามากกว่า 500 ล้านราย ใน 23 ตลาดทั่วโลก พร้อมสิทธิประโยชน์ในการทำงานต่างประเทศ เช่น การพัฒนาธุรกิจแบบข้ามพรมแดน การสนับสนุน Co-Working Space ในต่างประเทศ คือ ทีม Wattcost จากออพตัส ประเทศออสเตรเลีย โดยเป็นโซลูชันที่จะเปลี่ยนบ้านธรรมดาให้กลายเป็น Smart Home ในอนาคต ด้วยระบบเครื่องเตือนไร้สายที่เชื่อมเข้ากับมาตรวัดไฟฟ้าภายในบ้าน ทำงานควบคู่กับแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน ที่จะช่วยแจ้งเตือนการใช้ไฟฟ้าภายในบ้านแบบเรียลไทม์ โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้เจ้าของบ้านประหยัดค่าไฟฟ้าได้ยิ่งขึ้น
“แอปพลิเคชันที่ได้รางวัลนี้น่าสนใจอย่างมาก ทั้งสามารถนำไปใช้งานได้จริง มีความเป็นไปได้ที่เอไอเอสจะนำไปพัฒนาต่อเพื่อให้บริการในประเทศไทย และแม้ทีมไทยไม่ได้รางวัลแต่ก็เป็นแอปพลิชันที่ดีซึ่งก็มีความเป็นไปได้ที่จะทำไปใช้ในประเทศไทยเช่นกัน” สมชัย กล่าว
นายปรัธนา กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้นำไปสู่ความต้องการของเอไอเอส และกลุ่มสิงค์เทล และซัมซุง ที่ต้องการมอบ Total Solutions ที่สมบูรณ์แบบให้แก่ผู้ใช้บริการมือถือในระดับภูมิภาค ซึ่งข้อดีของ Startup คือ การนำเสนอความคิดใหม่ๆ ขณะที่โอเปอเรเตอร์ก็จะเป็นผู้นำเสนอแอปพลิเคชันนี้ออกสู่ตลาดกลุ่มผู้ใช้เป้าหมาย การมีแอปพลิชันที่หลากหลาย ซึ่งก็ไม่จำเป็นต้องเป็นแอปที่ใหญ่ แต่สามารถตอบสนองลูกค้าได้ตรงจุดก็สามารถสร้างรายได้เช่นกัน
ในขณะที่สมชัย มองว่า โกลบ เทเลคอม มีความต้องการเปลี่ยนแปลงตัวเองจากเน็ตเวิร์กโพรวายเดอร์ ไปเป็นดิจิตอลเซอร์วิสโพวายเดอร์ เป็นแนวคิดที่เหมือนเอไอเอส แสดงให้เห็นทิศทางของโลกที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไป การพัฒนาไปสู่ 3G และ 4G เป็นแนวทางที่ทุกโอเปอเรเตอร์ต้องเดินไปอยู่แล้ว แต่สิ่งที่จะสร้างความแตกต่างคือ การนำเสนอแอปพลิเคชันที่โดนใจ ที่ผ่านมา อินทัชใช้เงินประมาณ 200 กว่าล้านบาท ร่วมลงทุนในกว่า 10 บริษัท ในจำนวนนี้มีหลายบริษัทที่เป็นStartup
“ยังบอกไม่ได้ว่าภายใน3-5 ปี จะมีรายได้เท่าไร สิ่งที่เอไอเอสทำคือ พยายามหาตลาดใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นก่อน โดยตั้งเป้าหมายว่าจะให้มีแอปเกิดใหม่ประมาณ 10-20 ตัว ซึ่งอาจไปถึงระดับภูมิภาค 1-2 ตัวก็เป็นไปได้ จากปัจจุบัน Startup ของเอไอเอสมีอยู่ประมาณ 2-3 พันราย ที่แอ็กทีฟปัจจุบันประมาณ 2-300 ราย ส่วนมากเป็นโคมาร์เกตติ้ง”
Company Related Link :
เอไอเอส