เมื่อวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา กลุ่มสิงค์เทลประกาศการเป็นพันธมิตรในระดับภูมิภาคกับซัมซุง เปิดแนวรบใหม่ด้านโมบายดาต้า รองรับเครือข่ายทั้ง 3G และ 4G เพื่อสร้างความได้เปรียบให้ 6 โอเปอเรเตอร์ในสังกัดที่มีฐานลูกค้ารวมในมือกว่า 500 ล้านคน ประกอบไปด้วย สิงค์เทล ประเทศสิงคโปร์ , ออพตัส ประเทศออสเตรเลีย , เอไอเอส ประเทศไทย , แอร์เทล ประเทศอินเดียและแอฟริกา , โกลบ เทเลคอม ประเทศฟิลิปปินส์ และเทลคอมเซล ประเทศอินโดนีเซีย ที่จะทำงานร่วมกันเพื่อสร้างความแตกต่างในการให้บริการของประเทศสมาชิก และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
พอล โอ ซัลลิแวน ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มคอนซูเมอร์ สิงค์เทล เชื่อว่าความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นการยกระดับการใช้งานโมบายดาต้า โดยพัฒนาในรูปแบบบริการและแอปพลิเคชันสำหรับลูกค้าในเครือข่ายทั้ง 6 ประเทศของกลุ่มสิงค์เทล ซึ่งในปีแรกจะเห็นการบันเดิลแอปพลิเคชันเฉพาะบนซัมซุงเอส 5 รวมทั้งจะเกิดบริการเรียกเก็บเงินค่าซัมซุงแอปผ่านบิลโทรศัพท์มือถือ และจะเห็นความร่วมมือด้านค้าปลีกให้ลูกค้าสามารถซื้อซัมซุงพร้อมแพกเกจได้สะดวกมากขึ้น ที่สำคัญจะเห็นความร่วมมือในการพัฒนาโมบายแอปจากกลุ่มสตาร์ทอัปในแต่ละประเทศ
ด้านมาร์ค ชอง ชิน ก็อก ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มคอนซูเมอร์ระหว่างประเทศ สิงค์เทล ย้ำว่าในปีนี้กลุ่มสิงค์เทลวางงบลงทุนเครือข่ายทั้ง 2G 3G และ 4G รวม 6 โอเปอเรเตอร์มากถึง 7 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ โดยมุ่งให้ความสำคัญกับตลาดที่ทำรายได้มากไล่ตั้งแต่อินโดนีเซีย อินเดียและประเทศไทย ตามลำดับ
'ในไทยตามแผนที่วางไว้จะใช้เงินลงทุน 9 หมื่นล้านในการขยายโครงข่าย 3G ในเวลา 2 ปี จนถึงตอนนี้ใช้ไปแล้วประมาณ 50% โดยตั้งเป้าจะมีสถานีฐาน 3G 2.1 GHz ทั้งหมด 2 หมื่นสถานีฐาน'
ปรัธนา ลีลพนัง รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานการตลาด เอไอเอส กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความสามารถของกลุ่มสิงค์เทล ที่นำเอาศักยภาพและจุดแข็งจากประสบการณ์ ความชำนาญในการให้บริการด้านต่างๆของประเทศสมาชิกมาผนึกกำลังกัน เพื่อส่งมอบข้อเสนอสุดพิเศษแบบที่ไม่มีใครเทียบได้ให้แก่ลูกค้าของทั้ง 6 โอเปอร์เรเตอร์จาก 6 ประเทศสมาชิก ซึ่งแต่ละตลาดของบริษัทในกลุ่มสมาชิก ต่างมีอัตราการใช้โทรศัพท์มือถือที่ใช้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเติบโตเป็นอย่างมาก โดยปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบสำคัญก็คือ ความต้องการใช้งานเครื่องสมาร์ทโฟน และ แอปพลิเคชันจาก การใช้งานโมบายดาต้า ดังนั้นกลุ่มสิงค์เทลจึงสนับสนุนทุกโอเปอร์เรเตอร์ในกลุ่มประเทศสมาชิกอย่าง เต็มที่ทุกทาง เพื่อทำให้การใช้งานดาต้าเติบโตมากยิ่งขึ้น
สำหรับในไทยจำนวนผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนมีประมาณ 15% ของจำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนซึ่งถือว่ามาก และในปีนี้จะมีบริการ 3Gใช้งานครอบคลุมเต็มที่ซึ่งเป็นโอกาสที่จะเข้าถึงกลุ่มผู้ใช้งานใหม่ๆ โดยเฉพาะบริการที่ผ่านทางโมบาย ดาต้า การจับมือในระดับโกลบอล จะทำให้ได้สเกลในการพัฒนา และสร้างความแตกต่างในบริการที่เป็นประโยชน์ นอกจากนี้ซัมซุงยังเป็นแบรนด์ที่มีส่วนแบ่งในตลาดสูงมาก ซึ่งในตลาดรวมเชื่อว่าใน 100 เครื่อง เป็นมือถือซัมซุงแล้ว 60 เครื่อง
ทั้งนี้ภายใต้ความร่วมมือกับซัมซุงอาทิการทำงานร่วมกันในด้านแผนการค้าปลีก , การเรียกเก็บค่าบริการโดยตรง , การพัฒนาโมบายแอปพลิเคชันในระดับภูมิภาค และการเข้าถึงแอปพลิเคชันที่เลือกสรรเป็นพิเศษโดยมีรายละเอียดของแต่ละด้าน ดังนี้
1.ความร่วมมือด้านการค้าปลีก ความร่วมมือด้านค้าปลีกจะทำให้ประสบการณ์ของลูกค้าเป็นเรื่องง่าย ด้วยการให้บริการแบบครบวงจร สำหรับความต้องการที่เกี่ยวกับสมาร์ทโฟน ในร้านของซัมซุงและร้านของบริษัทในกลุ่มสมาชิก โดยปกติลูกค้าเหล่านี้จะซื้อโทรศัพท์มือถือจากผู้จำหน่ายอุปกรณ์ และซื้อแพกเกจการใช้งานจากผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ความร่วมมือนี้จะทำให้ทั้ง 6 บริษัทสมาชิกในกลุ่มสิงค์เทล รวมทั้งซัมซุงมีความเข้มแข็งขึ้น เพราะสามารถให้บริการแบบครบวงจรได้ โดยได้เริ่มให้บริการนี้แล้วสำหรับลูกค้าของโกลบเทเลคอมในฟิลิปปินส์ และจะขยายไปสู่ลูกค้าของแอร์เทล ในอินเดีย และ เทลคอมเซลในอินโดนีเซีย ในลำดับต่อไป
2.การเรียกเก็บค่าซัมซุงแอปผ่านบิลโทรศัพท์มือถือ สิงค์เทล (สิงคโปร์) เป็นกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมแห่งแรกในอาเซียนที่เสนอการเรียกเก็บค่าซื้อซัมซุงแอป ผ่านบิลโทรศัพท์มือถือ ทำให้ลูกค้าโพสต์เพดสามารถซื้อแอปและคอนเทนท์จากซัมซุงแอปได้โดยไม่ต้องใช้ บัตรเครดิต สำหรับระบบพรีเพดก็จะหักค่าซัมซุงแอปจากยอดเงินคงเหลือในระบบทันทีที่ซื้อ จึงทำให้ฐานลูกค้าที่จะเกิดขึ้นในตลาดเกิดใหม่มีทางเลือกสำหรับการจ่ายเงิน เพิ่มขึ้น โดยการริเริ่มนี้จะขยายไปสู่ลูกค้าของเอไอเอส ประเทศไทย , โกลบเทเลคอม ในฟิลิปปินส์ และเทลคอมเซล ในอินโดนีเซีย
3.การเข้าถึงแอปพลิเคชันโดยตรง ซัมซุง และกลุ่มสิงค์เทล ดิจิตอล ไลฟ์ โดยจะทำให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการโดยตรงผ่านทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยไม่ต้องดาวน์โหลด แอปพลิเคชัน ซึ่งจะถูกปรับให้เป็นไปตามความต้องการ และเนื้อหาที่เหมาะสมในแต่ละท้องถิ่นโครงการนี้จะเกิดขึ้นสำหรับลูกค้าของเอไอเอส ประเทศไทย โกลบเทเลคอม ฟิลิปปินส์ และเทลคอมเซล อินโดนีเซีย โดยเริ่มต้นที่ ซัมซุง แกแล็กซี่ เอส 5
4.การพัฒนาโมบายแอป สมาชิกของกลุ่มสิงค์เทล และซัมซุง กำลังร่วมมือกันก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เช่นโครงการสนับสนุนการพัฒนาโมบายแอปที่จะคัดเลือกกลุ่มเทคสตาร์ทอัปในภูมิภาค ช่วยสนับสนุน เร่งรัดการพัฒนา และส่งมอบไปยังฐานลูกค้ากว่า 500 ล้านคนในกลุ่มประเทศสมาชิก นักพัฒนาที่ถูกคัดเลือกจากโครงการนี้ จะมีโอกาสในการทำตลาดแอปผ่านช่องทางการตลาดของแต่ละโอเปอเรเตอร์ไม่ว่าจะเป็นสิงค์เทล สิงค์โปร์, ออพตัส ออสเตรเลีย, เอไอเอส ประเทศไทย, โกลบ เทเลคอม ฟิลิปปินส์ และเทลคอมเซล อินโดนีเซีย
'ทั้งนี้ ในการร่วมมือกันสนับสนุนนักพัฒนารุ่นใหม่นั้น นอกเหนือจากเอไอเอสจะร่วมมือกับกลุ่มสิงค์เทล ภายใต้ Innov8 Sparks แล้ว ในปีนี้ เรายังได้ผนึกกำลังกับซัมซุง ประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญ ในการร่วมส่งเสริมและผลักดันธุรกิจ Tech Startup ก้าวสู่ระดับสากล ด้วยบิสิเนสโมเดลที่ช่วยเร่งการเจริญเติบโตทางธุรกิจแบบ Fast Track ซึ่งจะได้รับการสนับสนุนให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างประเทศ รวมถึงการผสมผสานผลงานทั่วภูมิภาค ยกระดับเป็น Regional Community เพื่อเหล่า Startup อย่างแท้จริง'
ล่าสุดได้ผนึกกำลังกัน มอบโอกาสการก้าวสู่โลกธรุกิจระดับสากลให้กับผู้เข้าแข่งขันโครงการ AIS The StartUp 2014 ในปีนี้ โดยทุกผลงานที่ส่งเข้าร่วมแข่งขัน มีโอกาสได้รับการพิจารณาคัดเลือกให้รับรางวัลพิเศษ ได้แก่ เงินสด 6,000 เหรียญสหรัฐและเป็นตัวแทนจากประเทศไทยเข้าร่วมอบรมโครงการ Regional Accelerate ที่ประเทศสิงคโปร์ พร้อมโอกาสนำเสนอผลงานในวัน Demo Day ต่อหน้านักลงทุนชั้นนำจากทั่วทุกมุมโลก และผู้บริหารจากผู้ให้บริการเครือข่ายหลากหลายภูมิภาคในเครือ และผู้บริหารซัมซุงพร้อมรับสิทธิเป็นสมาชิก Innov8 Sparks ซึ่งได้รับสิทธิประโยชน์ในการทำงานต่างประเทศ เช่น การพัฒนาธุรกิจแบบข้ามพรมแดน, การสนับสนุน Co-Working Space ในต่างประเทศ เป็นต้น โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดกับ ซัมซุงซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดการขายที่ใหญ่ที่สุดในโลก มากกว่า 50% และเครือสิงค์เทลที่มีฐานลูกค้ามากกว่า 500 ล้านรายใน 23 ตลาดทั่วโลก
ในส่วนของเอไอเอสนั้น คาดว่าในปี 2557 จะมีรายได้จากการให้บริการเติบโตขึ้น 6-8% ยอดลูกค้าในระบบ 3G 2.1 GHz มีจำนวน 75% ของลูกค้าทั้งหมด โดย 50% ของลูกค้าระบบ 3G 2.1 GHz ใช้ 3G ดีไวซ์ ส่วนการลงทุนด้านโครงข่ายนั้นจะใช้เงินราว 4 หมื่นล้านบาท โดยตั้งเป้าจะมีจำนวนสถานีฐาน 3G 2.1 GHz ทั้งหมด 2 หมื่นสถานีฐานซึ่งครอบคลุม 95% ของจำนวนประชากรในประเทศไทย กล่าวคือมีโครงข่ายที่ครอบคลุมเทียบเท่า 2G ปัจจุบัน
ส่วนผลประกอบการในปีที่ผ่านมานั้น จำนวนลูกค้าของเอไอเอสมีทั้งหมด 41 ล้านรายแบ่งเป็นลูกค้า 3G 2.1GHz จำนวน 16.4 ล้านรายและลูกค้า 2G จำนวน 24.5 ล้านราย ตัวเลขรายได้อยู่ที่ 112,528 ล้านบาท เติบโตขึ้น 3.9% จากปีก่อนหน้า โดยสัดส่วนรายได้นอนวอยซ์อยู่ที่ 29% ของรายได้ทั้งหมด เติบโตขึ้น 24% จากปีก่อนหน้า จำนวนผู้ใช้ดาต้าอยู่ที่ 14 ล้านราย โดยจำนวนการใช้งาน Mobile data usage เติบโตถึง 85% (นับจากปริมาณการใช้งานเป็น MB) และมีจำนวนการใช้งานสมาร์ทดีไวซ์ คิดเป็น 27% ของฐานลูกค้าทั้งหมดเพิ่มขึ้น 17% จากปีก่อนหน้า
'รายได้ดาต้าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต จากปัจจุบันที่รายได้หลักยังมาจากวอยซ์ ประมาณ 70% ในขณะที่ต่างประเทศรายได้นอนวอยซ์เติบโตไปถึง 60% ซึ่งเราเชื่อว่าอนาคตเอไอเอสก็จะเติบโตไปอย่างนั้น'
Video Related Link :
Company Related Link :
AIS
CyberBiz Social