ไอบีเอ็ม (IBM) ประกาศเทเงินลงทุน 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 9.6 หมื่นล้านบาทเพื่อพัฒนาชิปอัจฉริยะตลอด 5 ปีนับจากนี้ บนความหวังว่าจะสามารถสร้างชิปทรงพลังที่จะทำให้ IBM กลับมามีอิทธิพลในตลาดฮาร์ดแวร์อีกครั้ง
การประกาศแผนลุยวิจัยและพัฒนาชิปประมวลผลครั้งนี้ของ IBM เกิดขึ้น 1 สัปดาห์ก่อนการประกาศผลประกอบการไตรมาส 2 ของปี 2557 โดยไตรมาสที่ผ่านมา IBM ระบุว่าธุรกิจฮาร์ดแวร์ของบริษัทมีสัดส่วนตกต่ำลงมากกว่า 23% จากปีก่อนหน้า ซึ่งทำให้ไตรมาสต้นปี 2557 ของ IBM เป็นไตรมาสที่ IBM มีรายได้ต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี
สำหรับความเคลื่อนไหวครั้งนี้ IBM คาดหวังว่าจะค้นพบวิธีพัฒนาชิปซิลิกอนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็จะวิจัยเพื่อหาวัสดุใหม่สำหรับผลิตชิป เช่นวัสดุประเภทคาร์บอนนาโนทูบ (carbon nanotube) ที่มีความเสถียรกว่าซิลิกอน และยังป้องกันความร้อนได้ดีกว่า แถมยังสามารถเชื่อมต่อกับระบบได้เร็วขึ้น
ทอม โรซามิลเลีย (Tom Rosamilia) รองประธานอาวุโส กลุ่มเทคโนโลยีและระบบของ IBM ให้สัมภาษณ์ว่าการประกาศแผนลงทุนนี้ถือเป็นสารที่ส่งถึงนักลงทุนของ IBM ว่าเรากำลังมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมที่จำเป็นมากในโลกการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่หรือ big data analytic จุดนี้ผู้บริหาร IBM เชื่อว่าโลกในยุคบิ๊กดาต้าจะต้องการระบบและเทคโนโลยีมากมาย ซึ่งเทคโนโลยีชิปทรงพลังคือ 1 ในส่วนผสมที่โลกบิ๊กดาต้าจะมีความต้องการอย่างมากในรอบ 10 ปีนับจากนี้
เม็ดเงิน 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ นี้ถือว่าเทียบเท่ากับครึ่งหนึ่งของงบประมาณวิจัยและพัฒนาที่ IBM เตรียมไว้ในปี 2556 ที่ผ่านมา สัดส่วนนี้สะท้อนว่า IBM กำลังให้ความสำคัญกับการเบนเข็มจากธุรกิจผลิตชิป มาเป็นผู้พัฒนาลิขสิทธิ์ผลิตชิป ซึ่งจะทำให้ IBM สามารถทำเงินจากสิทธิบัตรเทคโนโลยีที่พัฒนาได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ จุดนี้คาดว่าเป็นผลจากการเข้าซื้อกิจการบริษัทผู้ผลิตชิป “โกลบอลฟันดรีย์ส (Globalfoundries Inc.)” ที่กำลังจะบรรลุขั้นตอนการซื้อกิจการเต็มรูปแบบในเร็ววันนี้