ชาวไอทีทั่วโลกได้เห็นสินค้าไอทีราคาประหยัดจากผู้ผลิตเอเชียวางจำหน่ายจนชินตาในฐานะ”สินค้าทางเลือก” ผู้ใช้ส่วนใหญ่สามารถซื้อหาสินค้าเหล่านี้มาใช้งานได้ในราคาสบายกระเป๋าจนทำให้นักวิเคราะห์ยกให้สินค้ากลุ่มนี้เป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนตลาดไอทีชิ้นสำคัญที่จะทำให้ผู้ใช้มีความคุ้นเคยและพร้อมรับกับเทคโนโลยีใหม่ในอนาคตได้เร็วขึ้น ความสำคัญนี้เองที่ทำให้การติดตามความเคลื่อนไหวในวงการ”ตลาดไอทีทางเลือก” เป็นเรื่องน่าสนใจไม่แพ้ตลาดต้นตำรับ โดยแหล่งข้อมูลบอกเทรนด์ตลาดไอทีทางเลือกเอเชียชั้นดีที่สุดคืองาน Computex 2014 ที่เพิ่งจบไป
งาน Computex ปีนี้ “ผู้จัดการไซเบอร์”ได้รับเกียรติจากบล็อกเกอร์ด้านไอทีอย่าง “ไทยเทค (@thaitech)” รับหน้าที่เหยี่ยวข่าวอิสระเพื่อเก็บภาพและเทรนด์ไอทีที่ร้อนแรงที่สุดแห่งปี 2014 ซึ่งผลสรุปจากบทความนี้บอกได้เลยว่า กองทัพสินค้าไอทีคุณสมบัติสุดเลิศที่บริษัทซีกโลกตะวันตกตั้งใจจะวางขายในราคาแพงนั้น มีคิวบุกตลาดโลกแน่นอนชนิดที่ผู้ใช้ไม่ต้องรอคอยอีกต่อไป
***ควันหลง Computex 2014 ก็อป-แปลก-แหวก-ล้ำ!
โดย ไทยเทค @thaitech
งานอีเว้นท์เทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดของไต้หวันอย่าง “คอมพิวเทค (Computex)” จัดต่อเนื่องกันมากว่า 30 ปี และปีนี้ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-7 มิถุนายน 2557 ที่ผ่านมา ภายในงานปีนี้มีของเล่นเด่นที่เต็มไปด้วยเทรนด์ไฮเทคที่ทั่วโลกพูดถึงอย่าง เครื่องพิมพ์ 3 มิติ, internet of things, บ้านอัจฉริยะ ฯลฯ ซึ่งโอกาสนี้ บล็อกเกอร์ด้านไอทีอย่าง “ไทยเทค (@thaitech)” รับหน้าที่เหยี่ยวข่าวอิสระเดินทัวร์ทุกฮอลผ่านนับพันบูธตลอด 5 วันเต็มเพื่อเก็บภาพ ความรู้ด้านเทรนด์ไอทีที่ร้อนแรงที่สุดแห่งปี 2014 มาฝากแฟนๆ Cyberbiz ให้ตามไปทัวร์ด้วยกัน!
***ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับงานคอมพิวเทค
งานคอมพิวเทคเดิมทีเป็นงานที่มีเป้าหมายให้โรงงานผลิตสินค้าไอที ตั้งแต่ชิป ฮาร์ดแวร์ ได้พบปะกับคู่ค้าจากต่างประเทศ เพื่อสั่งซื้อสินค้าจากโรงงานไปติดแบรนด์ตัวเองเพื่อส่งขายในต่างประเทศ โดยในงานจะมีการโชว์นวัตกรรมใหม่ ของโรงงานผู้ผลิตจากทั้งโรงงานที่มีและไม่มีแบรนด์ของตัวเอง จึงคล้ายกับงาน CES ที่ลาสเวกัส แต่ในขณะเดียวกัน วันสุดท้ายของงาน ก็มีการขายสินค้าที่นำมาจัดแสดงด้วย จึงมีส่วนคล้ายกับงานคอมมาร์ทและไทยโมบายของไทยเช่นกัน
***คนไทยกลุ่มไหนเหมาะจะมางานคอมพิวเทค?
- บริษัทประมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าไอที เช่น แท็ปเบล็ต อีบุ๊ก คอมพิวเตอร์ ฯลฯ : สามารถสั่งสินค้าล็อตใหญ่กับโรงงานผลิตโดยตรง (บางบริษัทรับดูแลครบวงจร ตั้งแต่ ติดแบรนด์ตัวเองได้ ทำคู่มือ ลงภาษาไทย และใส่กล่องเสร็จสรรพ)
- พ่อค้าคนกลาง (รายใหญ่ของจังหวัด) เข้ามาดูเทรนด์สินค้าไอทีใหม่ๆ เพื่อจัดหาแคตตาล็อกหรือตัวอย่างสินค้าไปทดลองวางตลาด โดยได้โอกาสติดต่อกับโรงงานโดยตรง
- คนวงการไอที บล็อกเกอร์: อัปเดทเทรนด์สินค้าใหม่ ทดลองเล่นสินค้าตัวอย่าง
สถานที่จัดงาน
สถานที่จัดงานจะจัดอยู่ที่ 3 ที่หลัก คือ 1. ไทเป เวิล์ดเทรด เซ็นเตอร์ (ปีนี้ขึ้นรถไฟฟ้าลงสายสีแดงมาลงที่สถานี Taipei 101 ที่เพิ่งเปิดใหม่ได้เลย) 2. ศูนย์ประชุมแห่งชาติไทเป (TICC: taipei international convention center) เน้นการเปิดห้องประชุมสัมมนา 3. ศูนย์นิทรรศการหนานกั่ง จุดเด่นคือ บูธของแบรนด์ใหญ่จากไต้หวัน โซนสินค้าที่ได้รับรางวัลจากคณะกรรมการและคนเข้าชมงาน ได้แก่ Best Choice Awards, งานสินค้าที่ออกแบบโดดเด่นของไต้หวัน (Taiwan Excellent)
โดยผู้ร่วมงานทุกคนจะต้องลงทะเบียนก่อนเข้างาน โดยผ่านทางออนไลน์ (www.computex.biz) และลงทะเบียนหน้างาน (บัตรเข้างานจะใช้โดยสารรถไฟฟ้าจากเวิล์ดเทรดไปหนานกั่งและที่อื่นๆของไทเปได้ฟรีตลอดงานแบบไม่จำกัดเที่ยวอีกด้วย) นอกจากนี้ยังดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น แผนที่บูธต่างๆ และดูกิจกรรมการสัมนาของงานผ่านทางมือถือได้อีกด้วย ปี 2014 นี้ทางทีมผู้จัดงานคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงาน 130,000 คน โดยประเทศไทยติด 1 ใน 10 ของประเทศที่เข้าชมงานคอมพิวเทคมากที่สุดด้วย
-------------------------------
ก่อนอื่นผู้เขียนต้องขอเล่าว่านี่เป็นครั้งที่ 2 ที่ได้มาร่วมงานคอมพิวเทค (ปีที่แล้วเป็นปีแรก) สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ เทรนด์ของผู้ผลิตเปลี่ยนไป หลายบริษัทใหญ่จากที่เคยเน้นทำโซลูชั่นสำหรับองค์กร ก็หันมาผลิตแกดเจ็ทเข้าถึงตัวผู้บริโภคโดยตรงมากขึ้น
เทรนด์ที่ใหญ่ที่สุดและถือเป็นไฮไลท์ของปีนี้ก็คือ Internet of things คือ แกดเจ็ทเล็กๆ ที่เมื่อเชื่อมต่อกับมือถือแล้วสามารถมีฟีเจอร์โดดเด่นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เช่น หลอดไฟเปลี่ยนได้เป็นพันๆ สี, กำไร/แว่นตา/นาฬิกา ที่ฝังชิปพิเศษสามารถที่จะส่งข้อมูลต่างๆ มายังมือถือได้ เช่น อ่านค่าการก้าวเดิน การเปิดเว็บ สั่งเปิดปิดเพลง รับโทรศัพท์ได้โดยไม่แตะมือถือ เป็นต้น นอกจากนี้แล้ว บริษัทอิเล็กทรอนิกส์จากจีนแผ่นดินใหญ่ ทั้งขนาดเล็กและใหญ่ เริ่มขนทัพมาเปิดบูธที่งานนี้มากยิ่งขึ้น!
ถึงตอนนี้ผู้เขียนเชื่อว่าทุกท่านคนอยากเห็นแล้วว่าอะไรที่เรียกว่า ก็อป-แปลก-แหวก-ล้ำของงานคอมพิวเทค ว่าแล้วก็ตามมาเลย!
***ทุกแกดเจ็ทฮอตของโลกมากองรวมกันที่นี่
ของเล่นฮิตที่คนทั่วโลกพูดถึงอย่าง เครื่องพิมพ์ 3 มิติ, นาฬิกา กำไล แว่นตา อัจฉริยะ ที่เราเห็นจากแบรนด์ใหญ่หรือจากในเน็ต ล้วนจับต้องได้จริงๆที่นี่ (แต่ทุกชิ้นล้วนไม่ใช่ของจากต้นฉบับ เป็นเวอร์ชันที่โรงงานทำเลียนแบบ)
เริ่มกันที่ “เครื่องพิมพ์ 3 มิติ” ที่ว่ากันว่าจะเปลี่ยนรูปแบบการออกแบบ ผลิตสินค้าในทุกอุตสาหกรรมทั่วโลก เพราะต่อจากนี้ไอเดียที่อยู่ในหัว สามารถสร้าง “ต้นแบบ” ได้จากเครื่องพิมพ์นี้ในบ้านตัวเอง เมื่อลองแล้วโอเคค่อยสั่งผลิตล็อตใหญ่จากโรงงาน โดยไต้หวันวางแผนให้ตัวเองเป็นโรงงานผลิตเครื่องพิมพ์ 3 มิติที่ไฮเทคและถูกที่สุดในโลกภายในเวลา 2-3 ปีนี้
ที่นี่เราได้เห็นแบรนด์เครื่องพิมพ์ 3 มิติ da Vinci จากบริษัทมหาชน “XYZPriting” ที่ร่วมทุนระหว่างอเมริกาและจากไต้หวัน (ส่วนตัวเครื่อง Made in Thailand) ที่มีราคาไม่ถึง 10,000 บาท ซึ่งรุ่นใหม่ๆ อย่าง da Vinci 2.0 Duo และ da Vinci 2.0 Duo plus สามารถพิมพ์หลายสี และสั่งพิมพ์จากแอปฯ ผ่านไว-ไฟได้พร้อมๆ กันด้วย (สินค้านี้ได้รับรางวัล Best Design จากเวที Best Choice Award ของปีนี้ด้วย) www.xyzprinting.com
และในอีกบูธก็ได้พบกับ Free Make ที่แม้ตัวเครื่องจะมีหลักราคาครึ่งแสน แต่ก็มาพร้อมจุดเด่นอย่างแอปฯ ที่ช่วยให้เราออกแบบสินค้าก่อนเข้าเครื่องพิมพ์ด้วยมือถือ จากนั้นก็สั่งพิมพ์แบบไร้สายผ่านไว-ไฟเข้าเครื่องได้ทันที
นอกจากนี้ผู้เขียนยังได้ทดสอบเป็นหุ่นถ่ายภาพเพื่อนำไปทำตุ๊กตา 3 มิติ ซึ่งหลักการทำงานคือ ยืนบนลานที่หมุนได้ 360 องศา เมื่อยืนนิ่งและหมุนไปรอบๆ ก็สามารถถ่ายภาพตัวเราได้หมด โดย 2 บริษัทที่ลุยธุรกิจนี้ก็คือ catstudio3d (https://www.facebook.com/catstudio3d) และ www.ego3d.com.tw โดยหากต้องการสั่งพิมพ์ตุ๊กตาหน้าเหมือนตัวเราเป๊ๆ สนนราคาเริ่มต้นก็ประมาณ 8,000 บาท สำหรับขนาด 10 ซม.
***กำไล นาฬิกาอัจฉริยะทุกสี ทุกไซส์ ทุกสไตล์ หาได้ที่นี่
เทคโนโลยีที่สวมใส่ได้ (wearable technology) ที่อยู่ในรูปแบบของกำไล นาฬิกาอัจฉริยะ หน้าตาเหมือนแบรนด์ดัง เช่น Samsung Galaxy Gear, Jawbone Up, Fitbit สามารถสั่งซื้อแบบยกล็อตได้ที่นี่โดยส่วนมากจะใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ส่วนฟีเจอร์ก็ไม่ต่างจากแบรนด์ดังๆ แต่อย่างใด และส่วนนาฬิกาอัจฉริยะแบรนด์ Martien ที่เน้นรูปลักษณ์ไม่ต่างจากนาฬิกาปกติ แต่รับการเตือน โทรออก-เข้า ก็เป็นแบรนด์ฝรั่งที่ผลิตในไต้หวันเช่นกัน
และที่ไฮเทคขึ้นมาอีกก็คือ “เสื้อผ้าไฮเทค” จากแบรนด์ AIQ ที่ทำด้าน Smart Clothing อย่างครบวงจรตั้งแต่เลือกวัตถุดิบเสื้อผ้า เขียนโปรแกรมที่เชื่อมต่อกับแกดเจ็ทจิ๋วที่ติดกับเสื้อผ้าได้ เหมาะกับการออกแบบชุดนักกีฬาทั้งหน้าร้อนและหน้าหนาว (www.aiqsmartcloting.com)
***แว่นตากูเกิล สายรัดศีรษะดูภาพ 3 มิติ มีครบ!
แว่นตากูเกิลถูกโคลนนิ่งโดยบริษัท ข้อเสียคือ ขนาดใหญ่เกินไป ทั้งเมื่อใส่ระบบแอนดรอยด์เข้าไปทั้งดุ้น ทำให้เวลาจะบังคับปุ่มต่างๆ ในจอ ต้องใช้นิ้ววาดไปมาเหมือนใช้เม้าส์กับจอคอมฯ แต่เป้าหมายของบริษัทนี้คือ การหวังว่าจะได้ออเด้อร์จากการรับจ้างผลิตแว่นตาอัจฉริยะที่มีความสามารถจำเพาะตามสายงาน เช่น แว่นสำหรับใส่ผ่าตัด แว่นสำหรับตำรวจออกตระเวน แว่นสำหรับการออกแบบหรือทำงานกลางแจ้ง เพราะบริษัทเหล่านี้มีทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์พร้อมให้ลูกค้าเลือกสั่งเหมือนอาหารตามสั่งอยู่แล้ว
บูธเล็กๆ ที่เตะตาผู้เขียนคือ View Phone Technology (viewphone-technology.com) สายรัดศีรษะสำหรับดูหนัง 3 มิติ (ที่เปลี่ยนจอมือถือ 4 นิ้วให้กลายเป็นจอทีวีขนาด 200 นิ้ว) ที่สัปดาห์ก่อนมีข่าวลือว่าซัมซุงซุ่มผลิตอยู่นั้น ก็มีต้นแบบจากแบรนด์ท้องถิ่นมาโชว์ให้เล่นที่นี่ด้วย (ลองแล้วสนุกใช้ได้)
***บ้านอัจฉริยะ ความฝันที่เป็นจริง
เมื่อ 5 ปีก่อน ที่เทคโนโลยีไว-ไฟ บลูทูธ ยังไม่เสถียรทำให้คำว่า “บ้านอัจฉริยะ (Smart Home)” กลายเป็นเพียงแนวคิดดีๆ แต่วันนี้ที่งานคอมพิวเทค ผู้เขียนเห็นว่า “โซลูชั่นนี้” พร้อมให้บริการจริงๆแบบครบวงจรแล้ว ซึ่งก็หมายถึง ประตู เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่เกี่ยวข้องกับการเปิด-ปิด ปรับตั้งค่า หรือดูความเคลื่อนไหวของบ้านและบริเวณขณะที่เราไม่อยู่บ้านกลายเป็นเรื่องที่ควบคุมได้ง่ายๆ จากแอปฯ เดียว!
บริษัทที่ให้บริการติดตั้งและขายอุปกรณ์เพื่อเปลี่ยนบ้านของเราให้กลายเป็นบ้านอัจฉริยะนั้นมีมากกว่า 10 บูธ แต่บูธที่ถูกใจผู้เขียนมากที่สุดคือ แบรนด์ Sapido (www.sapidao.com.tw) ที่มีการออกแบบบูธแนะนำสินค้าได้อย่างเห็นภาพ จับต้องได้ ทุกอุปกรณ์ออกแบบติดโลโก้เดียวกันดูน่าเชื่อถือ และกดเพียงไม่กี่ปุ่มเพื่อให้เทคโนโลยีไร้สายภายในบ้านสื่อสารกัน ก็เริ่มใช้งานได้ทันที
ทีมเซลสาธิตการแจ้งเตือนเมื่อโจรเข้ามาบ้านด้วยการเปิดหน้าต่างบานจิ๋วๆ ก็ได้ยินเสียงออดเตือน เมื่อเอามือบังที่เซ็นเซอร์ ไฟต่างๆ ที่ซ่อนไว้ก็เปิดขึ้นมาทันที ฯลฯ โดยผลงานของบริษัทนี้ได้กวาดรางวัลมากมาล และในงานก็ได้รางวัล Taiwan Excellency 2014 ด้วย ซึ่งเร็วๆ นี้กำลังจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการ
นอกจากบ้านอัจฉริยะแล้ว รถอัจฉริยะ (Smart Car) ก็เป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจ และในบูธของ E-lead electronics (e-lead.com.tw) ก็ได้มีการโชว์สินค้าใหม่อย่าง Smart HUD ที่เมื่อเชื่อมต่อกับมือถือแล้ว ทำให้มองเห็นหน้าจอและเมนูต่างๆ ของมือได้ง่ายขึ้น สั่งงานมือถือได้ด้วยเสียง รวมถึงเป็นกระจกมองด้านหน้าและด้านข้างของตัวรถด้วย
***อุปกรณ์เสริมหลากสีสัน หลายฟังก์ชัน
สิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับงานนี้ก็คือ บูธของผู้ผลิตอุปกรณ์เสริม ปีที่ผ่านมาจะฮิตแฟลชไดรฟ์รูปทรงต่างๆ แต่ปีนี้ที่ฮิตมากๆ ก็เห็นจะเป็นแบตเตอรี่สำรอง กรอบมือถือ ที่โรงงานมาเอง รับสั่งทำไปติดแบรนด์ของตัวเองได้
โดยในงานนี้ผู้เขียนได้เห็นนวัตกรรมแปลกๆ ในหมวดอุปกรณ์เสริมด้วย เช่น กรอบมือถือที่มีถาดสำหรับหยดน้ำหอมอโรมา เพื่อใช้แล้วได้กลิ่นหอมผ่อนคลาย (ถือเป็นนวัตกรรมชาวบ้านจากไต้หวัน) รวมถึงกรอบที่กลายเป็นจอ E-ink สำหรับอ่านอีบุ๊ก และกรอบขยายสัญญาณมือถือและไว-ไฟ เป็นต้น
ที่น่าสนใจอีกชิ้นก็คือแกดเจ็ทแนวคิดใหม่จาก PhotoFast (photofast.com) อย่าง i-FlashDrive การทำแฟลชไดรฟ์ที่เอาไว้โอนไฟล์จากไอโฟนไปยังมือถือแอนดรอยด์ได้ รวมถึงการทำแท่นชาร์จและกรอบมือถือที่มีฟังก์ชันเหมือนกันคือ ชาร์จแบตและเป็นฮาร์ดดิสก์เสริมของมือถือไปในตัว
นอกจากนี้แล้วในงานนี้ยังมีนวัตกรรมท้องถิ่นที่อาจจะไม่ได้ใช้เทคโนโลยีหรือวัตถุดิบราคาแพง แต่สามารถตอบปัญหารายวันของเราได้ และสินค้าส่วนใหญ่มีการจดลิขสิทธิ์เสียด้วย อาทิ ชุดเสื้อผ้าป้องกันรังสีแม่เหล็กและรังสีไมโครเวฟ ที่โดยขยายจากกลุ่มเป้าหมายที่เป็นแม่บ้าน มาเป็นคนทำงานในออฟฟิศ และเหล่านักกีฬา
ถึงตอนนี้เชื่อว่าทุกท่านคงเอนจอยกับการเดินทัวร์งานคอมพิวเทค 2014 มาพอสมควร ผู้เขียนจึงขอปิดท้ายด้วยเกร็ดความรู้สำหรับนักธุรกิจที่คาดว่าจะเข้าชมงานนี้ในปีหน้า ดังนี้
--------------------
7 เกร็ดความรู้ของการเข้าร่วมชมงานคอมพิวเทคปีต่อไป
1 ทุกบูธมีทีมงานที่พูดภาษาอังกฤษได้ แต่อาจจะไม่คล่องมาก ดังนั้นหากได้ภาษาจีนกลางจะทำให้สอบถามข้อมูลได้ชัดเจนกว่า
2 บูธใหญ่จะมีเวทีเล็กๆ ให้กับพริตตี้ขึ้นโชว์การแสดง จบการแสดงจะมีคำถาม ส่วนมากคำตอบก็หนีไม่พ้นการตะโกนพูดชื่อแบรนด์ หากมีผู้ร่วมสนุกเยอะ ของแจกทางพริตตี้จะสุ่มโยน ใครมือยาวรับได้ก็เอาไปเลย
3 เนื่องจากเป็นงานเน้นการติดต่อซื้อขายระหว่างบริษัท เมื่อสอบถามเกี่ยวกับสินค้า เช่น สเปค, สินค้า ราคา ทางคนจัดบูธก็จะถามกลับทันทีว่าเราเป็นใคร มาจากไหน โปรดอย่าคิดเป็นอย่างอื่น เพราะบางบริษัทจะมีราคาหรือสเปคสินค้ากับลูกค้าหลายกลุ่มที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นควรฝึกแนะนำตัวเองสั้นๆ ว่าเราเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจด้านไหน มาจากประเทศอะไร พร้อมมอบนามบัตรให้อีกฝ่าย จะทำให้การสนทนาราบรื่นเร็วขึ้น
4. หากไม่อยากพกโบรชัวร์มากมายกลับบ้านให้หนักมือ เคล็ดลับคือ การถ่ายรูปสินค้าที่ถูกใจ จากนั้นก็ หยิบเฉพาะนามบัตร (มีทั้ง ชื่อ เบอร์ติดต่อ และเว็บไซต์) พร้อมจดว่าพบสินค้าใดๆ ที่บูธนี้ก็เพียงพอกับการติดต่อในโอกาสหน้าแล้ว หรือหากอยากจะถ่ายโปรชัวร์ให้ชัดเจน ก็ขอแนะนำแอปฯ สแกนเอกสารบนสมาร์ทโฟนอย่าง CamScanner (https://www.camscanner.net)
5. นอกจากบริษัทที่มีแบรนด์ที่รู้จักกันดีแล้ว กว่า 80% ของบูธที่มาออกงานเป็นโรงงานรับจ้างผลิต ดังนั้นการสอบถามราคาสินค้าอาจจะต้องสอบถามถึงราคาของจำนวนการสั่งซื้อขั้นต่ำ ซึ่งก็คือ MOQ (Minimum Order Quantity) เช่น แท็ปเบล็ต (หน้าตาเหมือนไอแพด) อีบุ๊ก (หน้าตาเหมือนคินเดิล) ก็มักจะรับสั่งอย่างต่ำ 3,000 ชิ้นขึ้นไป
6. สินค้าหลายชิ้น นอกจากเอามาโชว์แล้ว ยังนำมาขายอีกด้วย ดังนั้นสามารถสอบถามราคาเพื่อขอซื้อได้โดยตรง
7. หากอยากได้สินค้าตัวอย่างที่บริษัทออกบูธเอามาโชว์ วันสุดท้ายก่อนเที่ยงควรรีบเข้างานเพื่อขอซื้อ ส่วนมากทางบริษัทเหล่านี้จะขายในราคาพิเศษ เพราะไม่อยากขนของกลับ
CyberBiz Social