xs
xsm
sm
md
lg

Review : Jawbone Up24 ตามติดชีวิตตลอด 24 ชั่วโมง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online




ขึ้นชื่อว่าเป็นอุปกรณ์ Werable Device ตัวแรกๆที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคก็ว่าได้กับ Jawbone Up ที่ปัจจุบันเพิ่งเริ่มเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย ผ่านการนำเข้าอย่างเป็นทางการของ Jawbone ที่แต่เดิมอยู่ในตลาดอุปกรณ์หูฟังบลูทูธ และลำโพงไร้สาย

โดยใน Jawbone Up 24 ถือเป็นอุปกรณ์ไลฟ์สไตล์แทร็กรุ่นที่ 2 ของ Up โดยเพิ่มความสามารถจากรุ่นเดิมคือการเชื่อมต่อข้อมูลแบบไร้สายกับสมาร์ทโฟนได้ทันที เพียงแต่ความสามารถหลักอย่างการเก็บข้อมูลการใช้ชีวิตประจำวันอย่างการนับก้าวเดิน การคำนวนเวลานอน และอาหารการกิน ทั้งรุ่น Up และ Up 24 แทบไม่แตกต่างกัน

การออกแบบและสเปก



ด้วยแนวคิดในการออกแบบให้เป็นอุปกรณ์ที่สวมใส่ติดข้อมือตลอดเวลาทำให้ Jawbone Up 24 มีลวดลายที่เรียบง่ายจากวัสดุหลักที่ใช้เป็นยางที่ไม่มีส่วนผสมของสารเคมีสำหรับผิวที่แพ้ง่าย และยังช่วยในการป้องกันน้ำได้ในระดับหนึ่งอย่างการใส่อาบน้ำ ล้างมือได้ปกติ แต่ยังไม่สามารถใส่ลงไปแช่น้ำ หรือว่ายน้ำได้



โดยขนาดของ Jawbone Up 24 มีด้วยกันทั้งหมด 3 ไซส์ คือ S มีขนาดรอบวงที่ 14 - 15.5 ซม. M อยู่ที่ 15.5 - 18 ซม. และ L ที่ 18 - 20 ซม. โดยวิธีการวัดไซส์อย่างง่ายคือการนำเชือกมาพันรอบข้อมือเพื่อวัดความยาว และคำนวนออกมาเป็นไซส์ตามรูปด้านบน



ในขณะที่ตัว Up 24 จะมีสีให้เลือกทั้งหมด 4 สี คือ ส้ม (Persimmon) ดำ (Onyx) ชมพู (Pink Coral) และ เขียว (Lemon Lime) จากเดิมที่มีให้เลือกในรุ่น Up ถึง 7 สี ด้วยกัน คือ ดำ (Onyx) เขียวมิ้นต์ (Mint Green) ฟ้า (Blue) เทาอ่อน (Light Gray) น้ำเงิน (Navy Blue) แดง (Red) และ ส้ม (Orange)



ทั้งนี้ ที่ตัวกำไลข้อมือ จะมีปุ่มกดที่เป็นสีเทา สำหรับควบคุม พร้อมไฟแสดงสถานะ และปลายอีกฝั่งจะเป็นฝาปิดสำหรับแจ็ค 2.5 มม. ไว้เสียบกับข้อต่อที่เป็นสายชาร์จยูเอสบี โดยมีการสกรีนรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ไว้ด้านในด้วย



ขณะที่ภายในของ Up 24 จะมีเซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวที่เรียกว่า Tri-Axis Accelerometer ซึ่งทำงานร่วมกับระบบ Motion X ในการประมวลผลกิจกรรมต่างๆ โดยมีแบตเตอรีแบบ Lithium - ion Polymer ขนาด 32 mAh ติดอยู่



ส่วนอุปกรณ์ที่ให้มาภายในกล่องจะประกอบไปด้วยกำไลข้อมือ Up 24 ที่เสียบสายแบบยูเอสบี และคู่มือการใช้งานเบื้องต้น

ฟีเจอร์ที่น่าสนใจ



ฟีเจอร์หลักๆของ Up 24 คือ ความสามารถในการนับก้าวเดิน ซึ่งในแต่ละวันผู้ใช้งานสามารถตั้งเป้าหมายได้ว่า วันหนึ่งต้องเดินให้ได้กี่ก้าว นอนกี่ชั่วโมง ซึ่งผู้ใช้จำเป็นต้องกดปุ่มที่ตัว Up 24 ให้เป็น Active Mode และ Sleep Mode (กดที่ปุ่มค้างไว้เพื่อสลับโหมด หรือกดสั่งจากในแอปฯก็ได้)

โดยภายในแอปพลิเคชันจะมีการนับก้าวที่คำนวนมาให้เหมาะกับสุขภาพอยู่ที่ 10,000 ก้าวต่อวัน แต่ก็สามารถปรับเพิ่มหรือลดระหว่าง 2,000 - 20,000 ก้าวได เช่นเดียวกับการนอนที่จะกำหนดเป้าหมายไว้ที่ 8 ชั่วโมงต่อวัน แต่ก็สามารถปรับเพิ่มหรือลดลงมาเหลือ 5 - 10 ชั่วโมงได้

เมื่อมีการตั้งเป้าหมาย (Goal) แล้ว ในหน้าจอแสดงผลก็จะคอยบอกว่าเมื่อคืนนอนไปแล้วกี่ชั่วโมงคิดเป็นกี่เปอเซนต์ของเป้าหมาย รวมไปถึงจำนวนก้าวเดินในช่วงเวลานั้นๆ เพื่อที่จะคอยบอกว่าต้องเดินอีกเท่าไหร่จะถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้ หรือในกรณีที่นอนหรือเดินเกินก็จะคอยบอกว่าเดินมากี่เปอเซนต์ด้วย



สำหรับการแสดงผลในแง่ของการนับก้าว ตัวแอปฯ จะมีเป็นกราฟบอกว่าในแต่ละช่วงเวลาเดินไปเท่าไหร่แล้ว โดยรวมเป็น Active Time กี่นาที เผาผลานพลังงานไปกี่แคลลอรี่ เดินต่อเนื่องนานสุดกี่นาที เผาพลานพลังในช่วงนั้นเท่าไหร่ อยู่เฉยๆนานเท่าไหร่

ส่วนของการนอนก็จะมีกราฟคอยบอกเช่นเดียวกันว่า อยู่ในช่วงหลับลึก หรือนอนหลับปกติเป็นระยะเวลารวมเท่าใด ตั้งแต่เริ่มนอนใช้เวลากี่นาทีถึงจะหลับ ใช้เวลาอยู่บนเตียงทั้งหมดกี่ชั่วโมง ตื่นขึ้นมากี่ครั้ง กี่นาทีเป็นต้น



นอกจากนี้ ยังมีในส่วนของการบันทึกอาหารที่รับประทานเข้าไป เพื่อช่วยคำนวนปริมาณแคลลอรี่ที่ได้รับในแต่ละวัน โดยในต่างประเทศตัวแอปฯ จะรองรับการสแกนบาร์โค้ดของอาหารที่รับประทานเข้าไป

เพียงแต่ว่าในประเทศไทยยังไม่รองรับ ทำให้ผู้ใช้ต้องป้อนข้อมูลเข้าไปเอง โดยใช้การคำนวนเบื้องต้นที่ให้มาภายในแอปฯเลือกประเภทของอาหารที่ทานเข้าไป ปริมาณเท่าไหร่ หรือจะใส่ปริมาณแคลลอรี่เข้าไปเองก็ได้



และยังมีในส่วนของการบันทึกอารมณ์ความรู้สึกในแต่ละวันว่าวันนี้รู้สึกเป็นอย่างไรตั้งแต่แย่ ไปจนถึงดีมาก



รวมไปถึงหน้าจอแสดงผลกิจกรรมที่ทำล่าสุดในแต่ละวัน แต่ละช่วงเวลา (Recent Activities) และหน้าจอที่จะดูว่าในแต่ละวัน สัปดาห์ หรือเดือน นอนไปกี่ชั่วโมง เดินไปทั้งหมดกี่ก้าวเป็นต้น



ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือตัวแอปฯจะพยายามท้าทาย (Challange) ผู้ใช้งานเดิน หรือนอนมากกว่าเดิม รวมไปถึงคอยมีบอกรายะเอียดที่น่าสนใจอย่างเดินไปทั้งหมด 50,000 ก้าวแล้ว หรือนอนไปครบ 50 ชั่วโมงแล้วเป็นต้น



แต่ก็ไม่ใช่ว่า Jawbone Up 24 จะทำได้เพียงเท่านี้ เพราะยังมีฟีเจอร์เพิ่มเติมอย่าง Stop Watch ที่จะคอยจับเวลาการทำกิจกรรมต่างๆ เริ่มจากการกดปุ่มครั้งแรก ตามมาด้วยการกดครั้งที่ 2 ค้างไว้จนตัว Up 24 สั่นก็จะเข้าสู่โหมด Stop Watch เมื่อเสร็จก็ให้กดปุ่มแบบเดียวกันซ้ำอีกครั้งเพื่อหยุดโหมดดังกล่าว

ความสามารถหลักๆของ Stop Watch คือการจับเวลากิจกรรมที่ทำ หลังจากนั้นผู้ใช้สามารถเข้าไปป้อนข้อมูลได้ว่าทำอะไรมา โดยจะมีกิจกรรมให้เลือกอย่าง เดิน ยกเวท วิ่ง ปีนเขา คาดิโอ ปั่นจักรยาน โยคะ ปั่นจักรยานบนเครื่องปั่น บาสเกตบอล เล่นเกม เทนนิส ฟุตบอล สกี เต้น และอื่นๆ หลังจากนั้นก็ให้เลือกระดับของกิจกรรมที่ทำ เพื่อนำไปคำนวนแคลลอรี่



ถัดมาคือโหมด Power Nap หรือโหมดงีบหลับ โดยผู้ใช้สามารถตั้งเวลาไว้ได้ว่าจะงีบหลับเป็นเวลากี่นาที พอครบช่วงเวลาที่กำหนด (ตั้งได้ตั้งสูงสุด 2 ชั่วโมง) ตัว Up 24 ก็จะสั่นปลุกขึ้นมา สามารถเข้าใช้งานโหมดนี้ได้จากการกดปุ่มแล้วปล่อย 2 ครั้ง ครั้งที่ 3 ให้กดค้างไว้จนขึ้นสัญลักษณ์รูปพระจันทร์

Smart Alarm หรือนาฬิกาปลุกอัจฉริยะ ให้ผู้ใช้สามารถสามารถตั้งปลุกได้ถึง 4 ช่วงเวลา โดยตัวแอปพลิเคชันจำทำการคำนวนช่วงเวลานอน และเลือกปลุกผู้ใช้ในขณะที่ไม่ได้หลับลึก เพื่อให้ตื่นขึ้นมาสดชื่น

ยังมี Idle Alert สำหรับแจ้งเตือนกรณีที่ไม่มีการเคลื่อนไหวนานเกินไป โดยสามารถตั้งได้ว่าจะให้โหมดนี้แจ้งเตือนตั้งแต่ 15 นาที ไปจนถึง 2 ชั่วโมง ในช่วงเวลาใดก็ได้ และยังมี Activity Alert ที่จะคอยแจ้งเมื่อถึงก้าวเดินที่กำหนด และตั้งเวลาแจ้งสรุปในแต่ละวันตอนกี่โมง

นอกจากนี้ Jawbone Up 24 ยังสามารถนำไปใช้ควบคู่กับแอปฯสำหรับออกกำลังกายอื่นๆอย่าง MyFitnessPal IFTTT RunKeeper MapMyFitness Strava FitStar Pact Wello Tictrac Sleepio Withings Lose It! CarePass from Aetna Whisle และ Automatic ได้ด้วย



และเมื่อใช้งานครบสัปดาห์ทาง Jawbone ก็จะมีการอีเมลสรุปข้อมูลในแต่ละสัปดาห์มาว่าเดินเฉลี่ยกี่ก้าว นอนหลับมากที่สุดวันไหน เวลาเข้านอน เวลาตื่น เดินมากที่สุดวันไหน ขยับมากสุดช่วงเวลาใด เป็นระยะทางทั้งหมดเท่าไหร่ด้วย

จุดขาย

- บันทึกจำนวนก้าวเดินในแต่ละวัน ช่วยกระตุ้นให้มีออกกำลังกายมากขึ้น
- ช่วยคำนวนช่วงเวลานอนที่เหมาะสม รวมถึงคำนวนเวลาปลุกด้วย
- ใช้บันทึกการทำกิจกรรมต่างๆได้ เพื่อเก็บเป็นข้อมูลสำหรับสุขภาพ
- มีการซิงค์ข้อมูลผ่านระบบไร้สายตลอดเวลา

ข้อสังเกต/ตอบจุดขายหรือไม่

- ไม่สามารถใส่ว่ายน้ำได้
- การป้อนข้อมูลอาหาร ยังยากอยู่ทำให้ไม่ค่อยใช้งาน
- แบตเตอรีใช้งานได้ต่อเนื่องเพียง 7 วัน ต่อการชาร์จ 100% ใน 80 นาที
- ไม่มีหน้าจอแสดงข้อมูลในตัว ต้องซิงค์กับสมาร์ทโฟนตลอดเวลา
- ที่ชาร์จขนาด 2.5 มม. ไม่ใช่ขนาดมาตรฐาน ทำให้ต้องพกที่ชาร์จเฉพาะ

ฟันธง! ความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียไป

กับราคาจำหน่ายในประเทศไทยที่ 6,290 บาท ทำให้ถูกมองว่าราคาค่อนข้างสูงไปสักหน่อย เพราะราคาจำหน่ายบนหน้าร้านออนไลน์ในสหรัฐฯอยู่ที่ราว 149.99 เหรียญ และเมื่อเทียบกับแบรนด์ใหม่ๆที่เพิ่งเข้ามาทำตลาดอย่าง​ Garmin Vivofit หรือ Samsung Gear Fit ที่มีราคาต่ำกว่าแถมมีหน้าจอแสดงผล จึงทำให้ Jawbone Up 24 กลายเป็นเสียเปรียบในทันที

แต่จุดที่ Jawbone Up 24 ทำได้ดีกว่าคู่แข่งคือในแง่ของระบบแอปพลิเคชันที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง และถ้าในกลุ่มเพื่อนมีการใช้งานก็สามารถแชร์กันเพื่อให้เกิดการแข่งขันภายในกลุ่มได้ และเชื่อว่าจะมีการพัฒนาการเก็บข้อมูลให้แม่นยำขึ้นไปอีก

สำหรับผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของสุขภาพเชื่อว่า Jawbone Up 24 และข้อมูลที่เก็บภายในแอปฯ จะถือเป็นตัวช่วยสำคัญให้แก่คุณอย่างแน่นอน เพราะช่วยให้สามารถวางแผนล่วงหน้าถึงการออกกำลัง การนอน หรือการทำกิจกรรมอื่นๆ และเก็บข้อมูลสะสมไว้ได้ตลอดเวลา

Company Related Links :
Jawbone

CyberBiz Social



Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket


กำลังโหลดความคิดเห็น