หลากหลายสิ่งที่ต้องรู้และระวังในการใช้ชีวิตไซเบอร์ในปี 2014 หลังโซเชียลมีเดียมีอัตราการเติบโตชนิดถล่มทลาย พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป การเข้ามาของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใหม่ๆที่สวมใส่ได้ (wearables devices) เหล่าเกมเมอร์ และการเชื่อมต่อไร้สายที่สามารถรองรับระบบปฏิบัติการที่หลากหลาย รวมไปถึงการตลาดรูปแบบใหม่ อย่าง omni-channel ซึ่งเป็นการเข้าถึงและสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าผ่านหลากหลายช่องทาง โดยใช้ทั้งเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย และสมาร์ทโฟน กำลังจะกลายเป็นเทรนด์ใหม่ของการสื่อสารในโลกไซเบอร์ ที่อาจมาพร้อมภัยโดยคาดไม่ถึง
*** สิ่งที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตจะเป็นตัวอันตราย
การเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตจะกลายเป็นตัวดึงดูดที่สำคัญในการโจมตีของอาชญากรต่างๆ โดยเฉพาะยิ่งมีการเชื่อมต่อมากขึ้นเป้าหมายก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น การโจมตีโทรทัศน์อัจฉริยะ กล้องรักษาความปลอดภัย หรือแม้แต่อุปกรณ์การแพทย์ เพราะเคยมีกรณีศึกษาของการเจาะช่องโหว่ในหลากหลายอุปกรณ์ อาทิ เครื่องฟังเสียงหัวใจเด็กทารกในครรภ์ถูกโจมตี หรือแม้แต่ไฟสัญญาณจราจรในอุโมงค์ขนาดใหญ่ของอิสราเอลถูกปิดอันเนื่องมาจาก การถูกเจาะระบบผ่านเข้ามาทางระบบกล้องรักษาความปลอดภัย
เควิน เฮลีย์ ผู้อำนวยการพัฒนาฝ่ายบริหารผลิตภัณฑ์ ไซแมนเทค กล่าวว่า แม้ว่าผู้ค้าซอฟต์แวร์รายหลักๆ จะหาวิธีการแจ้งให้ลูกค้าได้ทราบ รวมไปถึงการส่งการแก้ไขเพื่ออุดช่องโหว่เหล่านั้นให้กับลูกค้า แต่หากบริษัทที่สร้างอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตไม่ได้คำนึงถึงเรื่องการรักษาความปลอดภัยก็จะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆเพราะแม้จะป้องกันดีแต่ตัวอุปกรณ์ไม่ปลอดภัยเพียงพอก็ไม่มีประโยชน์
นอกจากนี้ในด้านความนิยมในการใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์นั้นไม่ใช่มีเฉพาะกับผู้บริโภคเท่านั้นที่มีอัตราการขยายตัวขึ้น เพราะพวกอาชญากรไซเบอร์ก็จะหันมาสนใจเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่างๆ มากขึ้นเช่นกัน และจะทำตัวเป็นส่วนหนึ่งเพื่อความกลมกลืน รวมทั้งยังจะมีลูกเล่นในการโจรกรรมได้เก่งยิ่งขึ้น แถมยังจะชวนให้ย้ายการเก็บข้อมูลไปอยู่ในที่ๆพวกมันต้องการได้อีก โดยจะมีการหลอกลวงว่าหากย้ายไปแล้วปัญหาที่เคยเกิดขึ้นต่างๆจะหายไป แต่สุดท้ายพวกมันก็จะได้ข้อมูลของคุณไป
'ดังนั้นจึงขอเตือนว่าหากมีอะไรบางอย่างที่ดูแล้วรู้สึกดีมากเกินกว่าจะเป็นจริง ให้ระวังเพราะมีแนวโน้มอย่างมากที่จะเป็นการหลอกลวง ป้องกันตัวเองด้วยแนวทางปฏิบัติด้านการรักษาความปลอดภัยที่ดี ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนของอินเทอร์เน็ต หรือเชื่อมต่อเข้ามาทางใด'
อีกเรื่องสำคัญที่ไซแมนเทคคาดหมายว่าในปี 2014 นี้ จะเริ่มเกิดขึ้นคือ ผู้บริโภคจะให้ความสำคัญกับการเก็บรักษาข้อมูลส่วนตัวมากขึ้น และจะทำให้ซอฟต์แวร์อย่าง Tor ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ฟรีที่สามารถสร้างตัวตนนิรนามบนออนไลน์จะกลายเป็นแอปพลิเคชันที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ยังคงเห็นว่าการใช้นามแฝงและชื่อปลอมในเว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อการปกป้องความเป็นส่วนตัวมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นที่จะมีความใส่ใจความเป็นส่วนตัวมากที่สุด
***เป็นนักเล่นเกมก็ต้องระวังความปลอดภัย
PlayStation 4 และ Xbox One เป็นเกมพีซีที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก และแน่นอนว่าย่อมเป็นเป้าหมายของผู้ที่จ้องจะโจมตีเช่นกัน โดยจากการค้นพบของแคสเปอร์สกี้ แลป พบว่ามีส่วนประกอบมัลแวร์เกมมิ่งกว่า 4.6 ล้านตัว โจมตีผู้เล่นเกมกว่า 11.7 ล้านครั้งทั่วโลก และผู้เล่นเกมในประเทศรัสเซียได้รับผลกระทบมากที่สุด ในปี 2013 แฮกเกอร์ส่งมัลแวร์โจมตีกว่า 8,813,050 ครั้ง รองลงมาคือเวียดนาม 503,947 ครั้ง และจีน 376,058 ครั้งตามลำดับ โดยประเทศไทยถูกโจมตีมากสุดเป็นอันดับ 9 ของโลก คือ 92,914 ครั้ง
ที่ผ่านมาเกมเมอร์มักจะพบเจอการโจมตีระบบดิจิตอลทุกรูปแบบ และส่วนใหญ่มัลแวร์จะเลือกโจมตีเฉพาะเกมที่ได้รับความนิยม โดยจะเข้ามาหลอกล่อหลากหลายรูปแบบและก็จบลงด้วยการขโมยไอดีและพาสเวิร์ด ดังนั้นแคสเปอร์สกี้จึงได้แนะนำ 5 ข้อที่ควรระวังในการเล่นเกมดังนี้ 1. คิดก่อนคลิกรับข้อเสนอต่างๆ ข้อความหรือป๊อปอัพที่ปรากฏที่หน้าจอเกม อีเมล เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ หรือโซเชียลเน็ตเวิร์กอื่นๆ ควรเลือกพิจารณาข้อเสนอที่สมเหตุสมผล ไม่เกินจริง และส่งโดยแหล่งที่เชื่อถือได้ หากสงสัย ควรติดต่อบริษัทผู้ส่งก่อน
2.ตั้งพาสเวิร์ดที่ยากและไม่ใช้พาสเวิร์ดที่ซ้ำกันในแต่ละเกม เพราะถ้าเกมเมอร์ไม่มีไอดีพาสเวิร์ดที่ต่างกัน ถ้าเกมหนึ่งถูกแฮกก็จะโดนแฮกทั้งหมดได้ง่าย จึงควรพิจารณาเลือกใช้แอปพลิเคชันเพื่อจัดการพาสเวิร์ดโดยเฉพาะ เพื่อความปลอดภัย 3.ใช้ซอฟต์แวร์แอนตี้ไวรัสที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งควรมีระบบตรวจจับและยับยั้งมัลแวร์เกิดใหม่ได้รวดเร็วและแม่นยำ
4. ระวังคนที่เข้ามาตีสนิทในโลกออนไลน์ การเข้ามาผูกมิตรตีสนิททำได้ง่าย แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เข้ามาแบบประสงค์ดี ควรระวังคนที่สอบถามเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัว เพราะอาจจะไม่ใช่แค่ทำความรู้จัก แต่อาจนำข้อมูลไปใช้ทำอย่างอื่นได้ และ 5. ดาวน์โหลดข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และการดาวน์โหลดเกมเถื่อนเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และยังเสี่ยงให้มัลแวร์โจมตีเครื่องได้ เพราะมีมัลแวร์จำนวนมากที่ปลอมตัวเป็นไฟล์เกม
เช่นเดียวกับเทรนด์ไมโครซึ่งเห็นว่าปี 2014 จะเกิดภัยคุกคามกับสมาร์ทโฟนมากขึ้น จึงได้แนะนำการป้องกันต่างๆ อาทิ 1.ปรับปรุงระบบปฏิบัติการสำหรับสมาร์ทโฟนและโปรแกรมแก้ไข (แพชต์) ช่องโหว่สำหรับซอฟต์แวร์ให้ทันสมัยอยู่เสมอ 2.เปิดใช้งานการป้องกันไวรัสในสมาร์ทโฟนอยู่เสมอ 3.นำแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดในการรักษาความปลอดภัยสำหรับพีซีไปใช้กับอุปกรณ์มือถือของคุณ 4.ขอความช่วยเหลือจากฝ่ายไอทีในกรณีที่เครื่องใช้งานหลักทำงานช้าลงหลังจากที่ได้ซิงค์ข้อมูลกับสมาร์ทโฟนแล้ว (ในกรณีที่ใช้งานแบบ BYOD) และ 5.เลือกใช้โซลูชันป้องกันไวรัสสำหรับอุปกรณ์มือถือที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้
*** ผู้ผลิตชิปจะก้าวมาในโลกของความปลอดภัย
ไบรอัน เคอซานิทช์ ซีอีโอของอินเทล กล่าวว่า ในโลกดิจิตอลยุคใหม่นี้นอกจากอินเทลจะได้มีความร่วมมือกับพันธมิตรผู้ผลิตหลายราย เพื่อกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมสำหรับอุปกรณ์แบบพกพาและอุปกรณ์ wearables แล้ว ความปลอดภัยยังเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญที่มองข้ามไม่ได้และจำเป็นต้องมีอยู่ในอุปกรณ์ทุกชิ้น เมื่อโลกกำลังก้าวไปสู่ยุคที่เทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต โดยอินเทลได้เปิดตัวแบรนด์ใหม่อย่าง Intel Security ซึ่งเป็นสินค้าและบริการในกลุ่มการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล และจะเปลี่ยนสินค้าภายใต้แบรนด์ McAfee มาเป็น แบรนด์ Intel Security อีกด้วย ซึ่งอินเทลมองว่าการรักษาความปลอดภัยบนโลกดิจิตอลเป็นสิ่งที่จำเป็นมากขึ้น เพราะอุปกรณ์แบบพกพาและแอปพลิเคชันต่างๆจะมีความสำคัญกับชีวิตเรามากขึ้น และที่สำคัญความปลอดภัยที่จะทำนี้ต้องก้าวล้ำหน้าภัยที่กำลังคุกคาม
ในเบื้องต้น อินเทลมีแผนที่จะติดตั้งซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัสอย่าง McAfee ไว้ในอุปกรณ์แบบพกพา ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไอโฟน ไอแพด รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ในอนาคตอันใกล้นี้
ปัจจุบันเทรนด์การนำอุปกรณ์ส่วนตัวมาใช้ที่ทำงาน หรือ BYOD กำลัง เป็นที่นิยม ทำให้หลายองค์กรห้ามการนำอุปกรณ์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ที่ไม่สามารถ ทำงานร่วมกับระบบความปลอดภัยภายในขององค์กรมาใช้ อินเทลจึงมีแผนที่จะเปิดตัว Intel Device Protection เพื่อช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการใช้งานอุปกรณ์ที่มีหน่วยประมวลผลของอินเทลและใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ เพื่อเข้าถึงมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล เพื่อการใช้งานทั้งที่บ้านและที่ทำงาน
มิเชล แฮร์ริส ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์ และการตลาดเชิงลึก แอมดอกซ์ ให้ความเห็นว่าการเกิดช่องทางการตลาดแบบomni-channel เป็นไปตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ทำให้ผู้ให้บริการค้าปลีกต้องปรับรูปแบบการให้บริการแบบใหม่ตามไปด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับอุปกรณ์ประเภท smart device ที่เพิ่มขึ้นนับล้านๆ เครื่อง เช่นเดียวกับแอปพลิเคชันเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากเช่นกัน ทำให้ omni-channel มีการเติบโตกว้างขวางมากขึ้น และกำลังจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า เพราะนักการตลาดเชื่อว่าการนำเสนอเครื่องมือออนไลน์เพื่อให้บริการลูกค้าอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ จะช่วยให้สามารถรักษาฐานลูกค้าให้มีความจงรักภักดีมากขึ้น ซึ่งการ์ทเนอร์ คาดว่า ในปี 2558 ธุรกิจที่ไม่สนใจ omni-channel จะเสียลูกค้าชั้นดี 15-20% ไปให้กับคู่แข่ง และการนำวิธีนี้มาใช้นอกจากจะช่วยให้การสื่อสารและปฏิสัมพันธ์เชิงรุกกับลูกค้าแล้ว ยังจะสามารถใช้ในการตอบสนองเพื่อแก้ปัญหาในเชิงรุกอีกด้วย
*** เครือข่ายและไอทีจะรวมกันเพื่อให้บริการแบบครบวงจร
เวอร์ชวลไลเซชันจะเติบโตมากขึ้น ทำให้เกิดการใช้งานฟังก์ชันต่างๆ บนเครือข่าย network function virtualization (NFV) และจะเป็นปัจจัยเสริมประสิทธิภาพสำหรับผู้ให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นการประหยัดรายจ่ายเพราะไม่ต้องซื้อฮาร์ดแวร์ลิขสิทธิ์ที่มีราคาแพง นอกจากนี้ยังเพิ่มความคล่องตัวและปรับขนาดรองรับความต้องการได้มากขึ้น เนื่องจากการรวมศูนย์ด้านการบริหารจัดการ และส่งผลให้เกิดค่าใช้จ่ายน้อยลงในการดูแลรักษา ปรับแต่งใหม่ และอัปเกรด
มิเชล กล่าวว่า เทรนด์ในปี 2557 นี้ ผู้ให้บริการจะรวมเครือข่ายและไอทีกันมากขึ้นเพื่อให้บริการแก่ลูกค้าด้วย cloud-enabled service ที่มีความซับซ้อน และเปลี่ยนจากการเป็นผู้ให้บริการโซลูชันเครือข่าย (network solution provider) ไปเป็นผู้เล่นในตลาดไอซีทีที่ให้บริการซอฟต์แวร์แบบ cloud based ในลักษณะ M2M (Machine to Machine) มากขึ้น เพิ่มเติมจากเครือข่ายสื่อสารและบริการโทรศัพท์มือถือที่ให้บริการอยู่ จนกลายเป็นผู้ให้บริการแบบครบวงจรเพื่อตอบสนองความต้องการด้านสื่อสารโทรคมนาคมและไอทีทั้งหมด
นอกจากนี้ในปีที่ผ่านมาการวางโครงข่าย 4G/LTE จนประสบความสำเร็จในหลายประเทศแล้ว ในปี 2557 นี้ผู้ให้บริการจะมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างรายได้จากเครือข่ายใหม่เหล่านี้มากขึ้น และจะทำควบคู่ไปพร้อมๆ กับการพัฒนามาตรฐานสำหรับ 5G ที่ได้เริ่มมีการทดสอบกันบ้างแล้ว