xs
xsm
sm
md
lg

ไอซีทีย้ำเฟซบุ๊กล่มเพราะเกตเวย์ พร้อมลุยตรวจเข้ม “ไลน์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไอซีที ชี้แจงเหตุเฟซบุ๊กล่มเมื่อวันที่ 28 พ.ค. ย้ำเป็นเพราะปัญหาเกตเวย์ที่สิงคโปร์ล่ม พร้อมปัดกรณีปลัดไอซีทีระบุได้รับคำสั่งจากคสช.เป็นการเข้าใจผิด ล่าสุดสัปดาห์หน้าเตรียมบินไปญี่ปุ่นขอตรวจสอบบทสนทนาบนแอปพลิเคชั่น “ไลน์”

พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) และอดีตผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทาง เทคโนโลยี (ปอท.) กล่าวว่า จากกรณีที่เมื่อวันที่ 28 พ.ค. เวลาประมาณ15.00-17.00 น. เกิดปัญหาคนไทยไม่สามารถใช้งานเว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์เฟซบุ๊กได้นั้น กระทรวงไอซีทีขอยืนยันว่าจากการตรวจสอบข้อมูลแล้วพบว่า เกิดจากวงจรเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ (เกตเวย์) จากชุมสายของเฟสบุ๊กในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่ประเทศสิงคโปร์ เกิดการล่ม ประกอบกับในประเทศไทยในช่วงเวลาดังกล่าว มีอัตราการใช้งานขึ้นสูงที่สุดจึงส่งผลให้เกิดเหตุการณ์ใช้เฟซบุ๊กไม่ได้ราว 2 ชั่วโมง

ทั้งนี้ในส่วนของผู้ใช้งานบางรายในช่วงเวลาดังกล่าว มีการขึ้นข้อความบนหน้าจอว่าสาเหตุที่ใช้งานไม่ได้นั้นเกิดจากการปิดโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั้น จากการตรวจสอบแล้วพบว่าเกิดจากการที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) บางรายเข้าใจผิดจากข้อความที่ส่งต่อบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ และช่องทางอื่นๆ ว่า คสช. เป็นผู้สั่งดำเนินการ จึงมีการขึ้นข้อความดังกล่าว

'ส่วนกระแสข่าวที่ระบุว่า นายสุรชัย ศรีสารคาม ปลัดกระทรวงไอซีที ให้ข่าวว่า คสช. สั่งปิดนั้น เกิดจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของสื่อมวลชนบางสำนัก และปลัดกระทรวงเอง เนื่องจากการปิดโดยคำสั่ง คสช. ที่ปลัดกระทรวงไอซีทีหมายถึง คือการปิดเว็บไซต์ที่เข้าข่ายขัดต่อประกาศ คสช. ในเรื่องต่างๆ อาทิ หมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือ ยั่วยุให้เกิดความขัดแย้งในสังคม'

สำหรับเว็บไซต์ที่มีการปิดไปแล้วนั้น ตอนนี้มีจำนวนทั้งสิ้นราว 100 ราย ทั้งในส่วนที่เป็นเว็บเพจ และบัญชีใช้งานส่วนบุคคล ที่เข้าข่ายขัดต่อประกาศ คสช. โดยขอยืนยันว่าการจะปิดการใช้งานได้ ทางคณะทำงานกำกับดูแลการใช้อินเทอร์เน็ต และสื่อสังคมออนไลน์ ภายใต้อำนาจของ คสช. จะมีทีมพิจารณา จากคณะกรรมการพิจารณาจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานอัยการสูงสุดเสียก่อน

ทั้งนี้ในขั้นตอนต่อไป ทางคณะทำงานกำกับดูแลการใช้อินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์ จะเริ่มเข้าไปตรวจสอบการใช้งานของประชาชนที่เข้าข่ายขัดประกาศ คสช. ผ่านการใช้งานแอปพลิเคชัน “ไลน์” โดยในช่วงสัปดาห์หน้าทางกระทรวงไอซีที จะส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงไปเจรจากับ สำนักงานใหญ่ของบริษัทผู้ให้บริการไลน์ ที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อขออำนาจในการเข้าตรวจสอบการใช้งานไลน์ของประชาชน รวมทั้งยังมีการส่งเจ้าหน้าที่ ไปเจรจาเพิ่มเติมกับบริษัท เฟซบุ๊ก และ กูเกิล สำนักงานใหญ่ในภูมิภาคที่ประเทศสิงคโปร์ด้วยเช่นกัน เพื่อขอสิทธิยับยั้งเจ้าของเว็บไซต์หรือบัญชีรายชื่อในเฟสบุ๊ก ที่เข้าข่ายขัดประกาศ คสช. และเคยโดนปิดเว็บไซต์ หรือมีบัญชีรายชื่อไปแล้วให้ไม่สามารถกลับมาใช้งานได้ใหม่อีก

'การเข้าไปตรวจสอบไลน์นั้น จะไม่เข้าไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของประชาชนอย่างแน่นอน โดยกระทรวงจะเน้นผู้ที่กระทำความผิดตามกฎหมายเป็นหลัก และจะเน้นหลักไปที่ห้องสนทนาต่างๆ ที่มีจำนวนสมาชิกหลายคน แต่การจะเข้าไปได้จะต้องให้มีคนหนึ่งคนใดในห้องนั้นๆ แจ้งเบาะแสมายังเราเสียก่อน จึงจะเข้าไปตรวจสอบได้'

ส่วนเหตุผลที่ต้องส่งเจ้าหน้าที่ไปยังประเทศญี่ปุ่น เพื่อตรวจสอบเนื่องจากการสื่อสารผ่านไลน์ทั้งหมด จะถูกส่งผ่านไปยังเซิร์ฟเวอร์ที่ญี่ปุ่น ทำให้แม้ว่าจะมีการตั้งสำนักงานไลน์ในไทยแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ เพราะนโยบายหลักของไลน์ คือการรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน

นอกจากนี้ในวันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมากระทรวงไอซีทียังได้มีการเชิญไอเอสพี ทั้งหมดมาหารือเพื่อทำความเข้าใจเพิ่มเติมถึงแนวทางการทำงานภายใต้ประกาศของ คสช.

Company Related Link :
ICT

CyberBiz Social



Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket
กำลังโหลดความคิดเห็น