xs
xsm
sm
md
lg

เพลงออนไลน์เหมาจ่ายบูม?!?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เพราะพื้นฐานความต้องการของมนุษย์โลกคือชื่นชอบความคุ้มค่าที่เสียเงินน้อยที่สุด ตลาดเพลงออนไลน์แบบเหมาจ่ายรายเดือนจึงถือกำเนิดขึ้นด้วยแนวคิดง่ายๆ แต่ส่งผลกระทบไปถึงเทรนด์การฟังเพลงของคนทั้งโลกที่กำลังเปลี่ยนไปสู่ยุคดิจิตอลสตรีมมิ่ง รวมถึงตลาดค้าเพลงดิจิตอลที่ต้องตื่นตัวอีกครั้ง

จากข้อมูลของ Nielsen SoundScan ในช่วงปี 2013 ที่ผ่านมา ธุรกิจเพลงดิจิตอลขายขาด (Digital track sell) ผ่านดิจิตอลสโตร์ทั่วโลกมีแนวโน้มลดลงจากปี 2012 ถึง 5.7% และยอดดาวน์โหลดก็มีโอกาสลดต่ำลงในปี 2014 ทั้งที่ตลอดหลายปีที่ผ่านมายอดดาวน์โหลดเพลงจากดิจิตอลสโตร์มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะผู้ค้ารายใหญ่อย่าง iTunes Store จากแอปเปิลที่อยู่ในตลาดดิจิตอลมีเดียมานานถึง 10 ปีกับยอดผู้ใช้มากถึง 450 ล้านคนก็ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากเทรนด์ที่กำลังเปลี่ยนจนต้องมีการปรับตัวครั้งยิ่งใหญ่ในอนาคต

เหตุการณ์ครั้งนี้ Nielsen SoundScan และ IFPI (International Federation of the Phonographic Industry) ให้ความเห็นสอดคล้องกันว่า เพราะการมาของบริการเพลงออนไลน์แบบเหมาจ่ายรายเดือน (Music Streaming Service) ที่สามารถสร้างความหลากหลายในเรื่องคอนเทนต์เพลงที่มากขึ้น รวมถึงการเข้าใจหัวอกของผู้ฟังเพลงยุคใหม่

***คิดแบบคนเบื่อง่าย เปลี่ยนใจเร็ว

ในขณะที่เพลงดิจิตอลขายขาดทั้งแบบเป็นเพลงเดี่ยว (Single) หรืออัลบั้มเต็มจะให้ประสบการณ์การฟังเพลงที่ดีจากคุณภาพไฟล์เสียงเหมือนซีดีและได้ไฟล์เพลงดาวน์โหลดเป็นของเราเอง แต่สิ่งที่รูปแบบดิจิตอลขายขาดให้ไม่ได้ก็คือ ความหลากหลายในการเลือกฟังเพลงตามอารมณ์ผู้ฟัง เนื่องจากเพลงรูปแบบดิจิตอลขายขาดจะมีราคาสูง (ราคาเพลงละประมาณ 20-30 บาท) การจะซื้อเพลงเป็นร้อยเพลงเก็บไว้ฟังตามอารมณ์ของผู้ฟังคงเป็นเรื่องที่ยาก อีกทั้งคนสมัยใหม่เป็นคนเบื่อง่าย ชอบหาความบันเทิงแบบประเดี๋ยวประด๋าวฟังเสร็จเปลี่ยนเพลงใหม่ไปอย่างหลากหลาย

เพราะฉะนั้นเพลงออนไลน์แบบเหมาจ่ายรายเดือนจึงเข้ามาเติมเต็ม สิ่งเหล่านั้น ด้วยคลังเพลงในมือของผู้ให้บริการแต่ละเจ้าที่มากถึง 20-30 ล้านเพลง รวมถึงการตลาดเรียกคนฟังแบบมีชั้นเชิงด้วยเทคนิคเปิดให้ใช้งานแบบฟรีๆ หรือแบบมีโฆษณาคั่นพร้อมจำกัดการเข้าถึงฟีเจอร์เด่นบางส่วนและใช้วิธีเก็บเงินจากโฆษณาที่ออนแอร์เหมือนวิทยุเพื่อสร้างรายได้ให้ตนส่วนหนึ่งและจากค่าสมาชิกรายเดือน รายปีอีกส่วนหนึ่ง โดยถ้าผู้ใช้ไม่ต้องการฟังโฆษณาหรือต้องการใช้งานฟีเจอร์ทั้งหมดก็เพียงจ่ายค่าสมาชิกรายเดือนที่เป็นลักษณะเหมาจ่ายราคาประมาณ 200-300 บาทต่อเดือนเท่านั้น

นอกจากนั้น การทำงานของระบบเพลงแบบออนไลน์ผ่านอินเทอร์เน็ตยังมีข้อดีในเรื่องความสามารถในการเป็นคลังเพลงเคลื่อนที่ ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนบนโลก แค่มีอินเทอร์เน็ตคุณก็สามารถฟังเพลงได้ตลอดเวลา หรือถ้าต้องการดาวน์โหลดเพลงเก็บไว้เพื่อฟังแบบออฟไลน์ก็สามารถทำได้ตลอดเวลาเช่นกัน

ด้วยข้อดีทั้งหมดนี้ทำให้บริการลักษณะนี้ได้รับความนิยมจนมีผลให้อัตราการเติบโตของตลาดเพลงออนไลน์แบบ Music Streaming Service สูงถึง 51.3% จากรายงานของ IFPI เมื่อไตรมาสสุดท้ายของปี 2013 ที่ผ่านมา และคาดว่าตลาดโลกจะให้การต้อนรับบริการเหล่านี้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการที่แต่ละเจ้าเริ่มเข้าทำตลาดในหลายประเทศในปีนี้จนดันธุรกิจเพลงดิจิตอลขายขาดให้ตกต่ำลงเหมือนช่วงซีดีและเทปถูกลดบทบาทเหลือไว้แต่เพียงแค่กลุ่มคนหูทองที่นิยมฟังเพลงเสียงคุณภาพสูงที่หาได้จากซีดีเท่านั้น

ถือเป็นหนึ่งบริการดิจิตอลคอนเทนต์ยุคใหม่ที่น่าจับตามองมากที่สุด โดยเฉพาะการเข้าทำตลาดในแต่ละประเทศที่มีวัฒนธรรมการฟังเพลงและรับชมสื่อที่แตกต่างกัน

***ตลาดโลกสดใสแต่ตลาดไทยต้องใช้เวลา

แม้ปัจจุบันผู้ให้บริการเพลงออนไลน์เหมาจ่ายจากต่างชาติจะเริ่มเข้ามาตีตลาดเพลงไทยตั้งแต่เจ้าแรกอย่าง Deezer จากฝรั่งเศสที่เป็นพาร์ตเนอร์กับดีแทค และมีเพลงไทยจากค่ายอาร์เอสมากที่สุด KKBOX จากไต้หวันเป็นพาร์ตเนอร์กับเอไอเอสและเป็นคลังเพลงที่เน้นเพลงไทยมากกว่าเจ้าอื่น หรือ Rdio จากอเมริกาเน้นเพลงจากฝั่งตะวันตก เพลงอินดี้และเพลงไทยค่ายอิสระ และในอนาคตกับ Spotify ที่มีข่าวว่าทางทรูมูฟ เอชจะเป็นพาร์ตเนอร์นำมาทำตลาดในไทย แต่สุดท้ายแล้วบริการเหล่านี้ก็ยังไม่สามารถเจาะตลาดนักฟังเพลงคนไทยในปัจจุบันได้มากพอ ถึงแม้การเข้ามาทำตลาดจะมีการวิจัยและปรับคอนเทนต์ใหม่ให้เหมาะสมกับคนไทยมากเพียงใดก็ตาม

ปกรณ์ พรรณเชษฐ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายการตลาด บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ในฐานะตัวแทนผู้ให้บริการ Dtac Deezer ให้ความเห็นถึงตลาดบริการเพลงออนไลน์แบบคิดค่าบริการในประเทศไทยว่า ขณะนี้ตลาดยังไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าที่ควร เพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่เลือกที่จะหันไปใช้บริการฟรีผ่านยูทิวบ์ หรือเว็บไซต์ต่างๆ แทน

“พฤติกรรมผู้บริโภคคนไทยส่วนใหญ่จะนิยมของฟรี ทำให้บริการเสริมอย่างบริการฟังเพลงออนไลน์ที่มีค่าบริการจะไม่ค่อยได้รับ ความนิยมเท่าที่ควร ส่งผลให้ตลาดค่อนข้างนิ่ง ไม่เหมือนกับช่วงแรกที่คาดว่าจะเติบโตดีกว่านี้”

ถึงแม้ Dtac Deezer จะเป็นผู้ให้บริการเพลงออนไลน์แบบเหมาจ่ายรายแรกที่เข้ามาทำตลาดในไทยพร้อมฐานข้อมูลเพลงที่มากกว่า 30 ล้านเพลงรวมเพลงไทย แต่กลับมีผู้ใช้บริการภายในเครือข่ายดีแทคอยู่ราว 3 แสนราย โดยส่วนใหญ่จะใช้งานเป็นบริการเสริมที่พ่วงไปกับแพกเกจของสมาร์ทโฟนมากกว่า

ส่วนความคืบหน้าล่าสุดของทางเอไอเอส ก็เพิ่งมีการออกแพกเกจสำหรับลูกค้าที่ชื่นชอบเสียงเพลงภายใต้แพกเกจ “3G iSmart Music” ให้สามารถใช้งาน AIS Music Store และ KKBOX ในราคาค่าบริการรายเดือน 459 บาท ให้โทรทุกเครือข่าย 200 นาที, เล่นเน็ต 3G ไม่อั้น โดยใช้ความเร็วสูงสุดได้จำนวน 1.5 GB และรับเพิ่มอีก 1.5 GB ต่อรอบบิล นาน 12 รอบบิล, AIS WiFi ไม่อั้น และฟังเพลงฟรีกว่า 10 ล้านเพลงผ่าน AIS Music Store – KKBOX เพียงแต่ให้บริการสำหรับลูกค้าเปิดเบอร์ใหม่ ย้ายค่าย หรือเปลี่ยนจากแบบเติมเงินมาเป็นรายเดือน ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิถุนายน 2557

สอดคล้องกับทางค่ายเพลงหลายค่ายที่ต่างมองในเชิงทฤษฎีคล้ายกันว่าบริการเพลงออนไลน์ในลักษณะเหมาจ่ายรายเดือนเป็นเรื่องที่ดีและสามารถชดเชยตัวเลขการหดตัวของยอดขายเทป ซีดี และบริการดาวน์โหลดเพลงในปัจจุบันได้ แต่ในทางปฏิบัติกลับเจอปัญหาหลักคือพฤติกรรมผู้บริโภคที่ชื่นชอบของฟรีโดยเฉพาะเพลงฟรีแบบละเมิดลิขสิทธิ์ทั้งไทยและต่างประเทศจากแหล่งดาวน์โหลดต่างๆ ที่หาได้ง่าย หรือแม้แต่การรับฟังเพลงผ่านบริการยูทิวบ์ที่คนไทยส่วนใหญ่สามารถหาโปรแกรมดาวน์โหลดคลิปวิดีโอและเสียงจากยูทิวบ์พร้อมแปลงเป็นไฟล์ MP3 เก็บไว้ฟังโดยไม่ต้องเสียเงินได้

แม้จะเป็นไฟล์เสียงที่คุณภาพไม่ได้ดีเหมือนฟังจากบริการเพลงออนไลน์หรือซีดี แต่สำหรับความเห็นคนไทยหลายคนก็ยอมรับได้เพราะถือว่าอย่างน้อยก็ได้ฟังเพลงใหม่แบบไม่เสียเงินก่อนใคร ถ้าชอบแล้วเดี๋ยวค่อยไปซื้อซีดีมาเก็บไว้ หรือคุณไม่สนใจ?

แต่ก็ใช่ว่าปัญหาทั้งหมดจะมาจากเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์เพียงอย่างเดียว เพราะจากความคิดเห็นของผู้ใช้บริการเพลงออนไลน์หลายคนมีความคิดเห็นสอดคล้องกันว่า ปัญหาบางครั้งก็มาจากผู้ให้บริการเพลงออนไลน์กับค่ายเพลงในไทยที่ไม่สามารถตกลงธุรกิจกันได้ลงตัว จนทำให้คอนเทนต์ของคนไทยมีน้อยเกินไป แน่นอนในฐานะคนไทยส่วนใหญ่ก็อยากฟังเพลงไทย ดูคอนเทนต์ของคนไทยมากกว่าต่างประเทศ ทำให้การเสียเงินค่าสมาชิกเป็นจำนวน 200-300 บาททุกเดือนจึงมองว่าไม่คุ้มค่านัก

ก็คงเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายต้องช่วยกันแก้ปัญหาเหล่านี้ให้สำเร็จถ้าอยากให้ตลาดเพลงออนไลน์ในไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์ที่เป็นปัญหาค้างคามานานหลายปี

CyberBiz Social



Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket
กำลังโหลดความคิดเห็น