ด้วยแนวโน้มของตลาดโทรคมนาคมที่กำลังเกิดการแข่งขันอย่างสูง ส่งผลให้ปัจจุบันราคาโทรศัพท์มือถือที่กำลังจำหน่ายซึ่งมีการทำโปรโมชันระหว่างแบรนด์กัลโอเปอเรเตอร์ กำลังถูกกดราคาลงมาอย่างมาก จนกลายเป็นยุคทองของผู้บริโภคก็ว่าได้
“ปกรณ์ พรรณเชษฐ์” ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายการตลาด บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค มองว่า ในช่วงแรกโอเปอเรเตอร์ทุกรายจะให้ความสำคัญไปกับการพัฒนาเครือข่ายให้ครอบคลุมการใช้งาน ซึ่งเมื่อเครือข่ายเริ่มเข้าที่แล้วก็ถึงเวลาที่จะหาลูกค้าเข้ามาใช้งาน
“ตอนนี้เครือข่ายใหม่ยังว่างอยู่ ทุกรายต่างต้องทุ่มทำโปรโมชันเพื่อให้ลูกค้าใหม่เข้ามาใช้งาน ดังนั้นถือเป็นช่วงเวลาที่ผู้บริโภคได้เปรียบ ไม่ว่าจะทั้งในแง่ของโปรโมชันการใช้งานที่โอเปอเรเตอร์นำเสนอออกมา หรือแม้แต่ราคาเครื่องก็ตาม”
ส่วนหลังจากนี้เมื่อแต่ละโอเปอเรเตอร์เริ่มมีลูกค้าเข้ามาใช้งานมากขึ้น การแข่งขันก็จะเข้าสู่ในยุคที่ต้องการรักษาฐานลูกค้า ซึ่งจะเน้นไปที่บริการและคอนเทนต์เป็นหลัก โดยเชื่อว่าจะไม่ได้เห็นการลดราคาค่าเครื่องในลักษณะนี้อีก
ปกรณ์กล่าวต่อว่า ตอนนี้การขายเครื่องสมาร์ทโฟนอินเตอร์แบรนด์แทบจะไม่มีกำไร แถมยังต้องใช้งบประมาณในการเพิ่มเป็นส่วนลดให้แก่ลูกค้าด้วย อย่างล่าสุดการทำราคาพิเศษกับรุ่น HTC One M8 ที่ลดราคาลงมาเหลือ 21,900 บาท สำหรับลูกค้าดีแทคโดยเฉพาะในขณะที่ราคาปกติขายอยู่ที่ 23,500 บาท รวมไปถึงการทำโปรโมชันพิเศษที่เชิญชวนลูกค้าย้ายค่ายมาใช้งาน หรือเปิดเบอร์ใหม่ด้วย
“เมื่อก่อนการขายสมาร์ทโฟนถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางสร้างรายได้ให้แก่โอเปอเรเตอร์ แต่ในช่วงที่มีการแข่งขันกันสูงในอุตสาหกรรมทำให้ต้องมีการปรับลดราคาเพื่อแข่งขันกัน หรือแม้แต่การนำงบการตลาดมาเป็นส่วนลดเพิ่มไปอีกเพื่อให้ลูกค้าเลือกซื้อสมาร์ทโฟนกับดีแทค”
รวมกับล่าสุดดีแทคเลือกที่จะนำบริการอย่าง 4G มาให้บริการแก่ลูกค้าที่อยู่ในกรุงเทพฯ ชั้นใน เพื่อช่วยลดปริมาณลูกค้าที่ใช้งาน 3G และเพื่อให้ลูกค้าที่ยังไม่สามารถใช้งาน 4G ได้มีประสบการณ์ใช้งานที่ดีขึ้นบนความถี่ 3G ส่งผลให้ดีแทคต้องเร่งผลักดันการใช้งาน 4G เพิ่มขึ้นด้วย นอกจากการขายเครื่อง 3G ในช่วงที่ผ่านมา
เพียงแต่ว่าในการเพิ่มปริมาณผู้ใช้งาน 4G ดีแทคยังไม่มีแผนที่จะทำตลาดด้วยตนเองภายใต้แบรนด์ ไตรเน็ตโฟน เนื่องจากมองว่ากลุ่มลูกค้าที่ใช้งาน 4G ส่วนใหญ่จะใช้กับเครื่องประสิทธิภาพสูงเป็นหลัก และลูกค้าส่วนใหญ่ที่ใช้เครื่องต่ำกว่า 1 หมื่นบาทยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้งาน
“ไตรเน็ตโฟนถูกบังคับให้ทำราคาถูกลงเรื่อยๆ ถึงแม้จะไม่ได้กำไรจากการขายเครื่องก็ตาม แต่ก็ถือว่าเป็นการเพิ่มยอดผู้ใช้บริการ เพียงแต่รุ่นที่ได้รับความนิยมจะอยู่ในกลุ่มผู้เริ่มใช้สมาร์ทโฟนมากกว่า ดังนั้นในการขายเครื่อง 4G จึงเน้นร่วมมือกับอินเตอร์แบรนด์มากกว่า”
โดยปัจจุบันดีแทคมีจุดแข็งอยู่ที่ช่องทางจำหน่ายจากแบรนด์ชอป และเซอร์วิสเซ็นเตอร์ กว่า 300 แห่ง และจะเพิ่มเป็น 400 แห่งภายในสิ้นปีนี้ ไม่นับรวมกับอีกกว่า 10,000 จุดขายที่รับสินค้าดีแทคไปขาย ซึ่งอยู่ภายใต้แนวคิดการสร้างประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานให้แก่ลูกค้า
ขณะที่ในมุมของรายได้ ก็ยอมรับว่าผู้ให้บริการทุกรายหวังที่จะให้ลูกค้าใช้งานเครือข่ายในระยะยาวเพื่อก่อให้เกิดรายได้หลังจากที่ขาดทุนในส่วนของการขายเครื่องไปแล้ว ซึ่งในความเป็นจริงก็ต้องคาดหวังให้ลูกค้าอยู่ในระบบนานกว่า 6 เดือนขึ้นไป
อย่างไรก็ตาม ในช่วงครบรอบ 1 ปีให้บริการบนคลื่น 2.1 GHz ทางดีแทคก็มีแคมเปญแจกทองให้แก่ลูกค้าที่ย้ายค่ายมาใช้งาน หรือสมัครใช้งานใหม่ลุ้นรับทองมูลค่า 1 ล้านบาทต่อวัน ต่อเนื่อง 50 วัน โดย 5 วันสุดท้ายจะเปิดโอกาสให้ลูกค้าที่ใช้งานอยู่เดิมลุ้นรับด้วยมูลค่า 5 ล้านบาท รวมเป็นทั้งหมด 55 ล้านบาท
ส่วน “ปรัธนา ลีลพนัง” รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานการตลาด บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส มองไปในทิศทางเดียวกันว่าขณะนี้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมกำลังอยู่ในจุดเดือด เพราะแต่ละค่ายพยายามผลักดันจุดเด่นของตนเอง อย่างดีแทคก็ใช้การโปรโมตถนน 3 เลน ทรูมูฟ เอช มี 4G แต่ละค่ายมีจุดขายเพื่อเชิญชวนลูกค้าไปใช้
ในขณะที่ทางเอไอเอสก็จะชูความโดดเด่นของความถี่ 2.1 GHz เพียงคลื่นเดียวก็สามารถส่งสัญญาณได้ครอบคลุมเทียบเท่าพื้นที่ให้บริการ 2G เดิมแล้ว และเตรียมที่จะลงสถานีฐานเพิ่มเติมในจุดที่มีการใช้งานหนาแน่นด้วย
“จะเห็นได้ว่าตอนนี้ในตลาดมีการลดราคามือถืออย่างรุนแรง เพราะแต่ละค่ายต้องการลูกค้าเพิ่ม โดยทางเอไอเอสก็จะพยายามชูจุดเด่นในแง่ของการนำความถี่เดียวมาใช้งานเพื่อให้เกิดความราบรื่น และประสบการณ์ใช้งานที่ดีที่สุด ไม่ต้องกังวลกรณีเปลี่ยนคลื่นแล้วเกิดอาการสายหลุดเป็นต้น”
นอกจากนี้ ก็พยายามผลักดันดีไวส์ที่อยู่ในระดับราคาที่เหมาะสมกับผู้บริโภคให้มากขึ้น อย่างล่าสุดการจัดแคมเปญ AIS Super Deal ที่นำสมาร์ทโฟนหลากหลายรุ่นมาลดราคาสูงสุด 50% ทั้งไอโฟน ซัมซุง โนเกีย รวมไปถึง AIS 3G Super Combo Black Series ที่ร่วมมือกับผู้ผลิตจากอินเดียในการนำสมาร์ทโฟนระดับราคาต่ำกว่า 3,000 บาทเข้ามาจำหน่าย
ส่วนในอนาคตเชื่อว่าระดับราคาสมาร์ทโฟน 3G จะต่ำลงไปกว่านี้อีกเล็กน้อย เช่นเดียวกับราคาของฟีเจอร์โฟน 3G ที่ปัจจุบันอยู่ในระดับเกือบ 1 พันบาท ก็จะลดราคาลงไปอีก 200 - 300 บาท เพื่อให้ผู้บริโภคที่ต้องการใช้งานมีโอกาสมากขึ้น
'ยังมีผู้บริโภคกลุ่มหนึ่งที่มองว่าสมาร์ทโฟน 3G ไม่ใช่ทางเลือกที่ต้องการ เพราะในการใช้งานเน้นไปที่โทรศัพท์เป็นหลักจึงยังมีโอกาสที่ฟีเจอร์โฟน 3G ยังจะสามารถทำตลาดได้ต่อไป เพราะลูกค้ากลุ่มนี้ส่วนใหญ่ยังใช้บริการอยู่บนเครือข่ายเดิม ทำให้เอไอเอสต้องหาทางให้ลูกค้ากลุ่มนี้หันมาใช้เครือข่ายใหม่ให้ได้”
ด้วยสัญญาสัมปทานของคลื่นความถี่ 900 MHz ของเอไอเอสที่จะหมดลงในเดือนกันยายน 2558 ทำให้ต้องเร่งสร้างความรับรู้ในการใช้งานเครือข่ายใหม่ 3G 2100 MHz ให้เกิดแก่ผู้ใช้งานมากที่สุด และในอนาคตก็อาจจะมีการนำเครื่องอย่างฟีเจอร์โฟนแจกให้ลูกค้าเพื่อหันมาใช้งานเครือข่ายใหม่ก็เป็นได้ เพียงแต่ยังไม่จำเป็นต้องทำในขณะนี้เพราะถือว่ายังมีเวลาอยู่
ประกอบกับในช่วงวันครบรอบให้บริการคลื่น 2.1 GHz เมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา ทางเอไอเอสก็ได้ทำแคมเปญแจกรางวัลแก่ลูกค้าทั้งสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ดาต้าใช้งานเพิ่มเติม รวมถึงคอนเทนต์จากแอปพลิเคชันของเอไอเอส มูลค่าของรางวัลรวมกว่า 85 ล้านบาท
ขณะที่ฝั่งของทรูมูฟ เอช ซึ่งถือเป็นผู้บริการรายแรกที่ให้บริการ 4G LTE ในประเทศไทยมากว่า 1 ปี ก็ขยับเข้าสู่การแย่งชิงฐานลูกค้าเพิ่มเติม ด้วยการออกแคมเปญเปิดโอกาสให้ลูกค้าย้ายค่าย หรือสมัครใช้งาน 4G LTE เพื่อลุ้นโชครับเฟอร์รารี่ และของรางวัลอื่นๆ มูลค่ากว่า 35 ล้านบาท
“ปพนธ์ รัตนชัยกานนท์” ผู้อำนวยการบริหารด้านการพัฒนาธุรกิจเชิงกลยุทธ์และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ / ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่ใช้งานสมาร์ทโฟนระดับไฮเอนด์จะมีเครื่องที่รองรับ 4G LTE อยู่แล้ว โดยจากข้อมูลล่าสุดในช่วงปลายปีที่ผ่านมามีเครื่องที่รองรับการใช้งานแล้วในตลาดราว 3 ล้านเครื่อง ในขณะที่จำนวนผู้ใช้งานมีอยู่ราว 2.5 แสนรายเท่านั้น
โดยทางทรูมูฟ เอช คาดการณ์ว่าจนถึงสิ้นปีจะมีลูกค้าในระบบทรูมูฟ เอช ใช้งาน 4G LTE ประมาณ 1 ล้านราย เช่นเดียวกับดีแทคที่วางเป้าลูกค้าใช้งาน 4G LTE ไว้ที่ 1 ล้านรายเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ หากเทียบการแข่งกันดูดลูกค้าทั้ง 3 ค่ายพบว่า เมื่อลองเทียบราคาจำหน่าย iPhone จากทั้ง 3 ค่าย ภายใต้โปรโมชันย้ายค่ายเบอร์เดิม หรือเปิดเบอร์ใหม่ เริ่มกันจาก iPhone 5S รุ่น 16 GB ราคาของเอไอเอสจะอยู่ที่ 18,900 บาท ส่วนดีแทคเริ่มที่ 22,500 บาท และทรูมูฟ เอช 19,500 บาท ขณะที่รุ่น iPhone 5C 16 GB เอไอเอส ให้ราคาที่ 11,900 บาท ดีแทค 12,900 บาท และทรูมูฟ เอช 13,700 บาท
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการใช้โปรโมชันย้ายค่ายเบอร์เดิมทางผู้ให้บริการจะมีการเก็บค่าบริการรายเดือนล่วงหน้าไปด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกค้าซื้อเครื่องราคาถูกแล้วยกเลิกการใช้บริการ ซึ่งในจุดนี้ผู้บริโภคก็จะได้โปรโมชันโทร.พร้อมอินเทอร์เน็ตไปใช้งานด้วยทันที
***ผู้บริโภคหันซื้อเครื่องไฮเอนด์ผ่านโอเปอเรเตอร์
“โอภาส เฉิดพันธุ์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็ม วิชั่น จำกัด ผู้จัดงานไทยแลนด์ โมบาย เอ็กซ์โป ระบุว่า แนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องการซื้อสมาร์ทโฟนในช่วงหลัง เริ่มหันมาให้ความสำคัญต่อแพกเกจการใช้งานมากขึ้น เพราะในการใช้งานสมาร์ทโฟนจำเป็นต้องใช้ควบคู่ไปกับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือมากขึ้น
ส่งผลให้เมื่อมีการจำหน่ายเครื่องสมาร์ทโฟนในระดับไฮเอนด์ ทั้งแบรนด์มือถือ และโอเปอเรเตอร์ จะร่วมมือกันจัดโปรโมชันพิเศษให้แก่ลูกค้า เป็นการให้ส่วนลดค่าเครื่อง และแพกเกจราคาพิเศษให้ลูกค้า และเมื่อตลาดยิ่งมีการแข่งขันที่สูงขึ้น แต่ละโอเปอเรเตอร์ก็จะยิ่งหั่นราคาสมาร์ทโฟนลงมา
“ผู้บริโภคที่ซื้อสมาร์ทโฟนในระดับราคาเกิน 1 หมื่นบาทจะหันเข้าไปหาช่องทางจำหน่ายผ่านโอเปอเรเตอร์มากขึ้น ขณะที่ในเครื่องระดับต่ำกว่า 1 หมื่นบาทยังคงใช้ช่องทางซื้อขายเดิมผ่านหน้าร้านดีลเลอร์ หรือตามร้านขายโทรศัพท์มือถือทั่วไปแทน” และยังมองว่าในระยะยาวอาจจะส่งผลกระทบต่อร้านค้าทั่วไปที่จำหน่ายสมาร์ทโฟน เพราะส่วนใหญ่จะมีรายได้หลักจากการขายเครื่องระดับไฮเอนด์มากกว่า เนื่องจากรายได้ต่อการจำหน่ายเครื่องระดับต่ำกว่า 1 หมื่นบาทจะค่อนข้างน้อย ทำให้ต้องจำหน่ายในปริมาณที่มากขึ้น
CyberBiz Social