xs
xsm
sm
md
lg

7 ทางแก้ของเหยื่อ "ถูกหลอกชวนโชว์โป๊-แบล็กเมล" ผ่าน Facebook

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จะต้องทำอย่างไรถ้าคุณตกเป็นเหยื่อ "ถูกหลอกจีบ-แบล็กเมล" ผ่านเครือข่ายสังคมฮิตอย่างเฟซบุ๊ก (Facebook)? วันนี้หนุ่มไทยจำนวนมากมีสาวเซ็กซี่สไตล์อินเตอร์มาชวนให้เปลื้องผ้าเพื่อเล่นสนุกทางไกล แต่เมื่อโชว์โป๊แล้วกลับถูกบันทึกวิดีโอพร้อมขู่ว่าจะส่งวิดีโอพิเรนทร์นี้ให้กับเพื่อนทุกคนในเฟซบุ๊ก และบุคคลทุกคนที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการศึกษาหรือองค์กรที่ทำงาน ซึ่งถ้าไม่ต้องการอับอาย ก็จงส่งเงินจำนวนหลายพันเหรียญสหรัฐมาแต่โดยดี

ใครที่ตกเป็นเหยื่อล่อลวงที่มีชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า "ไซเบอร์เฟลิต (cyber flirt)" สามารถหาทางออกได้ด้วย 7 ขั้นตอนในบทความนี้ โดยทั้ง 7 ทางออกเป็นคำแนะนำของหน่วยงานรักษาความปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติมาเลเซียหรือ CyberSecurity Malaysia ซึ่งถือเป็นอีกหน่วยงานที่ได้รับเสียงร้องเรียนจากเหยื่อเพิ่มขึ้นมากเหลือเกินในปี 2013-2014 ที่ผ่านมา

เตือนภัยหนุ่มทั่วโลก

หน่วย CyberSecurity Malaysia แห่งช่าติมาเลเซียเคยออกประกาศเตือนชาวมาเลเซียนให้ระวังภัยลวง 'cyber flirts' เมื่อเดือนมกราคม 2014 ซึ่งภัย cyber flirts นี้กลายเป็นความกังวลระดับโลกเพราะภัยนี้เชื่อมโยงกับปัญหาอีเมลขยะสไตล์แบล็กเมลหรือ blackmail spam ที่ทำให้ชาวออนไลน์เดือดร้อนกังวลใจไม่น้อย จุดนี้ CyberSecurity Malaysia ให้ข้อมูลว่าเหยื่อส่วนใหญ่จะครอบคลุมตั้งแต่เด็กหนุ่มวัยรุ่นถึงชายวัยกลางคน ขณะที่ขบวนการนักต้มตุ๋นคาดว่าประกอบด้วยหลายเชื้อชาติทั้งหญิงและชาย โดยศูนย์กลางการล่อลวงมีอยู่ในหลายพื้นที่ทั่วโลก รวมถึงมาเลเซีย

วิธีการต้มตุ๋นของขบวนการนี้จะเริ่มที่การพุ่งเป้าไปที่เครือข่ายสังคมฮิตอย่างเฟซบุ๊กเพื่อหาเหยื่อซึ่งเปิดกว้างรับเป็นเพื่อนกับทุกคน จากนั้นจะใช้บริการวิดีโอแชตอย่างสไกป์ (Skype) เป็นสื่อกลางในการชวนคุยเพื่อเริ่มกิจกรรมจีบให้ตายใจ ก่อนที่จะลวงให้เหยื่อโชว์ของลับเพื่อจะได้บันทึกภาพและข่มขู่ว่าจะเผยแพร่ภาพนี้หากเหยื่อไม่ยอมส่งเงิน 1,000-5,000 เหรียญสหรัฐไปให้

เฉพาะในมาเลเซีย หน่วย CyberSecurity Malaysia ระบุว่ามีผู้ร้องเรียนว่าถูกแบล็กเมลผ่านศูนย์ช่วยเหลือ Cyber999 Help Centre เพียง 4 คนในปี 2012 แต่ในช่วงกลางปี 2013 พบว่าจำนวนการร้องเรียนมีปริมาณเพิ่มขึ้นสูงมากต่อเนื่อง จุดนี้ทางการมาเลเซียมีการประสานไปยังกรมตำรวจ Royal Malaysia Police (RMP) เพื่อสืบสวนและดำเนินการปราบปรามอย่างจริงจังแล้ว

ถึงปลายปี 2013 จำนวนการร้องเรียนในมาเลเซียเพิ่มขึ้นเป็น 73 ครั้ง คิดเป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้นมากกว่า 18.5 เท่าตัว จุดนี้หากมีการเปิดเผยสถิติในเมืองไทย เชื่อว่าจำนวนผู้ร้องเรียนชาวไทยจะมีจำนวนไม่น้อยไปกว่ากัน

ภัยลวง cyber flirt บนเฟซบุ๊กนั้นได้รับความสนใจจากชาวออนไลน์ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2013 ซึ่งเป็นช่วงที่กระทู้เตือนภัยถูกเผยแพร่บนเว็บไซต์พันทิปดอทคอม ล่าสุด ปฐม อินทโรดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เออาร์ไอพี จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในผู้มีประสบการณ์ตรงเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2014 แต่สามารถรู้ทันและรายงานชื่อบัญชีที่นักต้มตุ๋นแอบอ้างต่อเฟซบุ้ก โดยเพื่อนฝูงคนรู้จักของปฐมก็มีประสบการณ์ถูกเชิญชวนให้เป็นเหยื่อไม่น้อยกว่า 4 คน

"พวกนี้ดูง่ายครับ คุยกันไปสักพักก็ I love you แล้ว เห็นแบบนี้ Report ได้เลย หลอกเอาตังค์แน่นอน"

ภัย cyber flirt ที่หนุ่มไทยพบนั้นใกล้เคียงกับข้อมูลภัยลวงในมาเลเซีย โดยจากการประมวลคำร้องเรียนกว่า 80 ครั้งในรอบปีที่ผ่านมา พบว่านักต้มตุ๋นจะสร้างโปรไฟล์แสดงภาพสาวเซ็กซี่สัญชาติฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น หรือเกาหลี นักต้มตุ๋นเหล่านี้จะชวนคุยให้เหยื่อตายใจและจะลงทุนเปลื้องผ้าเล็กน้อยเมื่อล่อลวงให้เหยื่อตกลงคุยวิดีโอแชตแล้ว ซึ่งหากเหยื่อหลงกลและยอมโชว์ของลับ นักตุ้มตุ๋นจะเล่นไฟล์วิดีโอแชตที่บันทึกไว้เพื่อบังคับให้เหยื่อโอนเงินผ่านบริการอย่าง Western Union หรือบัญชีเงินฝากธนาคารของบุคคลที่ 3 ไม่เช่นนั้นวิดีโอโชว์โป๊นี้จะถูกเผยแพร่บน Facebook และ YouTube

โดนแล้วให้เลิกติดต่อ

หน่วย CyberSecurity Malaysia แนะนำเหยื่อที่หลงกลถอดผ้าไปแล้วให้เมินเฉยต่อคำขู่แบล็กเมลนั้น โดยควรเลิกติดต่อกับนักต้มตุ๋นทุกช่องทาง และไม่ต้องสนใจสายโทรเข้าจากคนแปลกหน้า, ข้อความเอสเอ็มเอส หรือข้อความสนทนาใดๆที่สงสัยว่าจะเป็นข้อความจากนักต้มตุ๋น

ขั้นที่ 2 คือให้ลบหรือ Remove ชื่อบัญชีนักต้มตุ๋นนี้ออกไปจากรายการเพื่อนในเครือข่ายสังคมทั้งหมดที่มี โดยเพิ่มชื่อบัญชีงูพิษนี้ไว้ในรายการ 'blocked' ให้หมด

ขั้นที่ 3 คือตั้งค่าให้บัญชีเครือข่ายสังคมทุกแห่งที่มีอยู่เป็นแบบ private หรือส่วนตัว ขั้นนี้จะทำให้นักต้มตุ๋นไม่สามารถติดต่อคุณหรือเพื่อนของคุณได้

ขั้นที่ 4 คือบันทึกข้อมูลการสนทนาทุกชนิดไว้เพื่อเป็นหลักฐาน ทั้ง chat log หรือประวัติการสนทนา, ภาพหน้าจอหรือ screenshot, และอีเมลทุกฉบับที่มีเนื้อหาข่มขู่ ซึ่งทั้งหมดจะเป็นหลักฐานในการรายงานความผิดหรือสอบสวนต่อไป

ขั้นที่ 5 คือให้ท่องไว้เสมอว่าสัจจะไม่มีในหมู่โจร ดังนั้นการจ่ายเงินให้กับนักต้มตุ๋นจึงไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้อง เนื่องจากมีโอกาสสูงมากที่นักต้มตุ๋นจะส่งข้อความมารีดไถเงินต่อเนื่องไม่รู้จบ

ขั้นที่ 6 คือลงบันทึกประจำวันไว้กับตำรวจท้องที่ จุดนี้แม้นักต้มตุ๋นจะเป็นชาวต่างชาติ แต่การลงบันทึกประจำวันกับตำรวจในส.น.ใกล้บ้านนั้นเป็นสิ่งที่ควรทำในเบื้องต้นเพราะอาจเป็นประโยชน์ในการสอบสวนคดีในอนาคต จุดนี้ถือเป็นคำแนะนำที่หน่วยงานหลายประเทศยืนยัน

ขั้นที่ 7 คือรายงานเรื่อง จุดนี้ผู้ใช้สามารถรายงานตรงต่อเฟซบุ๊กเพื่อให้เจ้าพ่อเครือข่ายสังคมปิดบัญชีที่เป็นภัยต่อสังคมออนไลน์นี้ไปเสีย ขณะเดียวกันก็ควรรายงานต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ที่เว็บไซต์ www.tcsd.in.th หรือในกรณีผู้ที่สงสัยว่านักต้มตุ๋นเป็นชาวมาเลเซีย สามารถรายงานที่ศูนย์ Cyber999 Help Centre ของ CyberSecurity Malaysia โดยอีเมลไปที่ cyber999@cybersecurity.my หรือโทร 1-300-88-2999 (กรณีโทรจากพื้นที่มาเลเซีย) รวมถึงส่งข้อความ SMS ไปที่ +60 19 2665850 นอกเวลาทำการ

สำหรับชาวออนไลน์ทั่วไปที่ยังไม่ถูกเลือกเป็นเหยื่อ สามารถป้องกันตัวเองได้ด้วยการระมัดระวังเสมอว่าการโทรศัพท์ด้วยเสียงหรือวิดีโอผ่านอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์พกพานั้นสามารถถูกบันทึกและส่งต่อได้ ดังนั้นจึงควรพูดหรือปฏิบัติตัวตามจริยธรรมที่ดีบนสังคมออนไลน์ทุกชนิด ทั้งที่เป็นเครือข่ายสังคม กระทู้สนทนา รวมถึงการรับส่งข้อความสนทนาเรียลไทม์

นอกจากนี้ การเพิ่มความระมัดระวังในการยอมรับคนแปลกหน้าเป็นเพื่อนคือสิ่งที่ชาวออนไลน์ควรทำ ขณะเดียวกันก็ควรเตือนภัยหรือรายงานความผิดปกติต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที ที่สำคัญ การตั้งค่าใน Skype เพื่อป้องกันคนแปลกหน้าก็สามารถทำได้ด้วยการเลือกที่ Tools จากนั้นคลิกที่ Options เลือก Privacy และตั้งค่าเป็น Only Allow IMs, Calls etc from People on my Contact List จากนั้นให้กด SAVE เพื่อบันทึก

ทั้งหมดนี้ต้องไม่ลืมว่า ชาวออนไลน์ต้องหมั่นอัปเดทซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ให้ทันสมัยอยู่เสมอ ซึ่งเป็นกฏพื้นฐานที่ทุกหน่วยงานยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าจะเพิ่มความปลอดภัยได้อีกทาง.
กำลังโหลดความคิดเห็น