เนคเทคเปิดตัวแอปพลิเคชัน “S-Sense แอปฯ วัดความรู้สึกคนไทยบนโซเซียลมีเดีย” โดยการวิเคราะห์อารมณ์จากภาษาไทยที่โพสต์อยู่บนโลกโซเชียลมีเดีย มุ่งส่งเสริมให้กลายเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่สำคัญในอนาคต ตั้งเป้าถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ภาครัฐและเอกชนใช้เป็นเครื่องมือสำรวจความพึงพอใจและติดตามทัศนคติของสาธารณะที่มีต่อผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้ผู้ประกอบการเอกชนและภาครัฐ
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) แถลงผลสำเร็จของการพัฒนาแอปพลิเคชัน S-Sense : Social Sensing เครื่องมือสำหรับรวบรวม ติดตาม วิเคราะห์ และประมวลผลข้อความบนโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook, Twitter, YouTube, Pantip.com ฯลฯ
แต่เนื่องจากข้อความส่วนใหญ่ในโลกไซเบอร์นิยมใช้ภาษาที่ไม่เป็นทางการหรือภาษาพูด รวมทั้งมีโครงสร้างประโยคที่ไม่ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ภาษาไทย จึงทำให้ยากต่อการวิเคราะห์ ดังนั้น เทคโนโลยีของ S-Sense จึงถูกคิดค้นและพัฒนาขึ้นมาด้วยเทคนิคการประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing) การทำเหมืองข้อความ (Text Mining) การวิเคราะห์อารมณ์และความรู้สึกจากข้อความ (Sentiment Analysis) เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ข้อความที่ใช้ภาษาพูดที่ไม่เป็นทางการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ระบบ S-Sense สามารถนำมาช่วยให้ธุรกิจหรือองค์กรรับรู้กิจกรรมความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับองค์กรของตน และตรวจสอบความพึงพอใจตลอดจนติดตามทัศนคติของสาธารณะที่มีต่อยี่ห้อผลิตภัณฑ์ หรือบริการต่างๆของตนได้เพื่อให้เข้าใจถึงความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น
โดยทีมนักวิจัยเนคเทคได้เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจล่าสุดพบว่า ในช่วงเดือนมกราคมถึง มีนาคม 2556 มีการพูดถึงสถานที่ท่องเที่ยวและ Check-In มากที่สุดคือ พารากอน ขณะที่สถานที่ท่องเที่ยวที่มีการพูดถึงในเชิงบวกมากที่สุดคือ ถนนข้าวสาร และสถานที่ท่องเที่ยวที่มีการกล่าวถึงในเชิงลบมากที่สุดคือ ภูชี้ฟ้า ทั้งนี้ รายละเอียดของผลที่ได้ไม่มีการกล่าวถึงแต่อย่างใด เนื่องจากการวิเคราะห์เป็นเพียงการอ่านคำจากตัวอักษรที่มีการโพสต์อยู่บนโลกออนไลน์เท่านั้น
ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ http://pop.ssense.in.th เพื่อติดตามข้อมูลความรู้สึกของผู้ที่ใช้ภาษาไทยบนโลกออนไลน์แบบเรียลไทม์
ทั้งนี้ การทดลองเบื้องต้นโดยพิมพ์คำว่า “แท็บเล็ต” ผลที่ได้รับยังมีความคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง เนื่องจากบางประโยคมีคำว่าแท็บเล็ตอยู่ในประโยคจริง แต่คำที่แสดงอารมณ์นั้นๆ ไม่ได้สื่อความหมายถึงเครื่องแท็บเล็ตว่าบวกหรือลบ ดังนั้นก่อนตัดสินใจเชื่อควรพิจารณาจากรายละเอียดของทั้งประโยค