ศธ.เตรียมทำโครงการ English Speaking Year 2012 วางแผน 1 วันใน 1 สัปดาห์ครู และนักเรียนต้องสื่อสารโดยใช้ภาษาอังกฤษตลอดทั้งวัน ผ่านกิจกรรมต่างๆ เพื่อเตรียมตัวก่อนเข้าสู่ประชาคมอาเซียน หวังเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดความกล้าที่จะพูด โดยไม่ต้องกังวลการสื่อสารตามไวยากรณ์ที่ถูกต้อง พร้อมเปิดตัวโครงการ 26 ธ.ค.นี้
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า เนื่องจากในปี 2558 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และภาษาอังกฤษจะมีความสำคัญในการใช้เพื่อการสื่อสาร เพราะฉะนั้นกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะส่งเสริมให้สถานศึกษาในสังกัด ได้ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารมากขึ้น โดยในปี 2555 เป็นปีของการส่งเสริมการสื่อสารภาษาอังกฤษภายใต้โครงการ English Speaking Year 2012 ที่กำหนดให้ใน 1 สัปดาห์ จะต้องมี 1 วันที่ครูและนักเรียนได้ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน และใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร เช่น จัดเป็นมุมภาษาอังกฤษ การฝึกนักเรียนเป็นมัคคุเทศก์ เป็นต้น ขณะเดียวกันจะต้องมีการอบรมเตรียมความพร้อมเรื่องภาษาอังกฤษให้กับครูทั่วประเทศด้วย ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของการทำโครงการนี้นั้น นอกจากการเตรียมพร้อมและส่งเสริมการสื่อสารภาษาอังกฤษระหว่างครูและนักเรียนแล้ว ศธ.ต้องการฝึกความกล้าในการที่จะพูดหรือสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ โดยไม่จำเป็นต้องมากังวลว่าจะพูดหรือสื่อสารแบบใดให้ถูกหลักไวยากรณ์ด้วย อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายให้ น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ปลัด ศธ.ไปหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เพื่อวางแผนการทำงานภายใต้โครงการดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม
ด้าน น.ส.ศศิธารา กล่าวว่า ในวันที่ 26 ธ.ค.2554 นี้ ศธ.จะเปิดตัวโครงการดังกล่าวอย่างเป็นทางการ และจะทยอยเริ่มทำในโรงเรียนที่มีความพร้อม ก่อนจะขยายไปเรื่อยๆ จนคนส่วนใหญ่ของประเทศไทยสามารถพูด สื่อสาร และใช้ภาษาอังกฤษได้ พร้อมกันนี้ จะเริ่มจัดอบรมครูทั่วประเทศให้มีทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ ทั้งการสื่อสาร และการเรียนการสอน และมีการทำกิจกรรมร่วมกับสถานฑูต หรือองค์กรต่างประเทศ รวมถึงตัวแทนจากสถาบันภาษาเข้าร่วม เช่น AUA British Council รวมถึงโรงเรียนนานาชาติก็จะมาเข้ามาช่วยอบรมครูเพื่อไปสอนในวิชาต่าง ๆ ด้วย ซึ่งไม่ใช่เฉพาะวิชาหลักเท่านั้น แต่รวมถึงสาขาเฉพาะทาง เช่น ศัพท์ช่างของนักเรียนอาชีวะ เป็นต้น เพราะแต่ละสาขาก็จะใช้ศัพท์ต่างกัน
“จะมอบให้ผู้ตรวจ ศธ.ลงไปสำรวจดูว่าโรงเรียนไหนมีความพร้อมด้านภาษาอังกฤษ โรงเรียนไหนไม่มีความพร้อม โดยจะแบ่งเป็นพื้นที่ เช่น พื้นที่สีฟ้ายังไม่พร้อม สีเขียว มีความพร้อมปานกลาง และสีชมพูมีความพร้อมมาก เพื่อเป็นตัวชี้วัดให้เห็นหากพื้นที่ใดมีปัญหาก็จะได้เข้าไปแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด นอกจากนี้ มีแนวคิดว่าเราต้องสร้างแรงจูงใจให้กับโรงเรียนด้วย เช่น หากโรงเรียนใดสามารถดำเนินการได้สัมฤทธิ์ผลก็อาจจะมีรางวัล ให้ทุนไปศึกษาดูงานในประเทศอาเซียน เป็นต้น”ปลัด ศธ.กล่าว