xs
xsm
sm
md
lg

จับตา "อนุดิษฐ์ นาครทรรพ" รมว.ไอซีทีคนใหม่

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

แฟ้มภาพ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือกระทรวงไอซีทีคนใหม่
เป็นที่แน่นอนแล้วว่า "น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ" คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือกระทรวงไอซีทีคนใหม่ แม้ว่าตามประวัติ น.อ.อนุดิษฐ์ นั้นจบด้านการศึกษาโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 23 เคยเป็นเลขานุการ รมว.กลาโหม ที่ปรึกษารมว.เกษตรและสหกรณ์ และโดดเด่นเรื่องความรู้เฉพาะทางด้านการบิน ยังไม่มีประวัติความเชี่ยวชาญงานด้านไอซีทีที่แน่ชัดในขณะนี้

แต่สิ่งที่น่าจับตาคือน.อ.อนุดิษฐ์เคยให้ความเห็นไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในฐานะส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย ประธานสำนักปราบโกง พรรคเพื่อไทย ว่าขอชื่นชมนายอารีพงษ์ ภู่ชอุ่ม ประธานบอร์ด ทีโอที ที่มีนโยบายให้คณะกรรมการประกวดราคาหาข้อมูลเพิ่มเติม หลังได้รับหนังสือร้องเรียนจากจากบริษัทอื่นๆ ในการประมูลเพื่อติดตั้งโครงข่าย 3G ทีโอทีทั่วประเทศ โดยยกย่องให้เป็นการตัดสินใจที่ละเอียดและรอบคอบ

"เนื่องจากการดำเนินการมีข้อครหาเรื่องความไม่โปร่งใสมาตลอด และการล็อคบริษัทที่ชนะการประมูลตั้งแต่ต้น รวมทั้งไม่เคยมีการประกาศทีโออาร์ ให้บุคคลที่สนใจหรือบริษัทผู้ประกอบการรับทราบล่วงหน้า" คำให้สัมภาษณ์ของน.อ.อนุดิษฐ์ที่แสดงว่ามีการติดตามข่าวในวงการโทรคมนาคมไทยอย่างน้อยก็ระยะหนึ่ง ซึ่งพรรคเพื่อไทยต้องเตรียมข้อมูลเรื่องการประมูล 3G ในการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลอภิสิทธิ์ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ครั้งนั้นน.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวว่าต้องการเรียกร้องไปยังนายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ให้ตรวจสอบการดำเนินการของผู้รับผิดชอบทุกระดับให้โปร่งใส เพื่อให้โครงการมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด แถมบอกว่าข้อเรียกร้องเรื่องความไม่ชอบมาพากล การทุจริตล็อคสเปก รวมถึงการฮั้วประมูลนั้น สำนักปราบโกงพรรคเพื่อไทยได้รับข้อมูลเบื้องต้นแล้ว ทั้งหมดนี้ต้องรอดูว่ารมว.ไอซีทีคนใหม่จะลงดาบใครอย่างไร เมื่อมีอำนาจเต็มที่ในมือแล้ว

การได้เก้าอี้รมว.ไอซีทีของน.อ.อนุดิษฐ์ นั้นไม่น่าแปลกใจ เพราะการมีบทบาทในพรรคเพื่อไทยเป็นอันดับต้นๆ โดยน.อ.อนุดิษฐ์มีดีกรีเป็นส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทยในฐานะเลขานุการคณะกรรมการเตรียมการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในการพิจารณาร่างงบประมาณเพิ่มเติมประจำปี 2554 โดยรับผิดชอบเรื่องการปราบโกง ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เห็นว่าน.อ.อนุดิษฐ์เป็นคนที่"กล้าพูดกล้าคิด"มากทีเดียว

เรื่องสนุกนั้นอยู่ที่นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เคยตอกหน้าพรรคเพื่อไทยว่า ข้อมูลการทุจริตที่ทีมงานภายใต้การนำของน.อ.อนุดิษฐ์ล้วนเป็นข้อมูลที่ตัดแปะมาจากหน้าหนังสือพิมพ์ ปรากฏว่าน.อ.อนุดิษฐ์ยืดอกรับว่าเป็นไปตามที่คู่กัดพรรคประชาธิปัตย์พูด แต่กลับระบุว่าข่าวการทุจริตที่อยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์ เป็นผลมาจากการตรวจสอบของพรรคเพื่อไทย

...แบบนี้ไม่เรียกว่ากล้าพูด ก็ไม่รู้จะเรียกว่าอะไรแล้ว...

*****ประวัตินาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

เกิดเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2508 เป็นบุตรชายของ นาวาอากาศตรี ฐิติ นาครทรรพ (อดีตเลขาธิการพรรคสามัคคีธรรม) และ นางสุมาลี นาครทรรพ สมรสกับนางอรวรรณ นาครทรรพ มีบุตร-ธิดาทั้งหมด 4 คน

น.อ.อนุดิษฐ์ สำเร็จการศึกษา ระดับมัธยมต้น จากโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รุ่นที่ 7, ระดับมัธยมปลาย จากโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 23, ได้รับปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต (วิศวกรรมอากาศยาน) จากโรงเรียนนายเรืออากาศ และได้รับปริญญา รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต หลักสูตรสำหรับนักบริหาร รุ่นที่ 12 จากมหาวิทยาลัยศรีปทุม นอกจากนี้ ยังสำเร็จการศึกษา ในหลักสูตรทางการทหารคือ โรงเรียนการบิน รุ่นที่ 82-30-2, โรงเรียนนายทหารชั้นผู้บังคับฝูง รุ่นที่ 76, หลักสูตรการฝึกบินทางอากาศยุทธวิธี รุ่นที่ 5, หลักสูตรนายทหารยุทธการระดับฝูงบิน รุ่นที่ 39, โรงเรียนเสนาธิการทหารอากาศ รุ่นที่ 40 และหลักสูตรการสงครามทางอากาศ รุ่นที่ 4

นอกจากนี้ น.อ.อนุดิษฐ์ ยังได้รับเกียรติยศต่างๆ ในหลายโอกาสคือ โล่เชิดชูเกียรติ ศิษย์การบินดีเด่น และ อันดับที่ 1 ภาควิชาการ ของโรงเรียนการบินกองทัพอากาศ, โล่เชิดชูเกียรติ การศึกษาดีเด่นอันดับ 1 “เชิดวุฒากาศ” ในรุ่นที่ 40 ของโรงเรียนเสนาธิการทหารอากาศ, เกียรติบัตรผู้บำเพ็ญประโยชน์ดีเด่น และ เกียรติบัตรการศึกษาดีเยี่ยม ในรุ่นที่ 76 ของโรงเรียนนายทหารชั้นผู้บังคับฝูง, รางวัลศิษย์เก่าดีเด่น สาขาบริหารราชการและการปกครอง “อุบล เรียงสุวรรณ” ของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประจำปี พ.ศ. 2548

น.อ.อนุดิษฐ์ เข้ารับราชการทหารอากาศ หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี โดยได้รับมอบหมาย ในตำแหน่งหน้าที่ตามลำดับคือ เป็นนักบินในหน่วยบินไอพ่นขับไล่โจมตี สังกัดหน่วยบิน 1032 เมื่อปี พ.ศ. 2535, เป็นผู้บังคับหน่วยบินไอพ่นขับไล่โจมตี สังกัดหน่วยบิน 1031 เมื่อปี พ.ศ. 2539, เป็นหัวหน้าแผนกควบคุมการยุทธทางอากาศ เมื่อปี พ.ศ. 2541, เข้าร่วมเป็นฝ่ายเสนาธิการ ในกองฝึกผสมคอบราโกลด์ เมื่อปี พ.ศ. 2542 และ เป็นผู้บังคับฝูงบินขับไล่สกัดกั้นที่ 102 คนแรก ซึ่งเป็นฝูงบินที่ใช้เครื่องบินขับไล่สมรรถนะสูง แบบ เอฟ-16 เอดีเอฟ เมื่อปี พ.ศ. 2544

นอกจากนี้ น.อ.อนุดิษฐ์ ยังมีโอกาสไปปฏิบัติภารกิจสำคัญในต่างประเทศคือ ไปปฏิบัติราชการ ตามโครงการปรับปรุงเครื่องแสดงผลการยุทธทางอากาศ (เอซีเอ็มไอ) ที่รัฐอิสราเอล, เป็นผู้บรรยายพิเศษ แก่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทางอากาศแห่งชาติ ที่รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา, เป็นผู้บังคับฝูงบินผสม ในการฝึก "สปิน อัพ" ที่รัฐแอริโซนา และผู้บังคับฝูงบินผสม ในการฝึก "เรดแฟลก 03" ที่รัฐเนวาดา สหรัฐอเมริกา โดยทั้งสองครั้ง เป็นการฝึกด้วยเครื่องบินขับไล่ แบบ เอฟ-16 นอกประเทศครั้งแรกของกองทัพอากาศไทย

น.อ.อนุดิษฐ์ เคยดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ประธาน คณะกรรมการประสานงาน และติดตามผล การดำเนินงานนโยบายลำไย ประจำปี พ.ศ. 2548 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, รองประธาน คณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารงาน สำนักฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, รองประธาน คณะกรรมการดำเนินงาน จัดหาอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ เพื่อสนับสนุน การปฏิบัติงานฝนหลวง ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, รองประธาน คณะดำเนินการ จัดงานรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด ในพื้นที่กรุงเทพมหานครตอนเหนือ เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2548 และ คณะอนุกรรมาธิการ พิจารณาและติดตาม งบประมาณของเหล่าทัพ และประสิทธิภาพของกองทัพไทย ในคณะกรรมาธิการทหาร สภาผู้แทนราษฎร

นอกจากนี้ น.อ.อนุดิษฐ์ ยังมีตำแหน่งทางสังคม เป็นอุปนายกสมาคมนักเรียนเก่าโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระหว่าง พ.ศ. 2545-2547 และ ประธานมูลนิธิรวมน้ำใจคลองเตย ในปี พ.ศ. 2548 อีกด้วย

(ข้อมูลจาก wikipedia.org)
ยึดโบอิ้ง 737 “พระราชพาหนะส่วนพระองค์” “ความผิดพลาดอันใหญ่หลวง” ของเยอรมนี
ยึดโบอิ้ง 737 “พระราชพาหนะส่วนพระองค์” “ความผิดพลาดอันใหญ่หลวง” ของเยอรมนี
กลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาทันทีเมื่อศาลเยอรมนีสั่งอายัดเครื่องบินโบอิ้ง 737 พระราชพาหนะส่วนพระองค์ ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ที่นครมิวนิก โดยมีการปิดหมายสั่งยึดไว้ เมื่อวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา หลังจากมีข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลไทยกับบริษัท วอลเตอร์บาว (Walter Bau) ของเยอรมนี เกี่ยวกับสัมปทานการก่อสร้างทางด่วน “ดอนเมืองโทลล์เวย์” เมื่อปี 2543 โดยบริษัท วอลเตอร์บาว ได้ยื่นเรื่องต่อศาลเพื่อขออายัดเครื่องบินลำดังกล่าว เนื่องจากเข้าใจว่า “เครื่องบินส่วนพระองค์” เป็นของรัฐบาลไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น