ทันทีที่ LinkedIn.com เครือข่ายสังคมสำหรับคนทำงานชื่อดังประกาศเข้าตลาดหุ้นนิวยอร์ก (NYSE) เมื่อวันพุธที่ 18 พฤษภาคม 54 ปรากฏว่าหลังจากเปิด IPO ที่ราคา 45 เหรียญ หุ้นชื่อ LNKD ก็มีราคาพุ่งกระฉูดสูงเกิน 112 เหรียญก่อนจะไปจบที่ 93.86 เหรียญต่อหุ้นในช่วงเวลาวันเดียว เหตุการณ์นี้ถูกยกเป็นลางบอกเหตุว่า หรือวิกฤตฟองสบู่ดอทคอมรอบ 2 กำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้งในสหรัฐฯ?
เหตุที่การทยานของหุ้น LinkedIn ถูกมองว่าเป็นเค้าลางที่หลายคนหวั่นใจว่าจะนำไปสู่ยุคฟองสบู่ดอทคอมคือ การบิดเบือนมูลค่ากิจการหรือ Market cap ที่สูงเกินจริง โดยจากมูลค่าหุ้นละ 112 เหรียญนั้นทำให้ LinkedIn มีมูลค่ากิจการสูงถึงเกือบ 1 หมื่นล้านเหรียญจากเดิมที่ถูกประเมินครั้งแรก 4,300 ล้านเหรียญ (คำนวณจาก IPO ราคาดั้งเดิม 45 เหรียญ) คิดเป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้นถึง 150%
สิ่งที่เกิดขึ้นกลายเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่านักลงทุนในสหรัฐฯพร้อมใจกันหลงใหลในบริษัทโซเชียลมีเดียจนช่วยกัน"ตี"ฟองสบู่ธุรกิจสื่อดิจิตอลและเทคโนโลยีใหม่ให้เกิดขึ้นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ผลคือ Reid Hoffman ผู้ก่อตั้ง LinkedIn ในปี 2002 สามารถระดมทุนได้สูงถึง 352.8 ล้านเหรียญหลังจากเสนอขายหุ้นครั้งแรก (initial public offering) ทั้งที่เดิม บริษัทหวังว่าจะระดมเงินทุน 175 ล้านเหรียญเท่านั้น
เมื่อดูประวัติแล้ว LinkedIn เป็นเว็บไซต์เครือข่ายสังคมหรือ Social Network สำหรับคนทำงานในหลายสาขาอาชีพ มีจำนวนสมาชิกปัจจุบันมากกว่า 100 ล้านคน มากกว่าครึ่งเป็นสมาชิกจากประเทศอื่นซึ่งไม่ใช่สหรัฐอเมริกา รายได้ ของปีที่ผ่านมาคือ 243 ล้านเหรียญาหรัฐต่อปี บนตัวเลขกำไรสุทธิ 15.4 ล้านเหรียญเท่านั้น โดยบริษัทยอมรับว่าเพิ่งเริ่มทำกำไรจากการโฆษณาเมื่อปี 2009 ที่ผ่านมาหลังจากขาดทุนช่วงปี 2007-2009
ราคาตลาดในขณะนี้ของ LinkedIn อยู่ที่ราว 8,300 ล้านเหรียญ (คำนวณจากราคาหุ้นปัจจุบันที่ลดลงมาเหลือราว 94 เหรียญ) จะคิดเป็นสัดส่วนมากกว่ารายรับปี 2010 ของ LinkedIn ถึง 35 เท่า
ในเมื่อ LinkedIn ไม่ได้มีกำไรที่น่าดึงดูด ไม่ค่อยเป็นข่าว และไม่ใช่บริษัทที่โดดเด่นมากนัก แต่นักวิเคราะห์มองว่าสิ่งที่ทำให้ราคาหุ้น LinkedIn พุ่งกระฉูดเช่นนี้เป็นเพราะอิทธิพลของอารมณ์ ข่าวสาร และจิตวิทยาของกลุ่มนักลงทุนเอง แน่นอนว่ามูลค่ากิจการที่สูงเกินความเป็นจริงจะส่งผลดีให้ LinkedIn ในอนาคต แต่ก็เป็นสถานการณ์น่าห่วงที่ทำให้หลายคนนึกย้อนไปถึงวิกฤต"ฟองสบู่ดอทคอม"ในปี 2000
ย้อนไปในปี 2000 บริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตมากมายในสหรัฐฯต้องล่มสลายไปเพราะฟองสบู่ดอทคอมในตลาดหุ้นอเมริกันแตกกระจุย ในปีนั้น ตลาดหลักทรัพย์อเมริกันซื้อขายหุ้นบริษัทดอทคอมในราคาที่สูงมาก ปรากฏว่าบางบริษัทไม่สามารถสร้างผลกำไรได้อย่างที่นักลงทุนหวังไว้ ผลคือนักลงทุนจำนวนมากถอนทุนคืน ทำให้บริษัทเหล่านี้ขาดเงินทุนจนไม่สามารถดำเนินกิจการต่อได้ จนต้องตัดใจปิดกิจการไปในที่สุด
แต่ก็ไม่ได้แปลว่า LinkedIn ส่อแววไม่สามารถสร้างกำไรให้นักลงทุนได้อย่างที่หลายบริษัทในปี 2000 ต้องก้มหน้ารับกรรม เพราะ LinkedIn ได้รับการยกย่องว่าเป็นเครือข่ายสังคมที่มีฐานลูกค้าซึ่ง"มีคุณภาพและมีรายได้สูงกว่า"เว็บเครือข่ายสังคมอื่น เนื่องจากการเป็นเครือข่ายสังคมของกลุ่มคนทำงาน และนานาบุคลากรมืออาชีพทั่วโลก
ที่สำคัญ LinkedIn ยังมีรูปแบบบริการที่มีศักยภาพสูงจนหลายคนมองว่า อาจจะสามารถเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการรับสมัครงานของฝ่ายบุคคลในองค์กรธุรกิจในอนาคต
แม้แนวโน้มการเติบโตของ LinkedIn จะดูดีมีลุ้น แต่หลายฝ่ายก็ยังมองว่า LinkedIn ยังเสี่ยงต่อภาวะฟองสบู่ดอทคอมมากนัก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับยักษ์ใหญ่อินเทอร์เน็ตอย่างกูเกิล (Google) ซึ่งเข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 2004
ขณะนั้น กูเกิลเป็นบริษัทที่มีความมั่นคง มีรายได้เป็นเงินสดสูงเกิน 3,000 พันล้านเหรียญต่อปี ทำให้ไม่มีใครแปลกใจที่กูเกิลถูกประเมินให้มีมูลค่ากิจการสูงถึง 2.7 หมื่นล้านเหรียญ กลายเป็นแชมป์การทำ IPO ของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่มีมูลค่าสูงที่สุดนับแต่นั้นมา
วันนี้ LinkedIn กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่ากิจการสูงเป็นอันดับ 2 ในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีอเมริกัน และคาดว่าจะเป็นต่อเนื่องไปถึงปี 2012 ซึ่งเป็นปีที่ยักษ์ใหญ่อย่างเฟซบุ๊ก (Facebook) ประกาศว่าจะเข้าตลาดในปีดังกล่าว เพราะต้องการจะสางปัญหาเรื่องการรักษาสิทธิส่วนบุคคลและความปลอดภัยให้ได้ก่อน ซึ่งเมื่อเฟซบุ๊กมีจำนวนผู้ใช้ทั่วโลกจำนวนถึง 700 ล้านคนอยู่ในมือ นักวิเคราะห์หลายรายจึงคาดว่า IPO ของเฟซบุ๊กจะทำให้มูลค่ากิจการพุ่งกระฉูดแตะหลัก 50,000 ล้านเหรียญได้ไม่ยาก
นอกจากนี้ยังมียักษ์ใหญ่ผู้ค้าคูปองส่วนลดซึ่งทำธุรกิจบนโซเชียลคอมเมิร์ซอย่าง Groupon ที่ประกาศเตรียมเข้าตลาดหลังจากปฏิเสธเงิน 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐจากกูเกิลที่ขอซื้อกิจการในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา รวมถึงบริษัท Zynga ผู้ผลิตเกมฮิตบนเฟซบุ๊กอย่าง FarmVille และ CityVille ซึ่งคาดว่าจะเข้าตลาดหุ้นสหรัฐฯในช่วง 12 เดือนนับจากนี้
บริษัทโซเชียลรายอื่นจะมีมูลค่ากิจการสูงต่ำเท่าใดยังไม่มีใครรู้ แต่สิ่งที่ทุกคนรู้คือเดิมพันที่ LinkedIn ต้องทำให้ได้คือการนำเม็ดเงินมหาศาลมาพัฒนาบริการใหม่เพื่อเพิ่มรายได้ให้สูงตามที่นักลงทุนคาดหวังไว้ นาทีนี้ทุกคนในโลกไอทีจึงพากันจับตาว่า กองทัพนวัตกรรมเครือข่ายสังคมสำหรับคนทำงานในอนาคตจะออกมาจาก LinkedIn ในรูปแบบใด และเดิมพันครั้งนี้จะสำเร็จลุล่วงด้วยดี หรือจะเป็นเพียงกรณีศึกษาที่ชาวไอทีจะหยิบขึ้นมาพูดถึงเมื่อต้องการอธิบายรายละเอียดของวิกฤตฟองสบู่ดอทคอมรอบ 2