xs
xsm
sm
md
lg

“เหรินเหริน” ระดมทุน $ 800 ล้าน ในตลาดนิวยอร์ก กับศึกแข่งขันในจีนที่เต็มไปด้วยหิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เหรินเหริน เว็บเครือข่ายสังคมออนไลน์รายใหญ่จากปักกิ่ง เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นนิวยอร์กเมื่อวันพุธ(4 พ.ค.) ในวันเปิดขายไอพีโอนี้ เหรินเหรินระดมทุนร่วม 800 ล้านเหรียญสหรัฐ
ASTVผู้จัดการออนไลน์--ดาวรุ่งใหม่มาแรงแห่ง “วอลล์สตรีท” ที่กลุ่มนักลงทุนกำลังจับตามองอย่างไม่กระพริบเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ กิจการเว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์จากกรุงปักกิ่ง “เหรินเหริน” (RenRen/人人)ชื่อที่มีความหมายว่า “ทุกๆคน” และที่ใครๆต่างเรียกขานกันว่า “เฟซบุ๊คแห่งระเทศจีน” ด้วยหน้าตาที่ละม้ายเหมือนกับเฟซบุ๊คราวฝาแฝด

เหรินเหริน อินค์ เครือข่ายสังคมออนไลน์รายใหญ่สุดของจีนจากยอดเพจวิวส์ (page views) ชูสัญลักษณ์ RENN ประเดิมขายหุ้นสาธารณะ หรือ ไอพีโอ ในตลาดหุ้นนิวยอร์ก (NYSE) ไปเมื่อวันพุธ(4 พ.ค.) ที่ผ่านมา โดยการซื้อขายคึกคักในระดับราคาสูงสุดตามที่คาดหวัง

กลุ่มจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ระบุในวันเปิดขายหุ้นไอพีโอนี้ หุ้นเหรินเหรินดีดตัวขึ้น 29 เปอร์เซนต์ หลังจากระดมทุนได้ถึง 743.4 ล้านเหรียญสหรัฐ จากการขายหุ้น (ADR) 53.1 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 14 เหรียญ เทียบกับช่วงแกว่งของราคาหุ้นที่ตั้งไว้ที่หุ้นละ 12 เหรียญ ถึง 14 เหรียญ โดยในวันพุธ ราคาหุ้นเหรินปิดแรงถึง 18.01 เหรียญ

และเมื่อรวมการขายหุ้นส่วนเกินอีก 7.97 ล้านหุ้น ยอดระดมทุนจากการเปิด ไอพีโอของเหรินเหริน ก็จะอยู่ที่ 855 ล้านเหรียญสหรัฐ

มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market cap) ของเหรินเหริน พุ่งขึ้นมาที่ 5,500 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 70 เท่า ของรายได้บริษัทเมื่อปีที่แล้ว
แม่ทัพใหญ่ของเหรินเหริน ซีอีโอ โจเซฟ เฉิน (เฉิน อีตัน)
ประธานและซีอีโอ เหรินเหริน นาย โจเซฟ เฉิน (หรือ เฉิน อีตัน) กล่าวว่าการจดทะเบียนในตลาดหุ้นนิวยอร์ก “นับเป็นชั่วเวลาแห่งความยิ่งใหญ่ของเหรินเหริน

“เหรินเหริน เป็นบริการเครือข่ายสังคมออนไลน์รายแรก ที่ได้จดทะเบียนในตลาดหุ้นนิวยอร์ก และผมก็เชื่อว่าการได้เข้าจดทะเบียนในตลาดฯนี้จะช่วยส่งเสริมแบรนด์ และสถานภาพที่เป็นฐานเครือข่ายสังคมออนไลน์ชั้นนำในจีน ตลอดจนเป็นก้าวย่างสำคัญในการบรรลุวิสัยทัศน์ของเรา ในการแสดงถึงประสบการณ์ด้านเครือข่ายสังคม ตลอดจนการปฏิรูปวิถีของประชาชน ทั้งด้านการติดต่อสื่อสาร บันเทิง และการจับจ่าย” เฉิน กล่าว

Renaissance Capital กล่าวว่า เนื่องจากเหรินเหรินเป็นเครือข่ายสังคมรายหลักรายแรกที่เปิดไอพีโอ จึงได้ประโยชน์มากจากความกระตือรือร้นของกลุ่มนักลงทุนที่ติดตามเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยนักลงทุนกลุ่มนี้กำลังตื่นเต้นกับพลังการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของจีน และการคาดการณ์อัตราขยายตัวอย่างรวดเร็วของภาคโฆษณาออนไลน์

แต่ก็ใช่ว่านักวิเคราะห์ในวอลล์สตรีทจะพากันหลงใหลเหรินเหรินกันทุกคน

นักวิเคราะห์ นาย Jon Ogg o แห่ง 247WallSt.com กล่าวในวันที่เหรินเหรินเปิดขายไอพีโอ ว่า “จากตัวเลขเป้าหมายอัตราเติบโตที่แถลงออกมาใหม่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และการลาออกของประธานคณะกรรมการการตรวจสอบของบริษัทก่อนวันเปิดขายไอพีโอเพียงวันเดียว(3 พ.ค.) การกระโดดขึ้นรถไฟที่มาแรงขบวนนี้ ดูจะลำบากแล้ว

“สิ่งที่พวกเราวิตกกันมากที่สุด ก็คือตัวเลข และการเงินของกลุ่มบริษัทจีนที่มักคลุมเครือ”

จากเอกสารที่ยื่นแก่สำนักงานคณะกรรมการกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์แห่งสหรัฐฯ เหรินเหรินระบุตัวเลขผู้ใช้ใช้บริการทั้งหมด เท่ากับ 117 ล้านคน ณ วันที่ 31 มี.ค. (2544) และตัวเลขผู้ใช้รายใหม่ มีเพิ่มเข้ามา เกือบ 2 ล้านคนต่อเดือนในช่วงสามเดือนมานี้

เหรินเหรินรายงานรายได้สุทธิในปี 2010 เท่ากับ 76.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากระดับ 46.7 ล้านเหรียญสหรัฐของปีก่อนหน้า และยอดขาดทุนสุทธิจากปฏิบัติการต่อเนื่องเมื่อปีที่แล้ว เท่ากับ 61.2 ล้านเหรียญสหรัฐ
เหรินเหรินระบุตัวเลขผู้ใช้ใช้บริการทั้งหมด เท่ากับ 117 ล้านคน ณ วันที่ 31 มี.ค. (2544) และตัวเลขผู้ใช้รายใหม่ มีเพิ่มเข้ามา เกือบ 2 ล้านคนต่อเดือนในช่วงสามเดือนมานี้
เหรินเหรินต้องสู่ศึกหนักภายใต้ข้อจำกัดและแรงกดดัน

นักวิเคราะห์หลายคนยังเชื่อว่า เหรินเหรินยังต้องเผชิญศึกแข่งขันอย่างหนักหนาในตลาดจีน ที่การใช้เครือข่ายสังคมเพิ่งก่อรูปขึ้น

จากศูนย์ข้อมูลเครือข่ายอินเทอร์เน็ตจีน ระบุว่าตัวเลขผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในจีน เท่ากับ 457 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากที่สุดในโลก แต่อุปสรรคใหญ่ในจีนก็คือ “กำแพงไฟใหญ่” (Great Fire Wall) ที่คอยคัดกรองข้อมูลข่าวสารบนอินเทอร์เน็ต เฟซบุ๊คตัวจริงถูกห้ามเข้าจีนมาเกือบสองปีแล้ว ขณะที่นับวันรัฐบาลมังกรก็ยิ่งกวดขันตรวจสอบเนื้อหาบนเว็บไซต์ต่างๆ เว็บไซต์ต่างแดนที่มักมีเนื้อหาอ่อนไหวทางการเมือง ทั้ง ทวิตเตอร์ และยูทูป ถูกสกัดเป็นว่าเล่น

ดังนั้น ตลาดบริการเครือข่ายสังคมออนไลน์จึงกลายเป็นตลาดที่หอมหวานสำหรับกลุ่มผู้เล่นท้องถิ่น โดยมีเหรินเหริน ทะยานขึ้นมาเป็นผู้นำในตลาด แต่ถึงอย่างไร เหรินเหริน ก็ยังไม่อาจเทียบชั้นเฟซบุ๊ค

บริษัทวิจัย Analysys International ที่มีฐานในปักกิ่ง เผยว่าขณะที่เฟซบุ๊คครอบงำตลาดในอเมริกา เหรินเหรินครองตลาดผู้ใช้ที่เหนียวแน่นในเครือข่ายสังคมออนไลน์จีน ราว 25 เปอร์เซนต์

จากรายงานของเหรินเหริน ระบุมีผู้เข้ามาใช้บริการ 31 ล้านคนต่อเดือน ซึ่งน้อยกว่า 1 ใน 3 ของผู้ใช้ที่ลงทะเบียนทั้งหมด 117 ล้านคน ขณะที่เฟซบุ๊คมีผู้ใช้ทั่วโลก มากกว่า 500 ล้านคน

ต่ง สีว์ นักวิเคราะห์ของ Analysys International ชี้ว่าเว็บเครือข่ายสังคม “เหรินเหริน”ก่อตั้งขึ้นในปี 2548 โดยเริ่มจากการเป็นช่องทางการติดต่อสื่อสารระหว่างกลุ่มนักเรียนนักศึกษา และเนื่องจากเหรินเหรินบุกเบิกตลาดก่อนคู่แข่งท้องถิ่นรายอื่นเป็นเวลานานมาก จึงสามารถรวบรวมสมาชิกได้มาก แต่ก็ใช้เวลาถึง 5 ปี กว่าที่จะมาถึงจุดนี้ ขณะที่เครือข่ายสังคมออนไลน์อื่นๆใช้เวลาน้อยกว่าในการบรรลุเป้าเดียวกันนี้

จากตัวเลขของ Analysys ระบุว่าเว็บไซต์ “เผิงโหย่ว” ของ เทนเซนต์ (Tencent) (เถิงซุ่นเผิงโหย่ว-腾讯朋友网)ซึ่งเปิดบริการอย่างเป็นทางการในเดือนม.ค. สามารถครองส่วนแบ่ง 18.1 เปอร์เซนต์ในตลาดผู้ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์

ทั้งนี้ เทนเซนต์ (Tencent Holdings Ltd.) เป็นหนึ่งในบริษัทอินเทอร์เน็ตรายใหญ่ของจีน เป็นเจ้าของบริการส่งข้อความแชท QQ ที่ได้รับความนิยมที่สุดในประเทศจีน

“เผิงโหย่ว ของเทนเซนต์ ทรงอิทธิพลมากในตลาดนี้ และจะกดดันเหรินเหริน”
“เผิงโหย่ว ดอท คอม” เว็บเครือข่ายออนไลน์ ของเทนเซนต์ ที่ทรงอิทธิพลมากในตลาดจีน และจะกดดันเหรินเหริน
กลุ่มนักวิเคราะห์ยังมองอีกว่า บริการอย่างทวิตเตอร์ หรือที่จีนเรียกว่า เวยปั๋ว (microblog) จะเป็นตัวช่วยขับดันอนาคตของเครือข่ายสังคมออนไลน์ในจีน มากกว่าเว็บไซต์อย่างเหรินเหริน ดังนั้น บริการประเภทเวยปั๋วเหล่านี้น่าจะมีอนาคตมากกว่า และจะแย่งผู้ใช้ไปจากเหรินเหริน

อาทิ เว็บไซต์ซีน่าที่ได้รับความนิยมมากสุด ของ Sina Corp. รายงานในเดือนมี.ค. ว่าบริการเวยปั๋วของซีน่า มีผู้ใช้มากกว่า 100 ล้านคนแล้ว หลังจากที่เปิดบริการมาได้เพียงปีกว่า

ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทที่ปรึกษาในปักกิ่ง Marbridge Consulting นาย มาร์ค แนตคิน (Mark Natkin) ชี้ว่าจุดที่ทำให้บรรดาเวยปั๋วจีน มีพลังดึงดูดเหนือเหรินเหริน ก็คือพวกเขามีช่องทางให้ผู้ใช้สามารถติดต่อกับกลุ่มผู้ชมวงกว้าง ทั้งโดยการโพสต์ความคิดเห็น หรือสืบค้นประเด็นร้อนต่างๆ ส่วนไซต์อย่างเหรินเหรินกลับจำกัดผู้ใช้ สามารถติดต่อเฉพาะกลุ่มที่ยอมรับเป็นเพื่อนเท่านั้น

“เมื่อผู้คนเข้าไปในเวยปั๋ว พวกเขาไม่เพียงได้รับรู้ประเด็นร้อนต่างๆที่ถกกันในกลุ่มเพื่อนกันเท่านั้น แต่ยังได้เห็นประเด็นทั่วประเทศด้วย

“นอกจากนี้ เวยปั๋วยังขยายความร่วมมือกับเว็บไซต์เครือข่ายสังคมอื่นๆด้วย” แนตคิน กล่าว

แต่กลุ่มนักวิเคราะห์ก็ยังคาดการณ์ว่าเหรินเหรินจะเป็นยิ่งกว่าผู้เล่นในตลาดจีน หลังจากที่ได้ระดมทุนใหม่จากตลาดนิวยอร์ก พวกเขายังชี้ถึงการที่เหรินเหรินเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น ขณะที่มีข่าวลือสะพัดว่า เฟซบุ๊ค กำลังเจรจาจับมือกับเสิร์ชเอนจินรายใหญ่สุดของจีน คือ ไป่ตู้ เพื่อเปิดไซต์ในจีน

“ ไอพีโอ ช่วยระดมเงินก้อนใหญ่ให้แก่เหรินเหริน แต่ศึกแข่งขันในตลาดยังคงดุเดือดมาก อีกทั้งยังอยู่ในช่วงการเริ่มต้นมากๆ”

ทั้งนี้ Oak Pacific Interactive บริษัทเว็บเครือข่ายสังคมรายใหญ่อันดับสองของจีน ซึ่งเริ่มปฎิบัติการในปี 2545 ได้ซื้อ “เซี่ยวเน่ย ดอท คอม” (Xiaonei.com/校内网) เว็บเครือข่ายสังคมที่จัดตั้งขึ้นโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยชิงหวาในปี 2548 โดยเป็นช่องทางติดต่อระห่างกลุ่มนักเรียนนักศึกษาจีน ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น เหรินเหริน ดอท คอม(人人网)ในเดือนส.ค. ปี 2552 โดยมีแม่ทัพใหญ่คือ ซีอีโอ โจเซฟ เฉิน (เฉิน อีตัน/陈一舟)

เหรินเหริน นอกจากเป็นเครือข่ายสังคมแล้ว ยังมีปฏิบัติการ “นั่วหมี่ ดอท คอม” (Nuomi.com/糯米网) เว็บไซต์เสนอขายสินค้าราคาส่วนลด (group-buying site) ที่เสนอดีดรายวัน และกิจกรรมวัฒนธรรม และบริการเกมออนไลน์ ในปี 2549.
กำลังโหลดความคิดเห็น