xs
xsm
sm
md
lg

ขึ้นสวรรค์หรือลงนรก !?! (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จุติ ไกรฤกษ์ รมว.ไอซีที
ในที่สุดการเมืองก็เผยธาตุแท้ออกมาจนได้ หลงชื่นชมอยู่นานว่ามีความเป็นธรรมในหัวใจ ไม่รังแกใครแบบไร้เหตุผล ยึดหลักนิติรัฐ หวังจัดระเบียบธุรกิจโทรคมนาคมให้อยู่ในรูปแบบที่เหมาะสม มีการแข่งขันที่เท่าเทียมและเป็นธรรม

แต่สุดท้ายก็เป็นแค่สเปกรัฐมนตรีในฝัน ที่ในโลกความเป็นจริงยากจะพานพบ

การขยายผลตามจองล้างจองผลาญเอไอเอส โดยอาศัยคำพิพากษาศาลฎีกาฯ ที่ยึดทรัพย์ทักษิณ ชินวัตร 4.6 หมื่นล้านบาท ในทำนองการแก้ไขสัญญาแต่ละครั้งผิดกฎหมาย ไม่ผ่านขั้นตอนพรบ.ร่วมทุนฯ ปี 2535 จนทำให้รัฐเสียหาย ต้องถูกฟ้องร้องกว่า 7 หมื่นล้านบาท โดยขั้นตอนอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการเจรจาผลประโยชน์ตอบแทนจากการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาร่วมการงานที่มีนางจีรวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงไอซีทีเป็นประธาน ที่ขอเวลาอีก 7 วัน หลังจากที่ต้องสรุปเมื่อสิ้นเดือนก.พ. เพื่อเสนอครม.ให้พิจารณาว่าจะทำอย่างไรกับการแก้ไขสัญญามือถือที่ผ่านมาในอดีต

ภาพเบื้องหน้าดูเหมือนรัฐพยายามทำทุกอย่างให้ถูกกฎหมาย ผ่านการไล่บี้ 2 ด้านคือนอกจากผ่านคณะกรรมการเจรจาผลประโยชน์ตอบแทนฯ ของปลัดกระทรวงไอซีทีแล้ว อีกด้านหนึ่งกระทำผ่านทางบอร์ดทีโอที โดยจุติ ไกรฤกษ์ รมว.ไอซีที มีหนังสือด่วนที่สุดเมื่อวันที่ 23 ก.พ.ที่ผ่านมา ส่งไปยังกรรมการผู้จัดการใหญ่ทีโอที เรื่องการดำเนินการสืบเนื่องจากคำพิพากษาศาลฎีกาฯ และมีคำวินิจฉัยว่าทีโอทีได้รับความเสียหายจากการกระทำของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร บัดนี้ล่วงเลยมาเกือบครบปีแล้วและกระทรวงฯได้เคยมีหนังสือสั่งการให้เร่งดำเนินการกรณีทีโอทีได้รับความเสียหายดังกล่าวแล้ว

ดังนั้นจึงขอให้ท่านดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในอายุความที่กฎหมายกำหนด หากดำเนินการไม่ทันต้องถือว่าผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่มุ่งมั่นที่จะรักษาผลประโยชน์ของรัฐ อาจส่งผลให้ต้องดำเนินการกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่จงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงต่อไป

แปลไทยเป็นไทย คือหากทีโอที ไม่ฟ้องเอไอเอส จะโดนมาตรา 157 ฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้กรรมการบอร์ดทีโอที 5 คนลาออก กระโดดหนีไม่เว้นอัยการวันชาติ สันติกุญชร หลังบอร์ดรู้ซึ้งว่างานนี้หากมีมติสั่งฟ้อง ทุกคนคงถูกเอไอเอสฟ้องกลับและที่สำคัญฟ้องไปแล้วไม่รู้ว่าจะชนะหรือไม่ รวมทั้งต้องมีค่าธรรมเนียมเกือบ 200 ล้านบาทจากมูลค่าความเสียหายที่ฟ้อง

รวมทั้งยังรู้เรื่องที่ทีโอทีหมกเม็ดความเห็นจากอัยการที่เคยชี้แจงว่าควรใช้กระบวนการตามมาตรา 22 ของพรบ.ร่วมทุนฯปี 2535 หรือใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการ ตามที่ระบุไว้ในสัญญา ไม่ใช่การสุ่มสี่สุ่มห้าฟ้อง เพื่อสนองการเมือง

แต่ท้ายสุดขั้นตอนยืมมือบอร์ดทีโอทีฟ้องเอไอเอส ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะอัยการมีความเห็นคัดค้านเต็มที่ และเห็นว่ามีคณะกรรมการเจรจาผลประโยชน์ตอบแทนฯ ของปลัดกระทรวงไอซีทีที่จะสรุปผลก่อนเสนอให้คณะกรรมการมาตรา 22 พิจารณา เพื่อส่งเข้าครม.พิจารณาขั้นสุดท้ายจะดูมีความรอบคอบกว่า ไม่ใช่เป็นผลจากการเมืองที่นิยมตามน้ำแล้วปล่อยข่าวว่าเป็นเพราะเคลียร์กับจุติลงตัวแล้ว

ในส่วนของท่าทีเอกชนค่ายมือถือในการเจรจากับคณะกรรมการของปลัดไอซีที ทั้งเอไอเอสและดีแทค ก็ไม่คิดว่าการแก้ไขสัญญาทำให้รัฐเสียหายหรือมีความผิด ในขณะที่ทรูมูฟเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์กับตัวเอง

ทั้งนี้เอไอเอสได้ส่งความเห็นไปยังคณะกรรมการเจรจาผลประโยชน์ตอบแทนฯเมื่อวันที่ 25 ก.พ.โดยสรุป 3 ประเด็นคือ 1.การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาอนุญาตฯระหว่างเอไอเอสกับทีโอที ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายใดๆกับทีโอที ในฐานะคู่สัญญาภาครัฐ โดยมีเหตุผลทั้งหมด 5 ข้ออาทิ การแก้ไขสัญญาแต่ละครั้งทำด้วยความสมัครใจ ในส่วนของทีโอทีก็ได้ผ่านความเห็นชอบจากอัยการ ที่ปรึกษากฎหมาย และบอร์ด โดยที่สัญญาอนุญาตฯและข้อตกลงต่อท้ายสัญญาอนุญาตฯแต่ละฉบับ จึงมีผลผูกพันจนกว่าจะสิ้นสุดสัญญา

2.การทำข้อตกลงต่อท้ายสัญญาอนุญาตฯ ในแต่ละครั้ง ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทีโอที ประชาชนผู้ใช้บริการ และประโยชน์สาธารณะ และ 3.เอไอเอสยืนยันว่าได้ปฏิบัติตามสัญญาอนุญาตฯและข้อตกลงต่อท้ายสัญญา ด้วยดีมาตลอด มิได้มีการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายใดๆกับทีโอที ในทางตรงกันข้าม การดำเนินการต่างๆภายใต้สัญญาอนุญาตฯและข้อต่อท้ายสัญญาระหว่างเอไอเอสและทีโอที รวมถึงสัญญาร่วมการงานของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อื่นๆ ล้วนแต่สร้างประโยชน์ให้ทีโอที และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรูปส่วนแบ่งรายได้และกรรมสิทธิ์ในโครงข่าย

นอกจากปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาแล้ว เอไอเอสได้เสนอทางออกให้มีการตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพื่อศึกษารายละเอียดและความเป็นไปได้พร้อมทางเลือก เพื่อเป็นประโยชน์ในการทำธุรกิจร่วมกันต่อไป

ในส่วนของดีแทคมีท่าทีแข็งกร้าวกว่าเอไอเอส เอกสารที่ส่งไปยังคณะกรรมการเจรจาผลประโยชน์ฯ เมื่อวันที่ 25 ก.พ.เช่นกันนอกจากเห็นว่ารัฐไม่ได้เสียหายจากการแก้สัญญาแล้วดีแทคยังเชื่อว่ารัฐได้รับประโยชน์จากการแก้ไขสัญญา รวมทั้งยังเกิดประโยชน์สาธารณะมากมายไม่ว่าจะเป็นการลดปัญหาการผูกขาด ทำให้เกิดการแข่งขันราคา ซึ่งทำให้ผู้บริโภคจ่ายเงินน้อยลง โดยดีแทคสรุปว่าด้วยเหตุที่บริษัทจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนจำกัด และมีหลักทรัพย์เป็นหุ้นสามัญจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บริษัทจึงมีหน้าที่ต้องดูแลผลประโยชน์ของผู้ลงทุน และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลายของบริษัท รวมตลอดทั้งต้องดำเนินการใดๆในการปกป้องและรักษาสิทธิของบริษัท

ดังนั้นหากมีการกระทำใดๆที่เป็นเหตุให้บริษัทได้รับความเสียหาย ผู้กระทำจะต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญาตามกฎหมายด้วย

ส่วนกรณีทรูมูฟ ตามเอกสารที่ยื่นให้คณะกรรมการเจรจาผลประโยชน์ฯ ในวันเดียวกันนี้ แทบจะเรียกได้ว่าเป็นการพูดคนละเรื่อง เพราะทรูมูฟเสนอแต่สิ่งที่เป็นผลประโยชน์ของตัวเอง ทั้งๆที่ผลการพิจารณาคณะกรรมการมาตรา 13 ยังไม่ได้ระบุชี้ชัดของความคงอยู่ของสัญญาร่วมการงานของทรูมูฟ แต่ทรูมูฟกลับเสนอให้มีการเปลี่ยนสัมปทานเป็นใบอนุญาต จากกสทช. พร้อมทั้งให้ขยายอายุสัมปทานที่จะสิ้นสุดในวันที่ 15 ก.ย. 2556 เป็นอายุใบอนุญาตที่จะสิ้นสุดในวันที่ 15 ก.ย. 2571 หรือต่ออายุไปอีก 15 ปี รวมทั้งโครงข่ายที่สร้างระหว่างนั้นไม่ต้องโอนให้รัฐ ส่วนผลตอบแทนไม่ได้กำหนดในรูปตัวเงินแต่กำหนดด้วยอักษร x ซึ่งหากรัฐไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เป็นไปไม่ได้ดังกล่าว ทรูมูฟก็ไม่ต้องจ่ายเงินผลตอบแทน

หากการเจรจาไม่เป็นผล และรัฐเลือกที่จะไม่รับรองการแก้ไขสัญญาค่ายมือถือ ปัญหาที่ตามมาคงไม่พ้นการฟ้องร้อง เป็นคดีความ เนื่องจากเอกชนไม่คิดว่าตัวเองผิด และดูเหมือนรัฐจะดำเนินการแก้ปัญหาสัมปทานมือถือแบบมีอคติและไม่ชอบธรรม

หลังจุติ ไกรฤกษ์ รมว.ไอซีทียอมรับว่าในช่วงกลางเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ได้เดินทางไปดูงาน Mobile World Congress ที่บาร์เซโลน่า ประเทศสเปน ร่วมกับกรรมการบอร์ดทีโอที บางคน โดยมีการพบปะหารือกับโอเปอเรเตอร์ต่างชาติ 8 บริษัท เช่นเทเลคอม อิตาเลีย และโอเปอเรเตอร์จากจีน (ไชน่าโมบายล์) เกาหลี (เอสเคเทเลคอม) ญี่ปุ่น(เอ็นทีที โดโคโม) มาเลเซียและอีก 3 รายจากสหรัฐอเมริกา

โดยมีการพูดถึงปัญหาเรื่องสัญญาสัมปทานกลุ่มผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือที่มีการแก้ไขสัญญาเพิ่มเติมแบบไม่ถูกกฎหมาย โดยเฉพาะเอไอเอสซึ่งรัฐกำลังอยู่ในกระบวนการพิจารณาความเสียหายเพิ่มเติมจากการแก้สัญญาในอดีต และผลที่ต่อเนื่องจากคำพิพากษาคดียึดทรัพย์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 ก.พ.2553

โดยจุติกล่าวถึงการเจอโอเปอเรเตอร์ว่า 'เขาคงได้ติดตามข่าวเหล่านี้มาตลอด และก็ถามผมว่าอนาคตของสัมปทานเอไอเอสเป็นอย่างไร ผมก็บอกว่า50-50 เพราะผมไม่ทราบได้ว่าครม.จะตัดสินใจท้ายสุดอย่างไร พอเขาได้ยินว่า50-50ก็ตาโต มีท่าทีสนใจ ซึ่งก็อยู่กับทางเขาว่าจะเคลื่อนไหวอย่างไรต่อหรือไม่ โดยบางรายที่ได้มีการหารือนั้น มีท่าทีสนใจและบอกว่าจะทำเรื่องนัดเข้ามาพบเพื่อคุยเพิ่มเติมที่ประเทศไทย'

ทั้งนี้ คณะของจุติ ได้มีการหารือกับผู้บริหารเอ็นทีที โดโคโม ที่รับผิดชอบเรื่องธุรกิจต่างประเทศเมื่อวันที่ 15 ก.พ.ในช่วงเวลา15.00-15.30น.ตามเวลาบาร์เซโลนา โดยมีกรรมการบอร์ดทีโอทีอย่าง นายวิบูลย์ทัต สุทันธนกิตติ์ นายสายัณห์ สตางค์มงคล และนายนพณัฎฐ์ หุตะเจริญ รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ ที่เดินทางมาสมทบภายหลังร่วมวงหารือ โดยจุติได้บอกกับตัวแทนเอ็นทีทีว่าเอสเค เทเลคอม จากประเทศเกาหลี ได้แสดงความสนใจมาแล้ว และให้เวลากับเอ็นทีทีในการทำข้อเสนอและให้ตอบกลับมาใน 2 สัปดาห์

ไม่อยากจะคิดว่าการไล่ล่าเช็กบิลเอไอเอส นอกจากความแค้นส่วนตัวแล้ว ยังต้องการเปิดทางให้โอเปอเรเตอร์รายอื่นมาฮุบเอไอเอส ด้วยการอาศัยมติครม.ชี้ว่าการแก้สัญญามิชอบ ก็จะทำให้สัญญาเอไอเอสหมดอายุไปตั้งแต่เดือนต.ค. 2553 และไม่อยากจะเชื่อว่า หากสัญญาที่กสทกับทรูมูฟ ทำร่วมกันไปไม่รอด การเมืองก็จะอาศัยข้อเสนอของโอเปอเรเตอร์ต่างชาติ มาเป็นคู่เทียบแล้วให้ทรูมูฟมายื่นข้อเสนอที่ดีกว่า ฮุบเอไอเอสไปเสีย เพื่อให้ตัวเองเป็นที่หนึ่งในอุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือ

ซึ่งถือเป็นการแก้ปัญหาที่ดำดิ่งสู่นรก หนีไม่พ้นการฟ้องร้องคดีความตามมาวุ่นวาย ไม่เป็นผลดีกับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมทั้งระบบ ในเมื่อยังมีเส้นทางสวรรค์ให้เลือกเดินที่จะทำให้อุตสาหกรรมเดินหน้าต่อไปแบบไม่วุ่นวาย

เพราะครม.มีหลักในการที่จะอนุมัติให้การแก้ไขสัญญาทุกครั้งถูกต้องได้ โดยยึดหลักกฤษฎีกาที่เคยมีบันทึกเมื่อเดือนมิ.ย.2536 และเดือนพ.ค.2550 รวมทั้งคำพิพากษาของศาลฎีกาฯผูกพันเฉพาะคู่ความในคดีไม่เกี่ยวกับทีโอทีหรือผู้เกี่ยวข้องจึงไม่เข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 ในขณะเดียวกันรัฐอาจถือโอกาสเจรจาเรียกประโยชน์เพิ่มเติมให้เท่าเทียมกันทั้งระบบ

นาทีนี้อยู่ที่รัฐเลือกทางเดิน จะขึ้นสวรรค์หรือลงนรก
กำลังโหลดความคิดเห็น