xs
xsm
sm
md
lg

5 บุคคลผู้ทรงอิทธิพลในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ก (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


หลังจากที่ผู้จัดการไซเบอร์ได้พาทุกท่านไปชมเรื่องราวของ 2 บุคคลผู้ทรงอิทธิพลในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กอย่าง ลามู ยาละมันชัย และ มาร์ก ซัคเกอร์เบิร์ก กันไปเมื่อตอนที่แล้ว วันนี้ทางทีมงานก็พร้อมนำเสนอชีวประวัติของอีก 3 บุคคลที่เหลือตามที่สัญญากันไว้ครับ ซึ่งจะมีใครบ้างนั้นเชิญติดตามต่อได้เลยครับ

อีวาน วิลเลียมส์ (Evan Williams) ภายใต้บริษัท Obvious, LLC
ผู้ร่วมก่อตั้ง: Twitter (ทวิตเตอร์)
บันทึก: ทวิตเตอร์ถือเป็นบริการเครือข่ายสังคมที่เป็นลักษณะของไมโครบล็อก ที่ให้ผู้ใช้สามารถพิมพ์ข้อความขนาดสั้นความยาวไม่เกิน 140 ตัวอักษร เพื่อเป็นการบันทึก (ทวีต - tweet) แลกเปลี่ยนสิ่งที่ตนกำลังทำอยู่ ให้เพื่อนของเราได้ทราบความเป็นไป โดยบริการทวิตเตอร์จะเน้นความรวดเร็ว ชับไวมากกว่าสื่อเครือข่ายสังคมอื่น ประกอบกับรูปแบบที่ใช้งานง่าย และรองรับอุปกรณ์อินพุทข้อความค่อนข้างครอบคลุมไม่ว่าจะเป็น สมาร์ทโฟน เอสเอ็มเอส หรือคอมพิวเตอร์ทั่วไป ทำให้ปัจจุบันทวิตเตอร์มักถูกใช้ในการบอกเล่าข่าวสารที่ตนพบเจอในขณะนั้น รวมถึงการใช้ในการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน หรือแม้แต่การใช้นัด พบปะ พูดคุยกับเพื่อนก็สามารถทำได้บนทวิตเตอร์ทั้งหมด

ซึ่งความจริงแล้วเว็บไซต์ทวิตเตอร์ก่อตั้งขึ้นในนามบริษัท Obvious, LLC ซึ่งหัวหอกให้การพัฒนาเว็บไซต์ดังกล่าวประกอบด้วย แจ็ค คอร์ซีย์, บิซ สโตน และ อีวาน วิลเลียมส์ เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2549 แต่ทั้งนี้บุคคลที่มีอิทธิพลต่อการเกิดเว็บไซต์ทวิตเตอร์มากที่สุดนั้นคือ อีวาน ทำให้ทางทีมงานจะขอลงลึกไปที่ประวัติของเขาเพียงคนเดียว

โดยก่อนหน้าที่ อีวาน วิลเลียมส์ จะเข้ามาพัฒณาเว็บไซต์ทวิตเตอร์ เขาก็เป็นเด็กหนุ่มอเมริกันคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในชนบท โดยเขาเกิดและโตขึ้นที่หมู่บ้านคลากส์ เมืองเนแบรสกา สหรัฐอเมริกา จนเขาได้เข้ารับการศึกษาในระบบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเนแบรสกา แต่อีวานเรียนมหาวิทยาลัยไปได้แค่ 1 ปีครึ่งเขาก็ออกมาดิ้นรนหางานทำ โดยงานที่อีวานเลือกส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับด้านเทคโนโลยีทั้งหมด

แต่ดูเหมือนชีวิตการทำงานของ อีวานจะไม่ราบลื่นนักเพราะเขาเปลี่ยนงานอยู่บ่อยครั้งจนสุดท้ายเขาก็ต้องกลับมาใช้ชีวิตชาวนาที่บ้านเกิดเขาอีกครั้ง

จวบจนประมาณ พ.ศ. 2545 - 2546 อีวานได้เข้าไปสมัครงานกับ Pyra Labs จนเขาได้ทำงานและร่วมคิดค้นพัฒนาโครงการที่ชื่อว่า "Blogger.com" ขึ้น โดย Blogger ถือเป็นเว็บบล็อกตัวแรกที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นและได้รับความนิยมค่อนข้างสูง โดยภายหลังกูเกิล (Google) ได้เข้ามาซื้อและดูแลกิจการของ Blogger.com ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546 ทำให้ อีวาน ลาออกจากโครงการ Blogger ในปีถัดมา

หลังจากนั้น อีวาน ได้ร่วมกับกลุ่มเพื่อนๆ เปิดบริการ RSS syndicated audio & video ในชื่อ "ODEO" ขึ้นใน พ.ศ. 2549 และเริ่มก่อตั้ง Obvious Corp กับเพื่อนที่ชื่อ บิซ สโตน และพนักงานในกลุ่ม ODEO หลังจากนั้น อีวานและเพื่อนของเขาก็เริ่มคิดค้นโครงการขึ้นมาใหม่อีกครั้งในชื่อ "Twitter (ทวิตเตอร์)"

อีวานและเพื่อนในนามบริษัท Obvious Corp พยายามผลักดันทวิตเตอร์มาอย่างต่อเนื่อง จนในปี พ.ศ. 2551 อีวานได้เข้ารับตำแหน่งเป็นผู้บริหารของ Obvious และเริ่มนำทวิตเตอร์เข้าสู่ตลาดโลกอย่างจริงจัง

ซึ่งในปี พ.ศ. 2553 เว็บไซต์และบริการทวิตเตอร์ถือเป็นเครือข่ายสังคมได้รับความนิยมสูงมาก โดยมีสมาชิกมากกว่า 100 ล้านยูสเซอร์ทั่วโลก และมีผู้เข้าใช้งานหน้าทวิตเตอร์อยู่ที่ 180 ล้านเพจวิวต่อเดือน

อีวาน วิลเลียมส์คุมบังเหียนทวิตเตอร์มาจนถึงวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2553 ก่อนจะสละเก้าอี้ผู้บริหารจากทวิตเตอร์ด้วยเหตุผลว่าเขารูปสึกเหนื่อยหน่ายในการบริหารบริษัทที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยอีวานโยนตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงให้กับ ดิก คอสโตโร แทน

เดนนิส โคร์วเลย์ (Dennis Crowley)
ผู้ก่อตั้ง: Foursquare (โฟร์สแควร์)
บันทึก: โฟร์สแควร์เป็นสื่อเครือข่ายสังคมประเภทหนึ่ง ที่จำเป็นต้องใช้งานควบคู่กับโทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ทโฟนผ่านระบบ GPS หรือเครือข่ายโทรศัพท์ โดยโฟร์สแควร์จะอนุญาตให้บุคคลสามารถร่วมแบ่งปันสถานที่ๆ บุคคลเหล่านั้นอยู่ให้กับเพื่อนๆ ให้ได้รับรู้ ด้วยการกระทำที่เรียกว่า เช็คอิน (Check-in) อีกทั้งโฟร์สแควร์ยังเปิดให้ผู้ใช้งานสามารถจดบันทึกความประทับใจในสถานที่ๆ เราอยู่ในตอนนี้และร่วมแบ่งปันความรู้สึกเหล่านั้นกับเพื่อนๆ ผ่านเครือข่ายสังคมอื่นและนอกจากนั้นจุดเด่นของโฟร์สแควร์ยังอยู่ที่การมีระบบ Mayor หรือเจ้าถิ่น (สำหรับคนที่เช็คอินสถานที่ตรงนี้บ่อยครั้ง) รวมถึงการใส่ระบบเก็บ Badge หรือเหรียญตราคล้ายกับการเล่นเกมโดยตัวโฟรแสควร์จะบอกเป้าหมายในการเก็บเหรียญตราแต่ละประเภทให้เรา เช่น ให้ผู้เล่นเช็คอินที่ร้าน Starbuck จำนวน 3 สาขาจะปลดล็อคเหรียญตรานี้ เป็นต้น โดยระบบเหล่านี้ทำให้ผู้เล่นโฟร์สแควร์จะรู้สึกสนุกหรือบ้างอาจรู้สึกดีที่ได้เห็นว่าชาวบ้านชาวช่องเขาไปเที่ยวไหนกันตามนิสัยอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์

ก่อนหน้าที่ เดนนิส โคร์วเลย์ จะเข้ามาทำโฟร์สแควร์เขาเป็นเด็กหนุ่มที่เคยพัฒนาและเป็นผู้ก่อตั้งบริการที่มีนามว่า Dodgeball ร่วมกับเพื่อนของเขาที่ชื่อ Alex Rainert ในสมัยที่เขาเรียนอยู่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ค ในโครงการ Interactive Telecommunications Program (ITP) (พ.ศ. 2543) โดยตัว Dodgeball มีการทำงานที่คล้ายกับโฟร์สแควร์ตรงที่เป็น location-based social networking ที่สามารถแบ่งปันสถานที่ๆ เราอยู่ในปัจจุบันให้กับเพื่อนๆ ได้ทราบ เพียงแต่ในยุคนั้นบริการ Dodgeball จะถูกผูกกับบริการฝากข้อความขนาดสั้น (SMS) แทนระบบ GPS ในปัจจุบัน

จนกระทั่ง พ.ศ. 2548 กูเกิล (Google) ก็ได้เข้ามาซื้อบริการ Dodgeball ไป ซึ่งเดนนิสและ Alex เองก็ได้ย้ายตัวเองไปอยู่กับกูเกิล จนกระทั่งช่วงประมาณเดือนเมษายน พ.ศ. 2550 เดนนิสและ Alex มีปัญหากับกูเกิลเป็นเหตุให้เขาทั้ง 2 คนลาออกจากกูเกิล และภายในหลังกูเกิลก็ยกเลิกบริการ Dodgeball และเปลี่ยนเป็น Google Latitude แทน

ซึ่งหลังจากนั้นใน พ.ศ. 2552 เดนนิสได้ฟอร์มทีมขึ้นมาใหม่พร้อมร่วมมือกับ Naveen Selvadurai กำเนิด Foursquare ด้วยเงินทุนจากจากเวนเจอร์แคปปิตอลจำนวน 1.35 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีสิ่งที่พิเศษกว่า Dodgeball ก็คือในยุคที่โฟร์สแควร์ถือกำเนิดเป็นยุคที่สมาร์ทโฟนกำลังเริ่มตื่นตัว ทำให้เดนนิสได้พยายามพัฒนาโฟร์สแควร์ให้สามารถใช้งานร่วมกับสมาร์ทโฟนเหล่านั้นได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แตาเดนนิสก็ยังไม่ทิ้งระบบเช็คอินผ่าน SMS แบบเก่าและพยายามพัฒนาโฟร์สแควร์ให้มีลูกเล่นเพิ่มมากขึ้นเช่น มีระบบเจ้าถิ่น, เหรียญตรา หรือความสามารถในการบันทึก To-Do List รวมถึงความสามารถในการใช้งานร่วมกับโซเซียลมีเดียอื่นๆ อย่าง ทวิตเตอร์หรือเฟสบุ๊ค

โดยจากการสำรวจล่าสุดเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2553 โฟร์สแควร์มียอดผู้ลงทะเบียนเข้าใช้อยู่ที่ 6 ล้านยูสเซอร์ และในปัจจุบันมีร้านค้ามากมายในหลายประเทศร่วมทำ CRM หรือ ลูกค้าสัมพันธ์ผ่านโฟร์สแควร์เป็นจำนวนมาก (รวมถึงประเทศไทยด้วย)

ปีเตอร์ ปีซาริส (Peter Pezaris)
ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร: Multiply.com (มัลติพลายดอทคอม)
บันทึก: เว็บไซต์มัลติพลายเป็นเว็บบล็อกโซเชียลเน็ตเวิร์กที่ค่อนข้างโด่งดังมากในเรื่องความสามารถในการใช้แบ่งปันรูปถ่ายที่ไม่มีการจำกัดจำนวนรูปถ่ายที่อัปโหลดขึ้นเว็บ ทำให้มัลติพลายถือเป็นสวรรค์ของช่างภาพหลายคนที่อยากนำมาภาพมาโชว์ต่อสาธารณะ อีกทั้งด้วยรูปแบบการใช้งานที่ไม่ยุ่งยาก และความสามารถในการปรับแต่งธีมบล็อกของเราได้เองผ่านภาษา CSS รวมถึงตัวเว็บยังสามารถใช้แบ่งปันสื่อมัลติมีเดียอื่นๆ และการเปิดตัวเองเป็นแหล่งช็อปปิ้งขนาดใหญ่เมื่อปีที่ผ่านมา ก็ทำให้เว็บไซต์มัลติพลายได้รับความนิยมไม่แพ้สื่อโซเชียลเน็ตเวิร์กอื่นๆ

สำหรับเว็บไซต์มัลติพลายถูกก่อตั้งและบริหารโดยปีเตอร์ ปีซาริส ซึ่งก่อนหน้าที่เขาจะตั้งเว็บไซต์มัลติพลาย ปีเตอร์ทำงานในตำแหน่งประธานการดำเนินงานด้านเทคโนโลยีและการใช้งานคอมพิวเตอร์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของ CBS SportsLine โดยปีเตอร์ได้ร่วมเปิดเว็บมัลติพลายขึ้นด้วยทุนจากพาร์ทเนอร์เอกชนอย่าง VantagePoint Venture Partners และ Point Judith Capital ในปี พ.ศ. 2547 ซึ่งมัลติพลายมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ฟอริด้า

จากเหตุผลที่ปีเตอร์ได้ก่อตั้งเว็บไซต์มัลติพลายขึ้นเพราะว่าในช่วงยุคที่โซเชียลเน็ตเวิร์กกำลังเริ่มผลิบาน ปีเตอร์เชื่อว่ายังมีคนอีกจำนวนมากที่อยากจะร่วมแบ่งปันสื่อมัลติมีเดียอย่างเช่นรูปภาพถ่ายหรือแม้แต่คลิปวิดีโอต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่าในยุคนั้นยังไม่มีสื่อโซเชียลเน็ตเวิร์กไหนสามารถตอบสนองตรงจุดนี้ได้ ทำให้ทางปีเตอร์ได้คิดค้นมัลติพลายขึ้นเพื่อทลายกำแพงเหล่านั้นลง

โดยเว็บไซต์มัลติพลายถือเป็นหนึ่งเว็บไซต์ที่มีการพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง เช่นใน พ.ศ. 2552 ทางมัลติพลายได้ตกลงเซ็นสัญญากับ Meebo ในการนำระบบ Real Time Chat เข้ามาใช้ อีกทั้งยังสามารถเชื่อมต่อกับโซเชียลเน็ตเวิร์กอื่นๆ ได้ด้วย หรือแม้กระทั่งการเปิด Social Shop เพื่อให้เหล่าสมาชิกสามารถแลกเปลี่ยนซื้อขายสิ้นค้าเป็นต้น

สำหรับเว็บมัลติพลายปัจจุบันมีผู้เยี่ยมชมทั่วโลกอยู่ที่ 20 ล้านคนต่อเดือน

เห็นด้วยไม่เห็นด้วยอย่างไรก็สามารถมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ครับที่กล่องแสดงความคิดเห็นด้านล่างหรือทาง Twitter: @Dorapenguin
Dennis Crowley ผู้ก่อตั้ง Foursquare
Evan Williams ผู้ร่วมก่อตั้ง Twitter
Peter Pezaris ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร Multiply.com
หน้าตาของ Multiply.com
หน้าตาของ Twitter.com
หน้าตาบริการ Dodgeball
หน้าตาบริการ Foursquare บนไอโฟน
กำลังโหลดความคิดเห็น