หลายคนยกให้ประเทศญี่ปุ่นเป็นเบอร์หนึ่งของประเทศที่มีการใช้งานระบบจ่ายเงินด้วยการ"วาง"โทรศัพท์มือถือไว้บนเครื่องอ่าน สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความสะดวกสบายของประชากรแดนปลาดิบอย่างเดียว แต่เป็นการกระตุ้นให้ระบบอี-คอมเมิร์สในชาติเติบโตยิ่งขึ้นด้วย
จริงหรือไม่อย่างไรไปดูกัน
***วางปั๊บนับตังค์ กับระบบชำระเงินผ่านกระเป๋าเงินโทรศัพท์เคลื่อนที่
(บทความโดย วรทรรศน์ วงษ์ไทย twitter : @jetboat26)
สืบเนื่องจากตอนก่อนหน้าในคอลัมน์ Cyberbiz ได้พูดถึงเทคโนโลยีที่เปลี่ยนโทรศัพท์เคลื่อนที่ ให้กลายเป็น “เครื่องรับรูดปรื้ด” หรือเครื่องรับชำระเงินด้วยบัตรเครดิต แต่ในความเป็นจริงแล้ว คนที่ต้องการทำธุรกรรมกับเว็บไซค์อี-คอมเมิร์สนั้นไม่ใช่ทุกคนที่จะมีบัตรเครดิต แต่คนส่วนใหญ่นั้น มักจะมีโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ในมือ
ก็เพราะความจริงมันเป็นแบบนี้ ในอีกมุมหนึ่งของโลก ก็เลยมีเทคโนโลยีที่มีแนวคิดที่ว่าจะเปลี่ยนโทรศัพท์ให้กลายเป็นกระเป๋าสตางค์เคลื่อนที่
ครับ...เทคโนโลยีที่เปลี่ยนโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้กลายเป็นกระเป๋าสตางค์นั้นได้กลายเป็นมาตรฐานการรับชำระเงินอย่างหนึ่งในประเทศญี่ปุ่นมาพักใหญ่แล้ว โดยมีชื่อเรียกว่า Osaifu-Ketai (mobile phones with wallet functions) หรือถ้าจะเรียกเป็นภาษาไทยแบบลูกทุ่งว่า กระเป๋าสตางค์สิงร่างโทรศัพท์ก็น่าจะพอได้อยู่
หัวใจของกระเป๋าสตางค์ในร่างโทรโทรศัพท์ คือเทคโนโลยีที่เรียกว่า “Near Field Communication” ซึ่งระบบนี้ต้องอาศัยโทรศัพท์ที่ออกมาแบบพิเศษ โดยมีตัวรับสัญญาณอยู่ภายใน
วิธีการใช้ก็แค่นำไปทาบที่เครื่องรับสัญญาณ เมื่อการทำธุรกรรมเสร็จสิ้นแล้ว เงินจะถูกหักผ่านตัวกลางที่ทำหน้าที่เป็นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งผู้ใช้ต้องลงทะเบียนไว้ล่วงหน้า และมีการผูกบัญชีไว้กับธนาคาร บัตรเครดิต หรือว่าหักจากยอดเงินเงินคงเหลือในโทรศัพท์ เป็นที่เรียบร้อยก่อนนำไปใช้งาน
ซึ่งในญี่ปุ่น ระบบของกระเป๋าสตางค์ในร่างโทรโทรศัพท์นี้มีใช้อย่างแพร่หลายในวงกว้าง ทั้งระบบการชำระค่าบัตรต่างๆ การซื้อสินค้าในร้านสะดวกซื้อ การขึ้นรถโดยสารขนส่งมวลชน บัตรสมาชิก เรียกว่าโทรศัพท์เครื่องเดียวเดินเปรี้ยวได้ทั้งวัน (ตราบใดที่เงินยังเหลือ) และตอนนี้ก็กำลังจะกลายเป็นช่องทางมาตรฐานหนึ่งในการทำธุรกรรมของเว็บไซต์อี-คอมเมิร์สในญี่ปุ่น
ผู้ที่ให้บริการกระเป๋าสตางค์ในร่างโทรศัพท์ในประเทศญี่ปุ่นมีอยู่หลายเจ้า แต่ที่ผมจะขอยกตัวอย่างในวันนี้ คือ “Edy” (อ่านว่า เอ็ด-ดี้)
Edy ย่อมาจาก ("Euro, Dollar, Yen") ซึ่ง Edy นั้นเป็นบริการจากบริษัท Bit Wallet ซึ่งให้บริการ E-Money หรือ กระเป๋าเงินเอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ในญี่ปุ่น โดยเครือข่ายโทรศัพท์ที่สามารถใช้ได้ ก็อาทิ NTT Docomo, au และ Softbank
การใช้งาน Edy ก็ไม่ได้มีอะไรยาก คือผู้ใช้ที่สนใจบริการต้องทำการลงทะเบียนในโทรศัพท์ จากนั้นก็ต้องกรอกรหัสบัตรเครดิตหรือจะเลือกช่องทางอื่นในการหักเงินให้เป็นที่เรียบร้อยเสียก่อน จึงสามารถนำไปใช้กับร้านค้าที่มีเครื่องรับสัญญาณของ Edy
นอกจาก Edy จะให้บริการกับร้านค้าแบบออฟไลน์แล้ว ในส่วนของเว็บไซต์อี-คอมเมิร์สก็มีให้บริการแบบนี้เช่นเดียวกัน คือผู้ใช้ตามบ้านที่ต้องการจะสั่งซื้อสินค้าผ่านเว็บไซต์ที่รองรับการชำระผ่านบริการของ Edy นั้น ก็ต้องสั่งซื้อเครื่องรับสัญญาณมาติดตั้งเสียก่อน ซึ่งเครื่องรับสัญญาณในญี่ปุ่นก็มักจะเป็นของ Sony ที่ใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า Felica สนนราคาเครื่องรับสัญญาณตัวนี้อยู่ที่ 2,800 เยน หรือคิดเป็นเงินไทย อยู่ที่ 1000 บาทนิดๆ (ราคาขายจากเว็บ raukuten.com)
หลังจากผู้ใช้มีเครื่องนี้อยู่ในมือแล้ว ก็ต้องติดตั้งเข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์ และลงซอฟต์แวร์ให้เรียบร้อย จากนั้นก็เข้าไปซื้อสินค้าหรือบริการในเว็บไซต์อี-คอมเมิร์สที่รองรับ Edy เมื่อมาถึงขั้นตอนการชำระเงิน ก็เพียงวางโทรศัพท์แนบกับเครื่องรับสัญญาณ แล้วในขั้นตอนของการชำระเงินบนทางเว็บไซต์ ก็ให้เลือกเป็นช่องทางของ Edy
จากนั้นระบบจะทำการเรียกโปรแกรมที่ใช้คู่กับเครื่องรับสัญญาณ เมื่อกรอกข้อมูลและตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้อง การชำระเงินก็จะเกิดขึ้น
ในฝั่งของผู้ซื้อ จะได้รับข้อความยืนยันคำสั่งซื้อปรากฎขึ้นบนโทรศัพท์ผ่านทางอีเมล แล้วให้ลูกค้าเป็นผู้ยืนยันอีกครั้งหนึ่ง หาก Edy ตรวจสอบข้อมูลและการชำระเงินเสร็จ กระบวนการก็จะครบถ้วนสมบูรณ์
ลูกค้าที่ต้องตรวจสอบประวัติการทำธุรกรรมก็สามารถตรวจสอบได้ผ่านโปรแกรมของ Edy บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือโปรแกรม Edy View บนเครื่องคอมพิวเตอร์
เว็บไซต์ที่รองรับช่องทางการชำระเงินในรูปแบบนี้อาจจะยังมีไม่มากนัก คุณสามารถดูรายชื่อของเว็บไซต์อี-คอมเมิร์สในญี่ปุ่นที่รองรับเทคโนโลยีตัวนี้ในการชำระเงินได้ โดยเข้าที่ไปลิงค์นี้ครับ http://www.edy.jp/search/site/index.html
เว็บไซต์ที่รองรับส่วนใหญ่จะเป็นเว็บที่มีความพร้อมอยู่แล้ว อย่างเว็บที่คนไทยรู้จักกันดีก็ อาทิ DMM Amazon หรือว่า HMV ตัวอย่างชัดๆที่อาศัยช่องทางนี้จัดทำกิจกรรมทางการตลาด อย่างผู้ให้บริการเกมออนไลน์ บางที่ก็แจ้งว่าถ้าเติมเงินผ่านช่องทางนี้ ก็มีไอเท็มพิเศษให้ ซึ่งก็คล้ายๆกันกับในบ้านเรา
สถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเติบโตของเรื่องนี้ คือเมื่อดูย้อนหลังกลับไปตั้งแต่ช่วง ปี 2004 จนถึงปี 2007 ก็จะเห็นว่า ยอดการใช้งาน mobile e-commerce ในญี่ปุ่นอัตราสูงมีอัตราพุ่งสูงขึ้นมาเรื่อยๆ และมีแนวโน้มเติบโตน่าสนใจ ล่าสุด Softbank เองก็เพิ่งให้ข่าวมาว่า ตอนนี้มีผู้ใช้ในเครือข่ายที่มีโทรศัพท์คุณสมบัตินี้ราวๆ 10 ล้านเครื่อง และยังมียอดโตขึ้นแบบอย่างต่อเนื่อง
อีกหนึ่งข่าวที่ทำให้เราพอเห็นภาพการผนวกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันของกระเป๋าสตางค์โทรศัพท์กับธุรกิจอี-คอมเมิร์สอย่างชัดเจนมาก คือเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมานั้น บริษัท Bit Wallet เจ้าของบริการ Edy ได้ทำการจัดสรรหุ้นให้กับผู้ร่วมเข้ามาถือหุ้นใหม่คือ Rakuten ซึ่งมีมูลค่ากว่าสามพันล้านเยน
Rakuten นั้นถือว่าเป็นยักษ์ใหญ่ของวงการ อี-คอมเมิร์สญี่ปุ่น ซึ่งความเคลือนไหวก่อนหน้านี้ ทาง Rakuten เองก็เคยได้ซื้อธุรกิจบัตรเครดิต KC Card เคยเปิดธุรกิจ Ebank เมื่อปี 2008 และการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ Edy ซึ่งเป็นผู้เล่นในตลาดเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นเจ้าหนึ่ง ก็คงพอจะให้เห็นนัยอะไรบางอย่างได้อยู่
เทคโนโลยีกระเป๋าสตางค์ โทรศัพท์ อาจจะไม่ใช่คำตอบใหม่ในการรับชำระเงินของเว็บอี-คอมเมิร์ส ณ ตอนนี้ แต่ในอนาคต เทคโนโลยีนี้อาจจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งเมื่อระบบนี้มีการใช้งานในวงกว้าง เช่น การจับจ่ายสินค้าที่ร้านสะดวกซื้อ ขนส่งมวลชน เช่น รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน หรือว่าสายการบิน และถ้ามองในภาพไกลออกไปอีก ว่าเมื่อไหร่ที่เทคโนโลยีแบบนี้กลายเป็นมาตรฐานในระดับสากล ที่มีมากับโทรศัพท์ทั่วไป ด้วยศักยภาพของผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในบ้านเรา ก็น่าจะมีความพร้อมกันอยู่แล้ว เพราะทั้ง 3 ค่าย ต่างก็มีบริษัทลูกที่ทำเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงินอยู่ในมือ
ฉะนั้นสำหรับวงการอี-คอมเมิร์สไทย ถ้าจะมองช่องทางการรับชำระเงินแบบวางปั๊บรับตังค์อย่างนี้ไว้บ้าง ก็คงไม่เสียหายล่ะครับ แต่จะเกิดขึ้นและใช้ได้ “จริง” เมื่อไหร่ ยังเป็นสิ่งที่ต้องรอคอยดูคำตอบครับ
***
"ผู้จัดการไซเบอร์"เคยเผยแพร่บทความรีวิวระบบชำระเงินด้วยโทรศัพท์มือถือ "ทัชซิม"ของทรู สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ข่าว Touch@Home : "แปะตี๊ด"สบายกว่า"รูดปื้ด" !!!