“ประวิตร” นำทีมผู้แทนกลาโหมอาเซียน 10 ประเทศ ถกมุ่งแก้ปัญหา “ภัยพิบัติ-ความมั่นคงรูปแบบใหม่” รวมทั้งหารือแนวทางป้องกันก่อการร้ายสากล หลังเป็นภัยคุกคามประเทศสมาชิก พร้อมส่งไม้ต่อ “เวียดนาม” ให้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมครั้งต่อไป พ.ค.ปีหน้า
วันนี้ (3 พ.ย.) ที่โรงแรมพลาซ่า แอทธินี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (ASEAN Defence Ministers’ Meeting Retreat : ADMM Retreat) ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หรือผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ และรองเลขาธิการอาเซียนเข้าร่วมประชุม ทั้งนี้ การประชุม ADMM Retreat เพื่อพัฒนาปฏิสัมพันธ์และสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันของกลุ่มกลาโหมอาเซียน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อการก่อตั้งประชาคมการเมือง และความมั่นคงอาเซียน ภายใต้กฎบัตรอาเซียน
พล.อ.ประวิตร แถลงผลการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการว่า สิ่งที่ประชุมพยายามผลักดัน คือ บทบาทของกลาโหมอาเซียนในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ โดยให้เชื่อมโยงกับหน่วยงานภาคพลเรือนและองค์กรภาคประชาสังคม ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 15 ที่ต้องการให้กลาโหมอาเซียนในฐานะที่มีความพร้อมและขีดความสามารถ ร่วมมือกันแสวงหามาตรการที่เป็นรูปธรรมในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ ส่วนเรื่องการขยายความร่วมมือกับประเทศนอกอาเซียนและคู่เจรจา แม้ว่าที่ประชุมยังไม่ได้ข้อยุติว่าจะมีประเทศใดบ้าง แต่ที่ประชุมได้พิจารณาว่าน่าจะให้อยู่ในกรอบเดียวกับการประชุมสุดยอดอาเซียน เช่นเดียวกับการประชุมผู้นำอาเซียน
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เรื่องความร่วมมือการป้องกันการก่อการร้ายสากล ประเทศสมาชิกกำลังดำเนินการในรายละเอียดร่วมกัน ทั้งนี้ อาเซียนเป็นองค์กรที่ไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว ที่สำคัญปัญหาความมั่นคงที่ประเทศที่ประเทศสมาชิกเผชิญอยู่ในปัจจุบัน โดยมากเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ นอกจากนี้ ยังมีภัยพิบัติทางธรรมชาติ ความมั่นคงทางทะเล การลักลอบค้ามนุษย์ รวมทั้งปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ส่วนปัญหาตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ไม่ได้หารือในที่ประชุมและในระดับทวิภาคี เนื่องจากมีการติดต่อประสานงานอยู่ตลอดเวลาในคณะกรรมการทุกระดับอยู่แล้ว ขณะนี้สถานการณ์ตามแนวชายแดนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
เมื่อถามว่า ที่ประชุมได้หารือถึงปัญหาก่อการร้ายในภูมิภาคอาเซียน พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า กลุ่มอาเซียนก็ดำเนินการอยู่ ซึ่งมีการพูดคุยกันอยู่ โดยอินโดนีเซียได้หยิบยกเรื่องนี้มาพูด ซึ่งเรื่องความมั่นคงเรามีการพูดคุยกันอยู่ ทั้งนี้ อาเซียนก็ป้องกันไม่เกิดปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ เรามีการหารือที่จะร่วมมือกันอยู่ ไม่เฉพาะปัญหาก่อการ้ายอย่างเดียว
ขณะที่ พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า การประชุมแบ่งกรอบการประชุมเป็น 2 ระดับ คือ ระดับปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งได้มีการหารือในเรื่องการกำหนดรูปแบบ และองค์ประกอบว่าจะมีประเทศใดเข้ามาเป็นคู่เจรจาบ้าง โดยได้มีการประชุมไปเมื่อวันที่ 2 พ.ย.ที่ผ่านมา ส่วนระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมนั้น สรุปผลที่ได้รับในการประชุมคือ การยกระดับของสถานะของกลาโหมอาเซียนในเวทีสากลทั้งทางด้านการเมืองและความมั่นคง 2.เตรียมความพร้อมในการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอาเซียนในครั้งที่ 4 ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2553 ที่ประเทศเวียดนาม ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการนำผลประชุมของปลัดกระทรวงกลาโหมอาเซียนมาหารือถึงภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่มีหลายมิติ อาทิ ยาเสพติด กระบวนการค้ามนุษย์ ภัยธรรมชาติ ซึ่งที่ประชุมลงความเห็นว่า ภัยคุกคามรูปแบบใหม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างไร้พรมแดน ดังนั้นทุกประเทศจึงต้องร่วมมือกันเพื่อช่วยแก้ไขปัญหา ส่วนการก่อการร้ายสากล ที่เกิดขึ้นทั่วโลก จะต้องมีการหารือถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาอีกครั้ง ที่ประเทศเวียดนาม
พ.อ.ธนาธิป กล่าวต่อว่า ส่วนการกำหนดหาประเทศที่จะเข้ามาเป็นประเทศคู่เจรจานั้น ที่ประชุมได้มีความคิดเห็นหลากหลายว่าจะนำประเทศใดมาเป็นประเทศคู่เจรจา และจะนำเข้ามากี่ประเทศ ทั้งนี้มีความเห็นว่า ประเทศที่จะเข้ามาเป็นคู่เจรจาจะต้องมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อประเทศในภูมิภาคอาเซียน และสามารถให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับความมั่นคงได้ แต่ต้องไม่เข้ามาแทรกแซงปัญหาภายใน ทั้งนี้ ทุกประเทศเห็นด้วยที่จะมีประเทศคู่เจรจา เพราะจะมีประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาและสามารถสร้างความมั่นคงให้กับประเทศอาเซียนได้อย่างเป็นระบบ