xs
xsm
sm
md
lg

ผบช.ทัพเรือภาคที่ 3 ระบุโรฮิงยาหนีเข้าเมืองต้องเฝ้าระวัง - เผยยาเสพติดฝั่งอันดามันยังระบาดหนัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ผู้บัญชาการทัพเรือภาค 3 คนใหม่ ระบุ ปัญหาโรฮิงยาหลบหนีเข้าเมืองยังต้องจับตาใกล้ชิด ขณะที่ปัญหายาเสพติดระบุฝั่งอันดามันยังคงเป็นแหล่งซื้อขายและพักของ

พลเรือโท ชุมนุม อาจวงษ์ ผู้บัญชาการ ทัพเรือภาคที่ 3 กล่าวภายหลังรับมอบตำแหน่งผู้บัญชาการทัพเรือภาค ที่ 3 ที่ห้องประชุมกองบัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต ว่า ทัพเรือภาคที่ 3 มีหน้าที่ดูแลสถานการณ์ความมั่นคงทางทะเลที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นเขตแดนทางทะเล การทำประมง บุคคลต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ยาเสพติด การค้าอาวุธสงคราม สินค้าหนีภาษี น้ำมันเถื่อน โจรสลัด กลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งอาจใช้พื้นที่จังหวัดสตูลเป็นแหล่งพักพิง ซ่องสุม

ซึ่งในส่วนของการแก้ไขปัญหาต่างๆ นั้น พลเรือโทชุมนุม กล่าวว่า สำหรับปัญหาบุคคลต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง นั้น พบว่า ปัจจุบันการลักลอบมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มชาวโรฮิงยาจากรัฐอาระกัน ประเทศพม่า และจากประเทศบังกลาเทศ ซึ่งแนวทางดำเนินการที่ผ่านมาทำให้แนวโน้มชาวโรฮิงยาที่ลักลอบเข้าเมืองมีจำนวนน้อยลง จากการจัดตั้งหมู่เรือสกัดกั้นแรงงานต่างด้าว และการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ แต่อย่างไรก็ตาม การป้องกันก็ยังคงอยู่อย่างต่อเนื่อง

ส่วนปัญหายาเสพติดนั้น ปัจจุบันปรากฏแน่ชัดว่า จังหวัดทางฝั่งอันดามันยังคงเป็นแหล่งซื้อขาย พักของ และทางผ่าน ของกลุ่มขบวนการค้ายาเสพติด มีการลำเลียงทั้งทางบกและทางทะเลเพื่อส่งไปยังประเทศไต้หวัน จีน ฮ่องกง มาเลเซีย และสิงคโปร์ นอกจากนั้น ยังมีการระบาด และนำเข้าจากทางชายแดนมาเลเซีย ได้แก่ ยาเสพติดประเภทยาไอซ์ และยาอี ซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง โดยการดำเนินการที่ผ่านมา ทัพเรือภาคที่ 3 ได้ประสานความร่วมมือกับ ป.ป.ส.และหน่วยงานต่างๆ จนนำไปสู่การจับกุมที่ผ่านมาในรายสำคัญหลายครั้ง

ขณะที่ปัญหาการกระทำอันเป็นโจรสลัด ยังคงมีปรากฏอยู่ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นผลกระทบที่ต่อเนื่องจากการกระทำของกลุ่มโจรสลัดภายในช่องแคบมะละกา และน่านน้ำของประเทศที่อยู่ในคาบสมุทรอินเดีย ซึ่งมิได้เกิดขึ้นในพื้นที่ปฏิบัติการของทัพเรือภาคที่ 3 โดยตรง แต่กลุ่มโจรสลัดดังกล่าวมีเครือข่ายอยู่ทั้งในประเทศมาเลเซีย และประเทศอินโดนีเซีย โดยเฉพาะที่จังหวัดอาเจะห์ อินโดนิเซีย มักใช้วิธีการปล้นเรือที่เขตน่านน้ำสากลหรือรอยต่อระหว่างประเทศ โดยกลุ่มโจรพร้อมอาวุธจะใช้เรือเร็วหรือเรือดัดแปลงเข้าเทียบแล้วปีนขึ้นเรือเพื่อจับยึด หรือนำลูกเรือไปปล่อยตามเกาะ

จากนั้นจะควบคุมตัวไต๋เรือและลูกเรือบางคน หรือบางครั้งจะนำเรือไปด้วยเพื่อเรียกค่าไถ่ เมื่อมีการจ่ายเงินค่าไถ่เรียบร้อยแล้วจะนัดรับตัวประกันในป่า หรือฝากมากับเรือประมงกลางทะเล เนื่องจากช่องแคบมะละกามีลักษณะเป็น CHOKE POINT ที่เรือเดินทะเลส่วนใหญ่ใช้เป็นเส้นทางหลัก ประกอบกับพื้นที่ปฏิบัติการของทัพเรือภาคที่ 3 อยู่ในส่วนของช่องแคบมะละกาตอนบน บางครั้งเส้นทางหลบหนีจะผ่านเข้ามาในน่านน้ำของประเทศไทย ทำให้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จำเป็นจะต้องให้ความสนใจและให้ความร่วมมือในการเฝ้าระวัง ค้นหา ติดตาม และประสานข้อมูลที่จำเป็นกับประเทศเทศต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำอันเป็นโจรสลัด โดยการจัดเรือและอากาศยานเข้าร่วมลาดตะเวนในช่องแคบมะละกา ร่วมกับประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ซึ่งกองทัพไทยลงนามในข้อตกลง (TOR) และระเบียบปฏิบัติประจำ (SOP) กับประเทศต่างๆ แล้ว

พลเรือโทชุมนุม ยังได้กล่าวต่อไปถึงการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ ว่า ทัพเรือภาคที่ 3 เป็นศูนย์ประสานการปฏิบัติในการค้นหาและช่วยเหลือเรือและอากาศยานประสบภัยทัพเรือภาคที่ 3 และเป็นศูนย์รักษาความปลอดภัยทางทะเลกองทัพเรือฝั่งอันดามัน (ศรภ.ทร.อม.)
 
โดยมีศูนย์รักษาความปลอดภัยทางทะเลกองทัพเรือฝั่งอันดามัน วางกำลังที่ กองบัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 และวางกำลังหน่วยปฏิบัติการ จำนวน 6 หน่วย ในพื้นที่ต่างๆ คือ หาดป่าตอง จ.ภูเก็ต, เขาหลัก, เกาะสิมิลัน, เกาะสุรินทร์ จ.พังงา, เกาะลันตาน้อย จ.กระบี่ และหน่วยบินรักษาความปลอดภัยทางทะเลกองทัพเรือ หมวดบินกองเรือปฎิบัติการ ทัพเรือภาคที่ 3 ซึ่งหน่วยต่าง ดังกล่าวคอยให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ และพร้อมให้ความช่วยเหลือตามที่ได้รับการประสานงาน นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์บรรเทาสาธารณภัย พร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยต่างๆ เช่น ภัยแล้ง อุทกภัย เป็นต้น ตามที่ได้รับการร้องขอ
กำลังโหลดความคิดเห็น