เอ็มดีไอบีเอ็มไทยมั่นใจ เศรษฐกิจซบทำให้ธุรกิจลงทุนไอทีเพื่อลดต้นทุนมากขึ้น ยิ้มรับเทรนด์ที่เกิดขึ้นด้วยการเตรียมแผนลงพื้นที่หัวเมืองนอกกรุงเทพฯ เผยเตรียมเปิดสาขาย่อยที่เชียงใหม่ ระบุไม่ห่วงกรณียักษ์ใหญ่ซอฟต์แวร์อย่างออราเคิล เปิดตัวฮาร์ดแวร์ร่วมกับซันไมโครซิสเต็มส์ในราคาถูกกว่าไอบีเอ็ม ย้ำ”หนังชีวิตต้องดูยาวๆ”
ธันวา เลาหศิริวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย กล่าวว่า ตั้งแต่ไอบีเอ็มมีการปรับมุมมองด้านการตลาดโดยหันมาให้ความสำคัญกับเซอร์วิส 50% ด้านซอฟต์แวร์ 20% และอีก 20% เป็นด้านฮาร์ดแวร์ ทำให้ไอบีเอ็มมีบริการที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เห็นได้จากในช่วง 2-3 ปีมานี้หลายประเทศโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาประสบปัญหาวิกฤตด้านการเงินแต่ธุรกิจด้านไอทีไม่กระทบตามไปด้วย ตรงกันข้ามธุรกิจส่วนใหญ่หันมาให้ความสำคัญด้านไอทีมากยิ่งขึ้นเพื่อนำไอทีเข้ามาปรับใช้ในธุรกิจให้มีความทันสมัยและลดค่าใช้จ่ายซึ่งประเทศไทยก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
“ประเทศไทยถูกมองว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ยังมีการเติบโตได้อีกมาก แม้ไม่ได้เติบโตแบบก้าวกระโดดก็ตาม โดยธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตเช่น SME สื่อสาร และธุรกิจทั่วๆไป”
ตลาดต่างจังหวัดของประเทศไทยเป็นหนึ่งโอกาสทางธุรกิจที่น่าจับตามอง ซึ่งไอบีเอ็มก็จะหันมาทำตลาดมากยิ่งขึ้น โดยตั้งเป้าว่าภายในไตรมาส 4 ของปีนี้ไอบีเอ็มจะเปิด SMALL OFFICE ที่เชียงใหม่ โดยจะมีเจ้าหน้าที่ไอบีเอ็มประจำเพื่อให้ความช่วยเหลือคู่ค้าในการทำตลาด สร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้าเหมือนเป็นคำมั่นว่าไอบีเอ็มให้ความสำคัญกับลูกค้าต่างจังหวัดเช่นเดียวกับกรุงเทพฯ โดยล่าสุดอยู่ในระหว่างการเลือกทำเลที่ตั้ง
“เรามั่นใจว่าตลาดต่างจังหวัดยังมีงบในใช้จ่ายด้านไอทีอีกมาก โดยเฉพาะเชียงใหม่ และโคราช”
ไม่ห่วงดีลออราเคิล-ซัน
ธันวาระบุว่า ไอบีเอ็มประเทศไทยไม่มีความกังวลกับการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ร่วมกันระหว่างซันและออราเคิลในนาม "Exadata Version 2" ซึ่งระบุว่าเป็นเครื่องฐานข้อมูลหรือ database machine ที่นำซอฟต์แวร์ออราเคิลไปติดตั้งบนเครื่องของซัน ทั้งสองบริษัทการันตีว่าสามารถทำงานได้เร็วกว่ารุ่นก่อน 2 เท่าตัว ในราคาที่น้อยกว่าฮาร์ดแวร์ของค่ายคู่แข่งทุกรายรวมถึงไอบีเอ็ม
“หนังชีวิตต้องดูยาวๆ ตัวเลขมาร์เกตแชร์ของไอบีเอ็มจากไอดีซีที่ผ่านมาดีมาก ส่วนแบ่งการตลาดฮาร์ดแวร์ของซันรวมกับเอชพียังไม่ถึงครึ่งของเรา อีกอย่างคือการทำธุรกิจฮาร์ดแวร์ไม่ใช่เรื่องง่าย ทำอย่างไรจึงจะสร้างความมั่นใจให้ลูกค้า แม้จะมีจุดเด่นเรื่องราคาที่ถูกกว่า แต่ก็ไม่ได้สร้างความมั่นใจในภาพรวมได้ ตรงนี้เชื่อว่าลูกค้าปัจจุบันฉลาดขึ้น รู้ว่าปัจจัยกำหนดต้นทุนความเป็นเจ้าของระบบไอทีมีหลายอย่าง ไม่ได้อยู่ที่ราคาฮาร์ดแวร์อย่างเดียว”
สำหรับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในประเทศไทยหลังไอบีเอ็มซื้อบริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์ประมวลผลข้อมูลเพื่อการวิจัยหรือ SPSS ซึ่งใช้งานกันมากในนักศึกษาไทยและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยและแบบสอบถาม จุดนี้ธันวามองว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นในแง่การเพิ่มประสิทธิภาพซอฟต์แวร์ของไอบีเอ็ม
“เรื่องแผ่นผีหรือการละเมิดลิขสิทธิ์ SPSS ในประเทศไทยคิดว่าไอบีเอ็มจะไม่ลงไปปราบปรามรายย่อย แต่จะเน้นกลุ่มธุรกิจด้วยการให้ความรู้ถึงประโยชน์จากการใช้ซอฟต์แวร์ถูกลิขสิทธิ์”
Company Related Links :
IBM