กรุงเทพฯ – เมื่อวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี นำกำลังพร้อมด้วยหมายค้นจากศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เลขที่ 513/2552 และเลขที่ 514/2552 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าตรวจค้นร้านอินเทอร์เน็ต จำนวน 2 ร้าน ย่านอ่อนนุช อุดมสุข ที่ต้องสงสัยว่าจะมีการใช้ และให้เช่าซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ในการดำเนินธุรกิจ จากการตรวจจับร้านอินเทอร์เน็ตทั้งสองร้านในครั้งนี้ ได้พบโปรแกรมละเมิดลิขสิทธิ์จำนวนมาก
“การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์เป็นการทำลายเศรษฐกิจของชาติ เนื่องจากทรัพย์สินทางปัญญานั้น เป็นตัวขับเคลื่อนนวัตกรรม สร้างโอกาสและความเติบโตทางเศรษฐกิจ ในอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ร้อยละ 76 ของประเทศไทย สามารถคิดเป็นมูลค่าความเสียหายในส่วนของการจ้างงานในประเทศและภาษีของรัฐ ถึง 609 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ดังนั้น เราต้องช่วยกันโดยร่วมกันปกป้องและคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะในขณะที่ประเทศของเราต้องประสบกับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำอยู่นี้เป็นการคุ้มครองส่วนของการจ้างงานและสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ” พ.ต.อ.ศรายุทธ พูลธัญญะ รองผู้บังคับการกองปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี (บก.ปศท.) กล่าว
“เพื่อที่จะรักษาไว้ซึ่งสภาวะทางเศรษฐกิจไม่ให้เกิดความเสียหายไปมากกว่านี้ การปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ต้องกระทำอย่างรวดเร็วและปราศจากความลำเอียง” พ.ต.อ. ศรายุทธ กล่าวเน้น
ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ของไทย การจำหน่าย เสนอเพื่อจำหน่าย ให้เช่า นำเข้า เผยแพร่ หรือแจกจ่าย ซึ่งงานที่ทำซ้ำโดยไม่ได้รับอนุญาต อันนำมาซึ่งความเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ มีอัตราโทษปรับ 10,000-100,000 บาท แต่ถ้าการละเมิดลิขสิทธิ์นั้นทำเพื่อ “ประโยชน์ทางการค้า” จะมีอัตราโทษปรับ 50,000-400,000 บาท หรือจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ องค์กรธุรกิจต่างๆ และผู้บริโภค ต้องใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีลิขสิทธิ์ถูกกฎหมาย สำหรับการให้บุคคลที่สามเช่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ จะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วยเช่นกัน
“เราขอเตือนองค์กรธุรกิจต่างๆที่กำลังใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์อยู่ในขณะนี้ ว่าให้พิจารณาในจุดนี้อีกครั้ง ถ้าพบว่ามีการใช้อย่างผิดกฎหมายอยู่ ท่านต้องดำเนินการปรับเปลี่ยนแก้ไขเพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมายโดยเร็ว ก่อนที่จะถูกตรวจจับดำเนินคดีและทำให้ธุรกิจต้องพบกับความเสียหาย ทั้งยังเสื่อมเสียชื่อเสียงอีกด้วย นอกจากนั้นแล้ว องค์กรธุรกิจใดก็ตามที่ใช้ซอฟต์แวร์ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้องก็สมควรที่จะได้รับความคุ้มครองจากการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม หากคู่แข่งทางการค้านั้นยังยืนกรานในการลดต้นทุนทางธุรกิจโดยการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ถือเป็นการโจรกรรมซอฟต์แวร์ และพวกเราทั้งหมดคือเหยื่อไม่ว่าในทางใดทางหนึ่ง” พ.ต.อ.ศรายุทธ กล่าวสรุปในตอนท้าย