xs
xsm
sm
md
lg

ค่ายแอนตี้ไวรัสเชื่อ ไมโครซอฟท์แจกฟรีไม่มีผล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หน้าต่าง Morro เมื่อไม่พบความผิดปกติ
ไมโครซอฟท์พร้อมเปิดให้ผู้ใช้วินโดวส์ทุกคนทดลองดาวน์โหลดซอฟต์แวร์แอนตี้ไวรัสไปใช้ฟรีแล้ววันที่ 23 มิถุนายน 2552 ใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า Microsoft Security Essentials (MSE) มาพร้อมบางส่วนของ Windows Live OneCare ซึ่งเคยวางขายในราคา 49.95 เหรียญต่อปี ทั้งหมดนี้ผู้บริหารบริษัทจำหน่ายซอฟต์แวร์แอนตี้ไวรัสรายใหญ่ในตลาดอย่างไซแมนเทค แพนด้าซอฟต์แวร์ เทรนด์ไมโคร และแคสเปอร์สกี้ เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบใดๆต่อยอดขายของบริษัทแน่นอน เพราะยอดขายส่วนใหญ่มาจากบริษัทองค์กร ไม่ใช่กลุ่มผู้บริโภคที่เป็นตลาดของแอนตี้ไวรัสฟรี

เฉพาะคนใช้วินโดวส์(ลิขสิทธิ์)

ไมโครซอฟท์ระบุว่า MSE จะป้องกันพีซีจากไวรัสคอมพิวเตอร์ สปายแวร์ โทรจัน รูทคิตส์ และซอฟต์แวร์อันตรายต่างๆที่แพร่หลายอยู่ทั่วไป กลุ่มตลาดของ MSE คือกลุ่มรากหญ้าที่ต้องการการปกป้องขั้นพื้นฐาน ที่ไม่สามารถหรือไม่ต้องการที่จะจ่ายเงินสำหรับชุดป้องกันมัลแวร์ โดยผู้ใช้ไม่ต้องลงทะเบียนเพื่อใช้และไม่มีวันหมดอายุ แต่ผู้ที่จะใช้ต้องติดตั้งลงบนวินโดว์ที่ถูกลิขสิทธิ์เท่านั้น

ไมโครซอฟท์จะเปิดให้ทดสอบ MSE เบต้าเวอร์ชันในวันที่ 23 มิ.ย. 52 เวลา 9:00 ตามเวลาแปซิฟิก หรือประมาณ 22:00 น. ตามเวลาประเทศไทย สามารถใช้กับคอมพิวเตอร์ระบบปฏิบัติการ Windows Vista, XP และ Windows 7 ที่กำลังจะแจ้งเกิดในเร็ววันนี้ ในช่วงแรกจะเริ่มให้บริการที่สหรัฐฯ อิสราเอล และบราซิลก่อนในภาษาอังกฤษและโปรตุเกส

อัลวิน โอล ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายวิศวกรรมระบบ ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น บริษัท ไซแมนเทค คอร์ปอเรชั่น ให้ความเห็นไว้ตั้งแต่ MSE ยังเป็นที่รู้จักในนาม Morro ว่าการให้บริการฟรีแก่กลุ่มผู้ใช้ทั่วไปนั้นไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการในตลาดหลักได้

“เชื่อว่าไมโครซอฟท์จะให้บริการแค่แพลตฟอร์มเดียว ยังไงองค์กรก็ยังต้องการการปกป้องที่สมบูรณ์แบบ ยังต้องการซีเคียวริตี้อยู่”

เช่นเดียวกับ กันต์ เกิดแก้ว ผู้จัดการประจำประเทศไทย แพนด้าซอฟต์แวร์ ที่เชื่อว่า MSE จะเป็นดีกับผู้บริโภค และยังเป็นปัจจัยบวกสำหรับผู้ประกอบการอย่างแพนด้า เพราะ MSE จะเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยให้ผู้ประกอบการให้บริการลูกค้าได้ชัดเจนมากขึ้น

บวกทั้งคนใช้-คนขาย

"ก็ยังมองว่าเป็นบวกอยู่ ที่มองแบบนี้เป็นเพราะว่า เวลาลูกค้าประสบปัญหามักจะเกิดที่โอเอส ไม่มีการอัปเดท Patch ถ้าไมโครซอฟท์สแกนเพื่ออัปเดท Patch ให้ผู้บริโภคโดยอัตโนมัติ ก็จะช่วยกรองภัยคุกคามเบื้องต้นให้เหลือแต่ภัยคุกคามรุนแรง ตลาดซีเคียวริตี้ก็จะยิ่งชัดเจนมากขึ้น"

กันต์เชื่อว่า MSE จะไม่มีผลกระทบใดๆต่อยอดขายซอฟต์แวร์ของบริษัท

"เพราะอยู่คนละเลเยอร์ ตัวซีเคียวริตี้ที่ลูกค้าองค์กรเลือกอยู่ที่การรักษาความปลอดภัย เป็นคนละตลาดกัน ตลาดคอนซูเมอร์อาจจะกระทบ แต่ตลาดคอร์ปอเรทไม่มี"

รัฐสิริ ไข่แก้ว ผู้จัดการฝ่ายขาย ประจำภูมิภาคอินโดจีน บริษัท เทรนด์ ไมโคร อินคอร์ปอเรท ระบุว่าจากประสบการณ์การทดลองใช้ซอฟต์แวร์แอนตี้ไวรัสฟรีมานาน เชื่อว่าซอฟต์แวร์ฟรีอาจไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคบางกลุ่ม

“เรื่องไมโครซอฟท์แจกแอนตี้ไวรัสฟรีนี่ผมคอมเมนท์แทนบริษัทไม่ได้ แต่ในแง่ของผู้ใช้ ผมมองว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะมีตัวเลือกที่มากขึ้น มีโอกาสใช้ของฟรี แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับลักษณะผู้ใช้ด้วย ผมเป็นคนที่ใช้ซอฟต์แวร์แอนตี้ไวรัสมามาก ลองมาหมดทั้งแบบแครกและฟรีแวร์ ใช้เพื่อพูดคุยกับลูกค้า ซึ่งพบว่าแต่ละตัวมีข้อดีข้อเสียไม่เหมือนกัน ถ้าคาดหวังว่าจะต้องซัปพอร์ตหลังการขาย ต้องมีคนมาช่วยตอบปัญหาให้ ของฟรีพวกนี้จะไม่ได้ มองว่าอาจจะมีปัญหากับผู้ใช้รายใหม่ ผู้ใช้ที่เก่งพอสมควรก็จะไม่เป็นอะไร ขณะเดียวกันความคาดหวังของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน บางคนเล่นเกม จะล้างข้อมูลลงเครื่องใหม่กี่ครั้งก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นคนที่ค้าขาย ก็จะซีเรียสขึ้นอีกขั้นหนึ่งในการรักษาความปลอดภัย ”

ยูจิน แคสเปอร์สกี้ ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้ง แคสเปอร์สกี้ แลป ให้ความเห็นเรื่องนี้ว่าการได้รับแอนตี้ไวรัสฟรีหรือไม่นั้นไม่ใช่ปัจจัยหลักในการซื้อแอนตี้ไวรัส แต่ปัจจัยหลักคือความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจของผู้บริโภคมากกว่า ซึ่งเป็นจุดที่ไมโครซอฟท์ไม่สามารถทำได้ตั้งแต่เมื่อครั้งทำโปรเจค OneCare

"เพราะการที่จะทำให้แอนตี้ไวรัสมีคุณภาพ คุณต้องใช้เวลาและต้องทุ่มเทใส่ใจอย่างแท้จริง อย่างแคสเปอร์สกี้ เราทุ่มเทอย่างแท้จริงมาเป็นเวลากว่า 10 ปี"

Company Related Links :
Microsoft
เมื่อพบความผิดปกติในคอมพิวเตอร์พีซี
กำลังโหลดความคิดเห็น