ผู้จัดการไซเบอร์ได้พบกับ "ฌอน ฮิวจ์" ครั้งแรกที่งานแถลงข่าวเปิดตัวตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์มือถือแบรนด์ฟิลิปส์รายใหม่ในประเทศไทย ความคิดแรกที่ผุดขึ้นคือ ฮิวจ์น่าจะเป็นคนออกแบบรูปลักษณ์โทรศัพท์มือถือแบรนด์ฟิลิปส์ แต่ความจริงไม่ใช่ ฮิวจ์แนะนำตัวเองว่าเขารับผิดชอบงานออกแบบทั้งกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า และกลุ่มธุรกิจการแพทย์ ทั้งแบรนด์ฟิลิปส์ และที่ไม่ใช่แบรนด์ฟิลิปส์
ขณะนี้ ฮิวจ์มีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายออกแบบ บริษัท ฟิลิปส์ ดีไซน์ เอเชีย จำกัด ประสบการณ์ที่ยาวนานของฮิวจ์ในวงการงานออกแบบสินค้าไฮเทคนั้นน่าสนใจมาก ประโยคเด็ดที่ฮิวจ์บอกกับเราในวันนั้นคือ "เทคโนโลยีพัฒนาไปในทางที่ยาก แต่เราจะทำอย่างไรให้มันง่าย"
นี่จึงเป็นที่มาของชื่อบทความว่า "ความยากอยู่ที่ความง่าย" ซึ่งท่านจะได้อ่านในบรรทัดต่อไปนี้
หวังให้ผู้ใช้อัศจรรย์ใจ
"ในการออกแบบสินค้าแต่ละครั้ง เราจะมุ่งหวังให้ผู้ใช้รู้สึกอัศจรรย์ใจ (fantastic) แล้วบอกต่อเพื่อนๆ ซึ่งจะเป็นการสร้างคุณค่าให้แก่สินค้าที่ดีที่สุด" ฮิวจ์กล่าว "เช่น คุณวางโทรศัพท์ฟิลิปส์เพื่อจองโต๊ะในร้านอาหารหรือร้านกาแฟ เราอยากให้เพื่อนคุณเดินมาเห็นโทรศัพท์นี้แล้วเกิดแปลกใจ ว่านี่มันโทรศัพท์ฟิลิปส์นี่นา"
ฮิวจ์บอกว่า แนวคิดหลักที่ยึดมั่นในการออกแบบสินค้าไฮเทคมาตลอดคือ การออกแบบเอกลักษณ์ ซึ่งไม่ใช่เพียงโทรศัพท์มือถือ แต่หมายถึงทุกชิ้นงานที่ฮิวจ์มีโอกาสร่วมงานด้วย โดยขณะนี้ฮิวจ์มีหน้าที่รับผิดชอบลูกค้าในกลุ่มธุรกิจเพื่อการแพทย์และการดูแลสุขภาพ (Philips Healthcare) กลุ่มธุรกิจไฟฟ้าและอุปกรณ์แสงสว่าง (Philips Lighting) กลุ่มธุรกิจไลฟ์สไตล์ (Philips Lifestyle) รวมถึงดูแลธุรกิจรับจ้างออกแบบของฟิลิปส์หรือ Non Philips Business ในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งถูกเรียกอย่างเป็นทางการในชื่อ "ธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการออกแบบ (Philips Design Consulting)"
"ฟิลิปส์ก่อตั้งมานานกว่า 80 ปีแล้ว ทีมออกแบบของเราได้รับรางวัลด้านการออกแบบมากกว่า 50 รางวัล ขณะนี้เรามีทีมออกแบบ 450 คน ออกแบบครอบคลุมผลิตภัณฑ์ 30 กลุ่ม ทุกอย่างไม่ได้ทำในวันเดียวหรือที่เดียว เรามีทีมออกแบบผลิตภัณฑ์ในฮ่องกง ออกแบบบูท หรืองานสื่อสารการตลาดในไต้หวัน รวมถึงการออกแบบส่วนติดต่อผู้ใช้ (interface) ทุกทีมต้องทำงานร่วมกัน มีพันธมิตรเพื่อการวิจัยและพัฒนาทั่วโลก ออกแบบครบวงจรทั้ง 360 องศา ทั้งหมดนี้เราเน้นที่การออกแบบเอกลักษณ์เป็นสำคัญ"
ฮิวจ์บอกว่า ขณะนี้สำนักงานออกแบบของฟิลิปส์ที่อยู่ภายใต้การดูแลของเขาตั้งอยู่ใน 3 ประเทศ ได้แก่ ฮ่องกง สิงคโปร์ และอินเดีย ฮิวจ์บริหารงานที่ฮ่องกง สำนักงานใหญ่มานาน 12 ปี สำหรับการออกแบบโทรศัพท์มือถือ ฮิวจ์บอกว่าแนวคิดหลักในการออกแบบคือการเพิ่มขนาดหน้าจอให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เน้นออกแบบให้การทำงานของปุ่มควบคุมทาง (navigator) เป็นเอกลักษณ์ และเน้นพัฒนาส่วนติดต่อผู้ใช้ที่เข้าใจง่าย
"เราเน้นสร้างความต่างที่ดีกว่า แฟรมเวิร์กที่ทีมออกแบบของฟิลิปส์ยึดมั่นมาตลอด อย่างแรกคือต้องมีภาพลักษณ์ที่ง่ายและให้ความรู้สึกที่ง่ายด้วย สองคือต้องใช้งานง่าย ฟังก์ชันการทำงานต้องดี สาม คือ ต้องเหมาะสมกับวิถีชีวิต ซึ่งที่ผ่านมาเราทำวิจัยทุกตลาดเพื่อให้เข้าใจวิถีชีวิตของผู้บริโภค"
ฮิวจ์บอกว่า ฟิลิปส์มีการตั้งทีม “Global Culture Scan” เพื่อติดตามสังเกตทุกการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมชาวโลก ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถตอบทุกความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะความต้องการที่ผู้บริโภคไม่เคยพูดถึง
"นอกจากออกแบบให้คุณสมบัติการใช้งานพื้นฐานครบถ้วน เรามองว่าสีสันสดใสก็จะได้รับความสนใจ เราดูเทรนด์สีจากเวทีแฟชันโชว์ สีเหลืองและส้มกำลังมา เราก็ออกแบบเป็นหน้ากากให้ผู้ใช้สาวๆเปลี่ยนหน้ากากโทรศัพท์ได้"
อนาคตมือถือยังต้องมีปุ่ม
โทรศัพท์มือถือไร้ปุ่มที่มาพร้อมหน้าจอสัมผัสหรือทัชสกรีน คือทิศทางรูปลักษณ์โทรศัพท์มือถือที่โดดเด่นมากในขณะนี้ จุดนี้ฮิวจ์เชื่อว่า แผงปุ่มกดในโทรศัพท์มือถือจะยังไม่ถึงกาลอวสาน โดยแนวโน้มการออกแบบโทรศัพท์มือถือต่อจากยุคทัชสกรีน เชื่อว่าจะเป็นการเน้นในเทคโนโลยี Gesture Contact คือการสั่งการโทรศัพท์ด้วยท่าทางหรือการเคลื่อนไหว รวมถึงการใช้เสียงในการสั่งการ
"เช่น การใช้วิธีเขย่าแทนการกดปุ่มโทรศัพท์ แต่ตอนนี้เรายังไม่ได้ออกแบบสินค้าด้วยเทคโนโลยีนี้ในทุกรุ่น เพราะเราเชื่อว่าคีย์แพด (Keypad) หรือแผงปุ่มกดยังต้องมีอยู่ในโทรศัพท์ เช่นเดียวกับฟังก์ชันอินเทอร์เน็ตและพลังงานพื้นฐาน"
เมื่อถามถึงอุปสรรคในการออกแบบสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ฮิวจ์บอกว่าอุปสรรคใหญ่คือการสร้างความง่ายให้เกิดขึ้นบนเทคโนโลยีที่ยากขึ้นเรื่อยๆ ที่สำคัญ ฮิวจ์เชื่อว่าเรื่องของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกจะไม่ส่งผลด้านลบต่องานออกแบบผลิตภัณฑ์ เนื่องจากการออกแบบจะเป็นเครื่องสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าในยุคที่การแข่งขันดุเดือดเช่นนี้
"อุปสรรคคือการทำตามคอนเซ็ปต์เทคโนโลยีที่มีความยุ่งยาก แต่ต้องออกแบบให้การใช้งานง่ายต่อผู้ใช้มากที่สุด” ฮิวจ์กล่าว พร้อมกับบอกว่าไม่มีผลงานออกแบบสินค้าชิ้นใดของค่ายคู่แข่งที่ชื่นชมมากเป็นพิเศษ แต่มีการตรวจสอบพัฒนาการของคู่แข่งในตลาดอย่างต่อเนื่อง
ฌอน ฮิวจ์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทสาขาการออกแบบอุตสาหกรรมจากวิทยาลัยศิลปะรอยัลคอลเลจออฟอาร์ต (Royal College of Art) สถาบันศิลปะชื่อดังของอังกฤษ ในปี 2534 หลังจากศึกษาแล้วได้เข้าร่วมงานครั้งแรกกับบริษัท ฟิลิปส์ ดีไซน์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในตำแหน่งพนักงานออกแบบผลิตภัณฑ์ ก่อนจะขยายประสบการณ์คลุมทั้งด้านธุรกิจผลิตภัณฑ์ การบริการ การใช้สถานที่และพื้นที่ การพิมพ์ กระทั่งรับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายออกแบบในที่สุด
“หวังว่าคุณจะชอบโทรศัพท์นี้นะครับ” ฮิวจ์กล่าวทิ้งท้ายกับผู้โชคดีที่ได้รับโทรศัพท์แบรนด์ฟิลิปส์เป็นของขวัญในงานแถลงข่าววันนั้น
Company Related Links :
Philips