xs
xsm
sm
md
lg

สำรวจชี้ไทยมีโอกาสแข่งขันไอทีเหนือกว่าอินเดีย-จีน-เวียดนาม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บีเอสเอเผยผลการศึกษาปี 2551 ไทยนำหน้า อินเดีย จีน เวียดนามและอื่นๆ ในเรื่องความสามารถในการแข่งขันด้านไอทีโลก โดยไทยอยู่อันดับ 28 ในแง่สภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ จากเดิมที่อยู่อันดับ 31 ในปี 2550

นายเจฟฟรีย์ ฮาร์ดีย์ รองประธานและผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชีย กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (บีเอสเอ) กล่าวว่า จากการศึกษาของอีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต หรืออีไอยู ได้ประเมินและเปรียบเทียบสภาวะแวดล้อมด้านอุตสาหกรรมไอทีของ 66 ประเทศ เพื่อชี้ให้เห็นว่าแต่ละประเทศมีความสามารถในการแข่งขันด้านไอทีในระดับใด แม้ว่า 20 อันดับแรกยังคงเป็นประเทศกลุ่มเดียวกับปีที่แล้วแต่ 9 ประเทศได้รับการเลื่อนอันดับขึ้น ในขณะที่ 11 ประเทศถูกลดอันดับลง 3 ประเทศใน 5 อันดับแรกเป็นประเทศหน้าใหม่ คือ ไต้หวัน สวีเดน และเดนมาร์ก เมื่อดูเป็นภูมิภาค 5 อันดับแรกของเอเชียแปซิฟิกคือไต้หวัน ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และญี่ปุ่น

สำหรับประเทศไทยแม้จะได้คะแนนดีในเรื่องสภาวะแวดล้อมทั่วๆ ไปในการดำเนินธุรกิจแต่การขาดการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาส่งผลให้ไทยอยู่ในอันดับที่ 42 ในการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านไอที โดยการศึกษาของอีไอยู  จากผลสำรวจดังกล่าวไทยได้คะแนนดีในส่วนของสภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจ โดยเลื่อนขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 28 จากเดิมที่เคยอยู่ในอันดับที่ 31 ในปีที่ผ่านมา นำหน้าอินเดีย จีน เวียดนาม และประเทศอื่นๆ

“ผลการศึกษาปีนี้แสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงอันดับเกิดจากปัจจัยหลักสามประการ คือ การวิจัยและพัฒนา บุคลากร และโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที ประเทศที่มีการพัฒนาในสามด้านนี้ไม่เพียงได้รับการปรับอันดับสูงขึ้นแต่ยังนำตัวเองมาอยู่ในจุดที่จะได้รับประโยชน์ต่างๆจากการมีภาคไอทีที่แข็งแกร่ง ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการรับมือกับความท้าทายด้านเศรษฐกิจและสังคม” นายฮาร์ดีย์กล่าวและว่า นอกจากนี้ การมีกรอบกฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่แข็งแกร่ง และระบบที่สามารถตอบสนองความต้องการด้านความปลอดภัยของการทำธุรกรรมบนอีคอมเมิร์ซและโลกไซเบอร์ ยังจำเป็นต่อการลงทุนด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องและการพัฒนานวัตกรรมใหม่ การพัฒนาในเรื่องเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมไอทีเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้

ส่วนผลการศึกษาหลักอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในปี 2551 ไต้หวันขึ้นอันดับ 2 ด้วยความแข็งแกร่งด้านการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการบ่มเพาะบุคลากรที่มีความสามารถ สหรัฐอเมริกายังคงเป็นอันดับ 1  ตามด้วยสหราชอาณาจักรอยู่อันดับ 3 สวีเดนอันดับ 4 และเดนมาร์กอันดับ 5  แต่จากการสำรวจเริ่มมีสัญญาณว่าภาวะสมองไหลของบุคลากรด้านไอทีจากประเทศที่กำลังพัฒนาชะลอตัวลง เพราะโอกาสในการศึกษาอบรมเพิ่มขึ้น และบุคลากรเหล่านี้กลับไปทำงานในบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่หรือบริษัทที่เพิ่งเริ่มต้นในบ้านเกิดของตัวเอง ขณะที่อุตสาหกรรมการจ้างงานด้านไอทีที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ในประเทศที่รายได้ประชาชาติอยู่ในระดับกลางและต่ำ เช่น เวียดนาม จะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญหากมีการเร่งรัดและกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

ในภูมิภาคนี้ ออสเตรเลียเป็นประเทศหนึ่งที่มีระบบปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาแข็งแกร่งที่สุดในโลก ซึ่งรวมถึงกฎหมายด้านอีคอมเมิร์ซและอาชญากรรมไซเบอร์ที่ก้าวหน้า พร้อมกันนี้ มีความคืบหน้าในการวางกรอบกฎหมายในประเทศจีน ซึ่งในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาได้ยกระดับกฎเกณฑ์ด้านทรัพย์สินทางปัญญาให้ทัดเทียมมาตรฐานสากลมากขึ้น รวมทั้งเพิ่มความพยายามในการบังคับใช้กฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญามากขึ้น     

ส่วนประเทศในเขตเอเชียตะวันออก เช่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ยังคงเป็นผู้นำในเรื่องการวิจัยและพัฒนาเพื่อการผลิตเทคโนโลยี

“ผู้วางนโยบายและผู้นำองค์กรธุรกิจ จำเป็นต้องใส่ใจปัจจัยทั้งหมดที่ก่อให้เกิดความสามารถในการแข่งขันด้านไอทีเหล่านี้” โทนี่ แนช ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเกี่ยวกับประเทศและเศรษฐกิจ, เอเชีย ของอีไอยู กล่าวและว่า มีเพียงไม่กี่ประเทศที่สามารถสร้างภาคไอทีที่เข้มแข็งได้โดยปราศจากสภาวะแวดล้อมด้านธุรกิจและกฎหมายที่แข็งแกร่ง บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ระบบที่ส่งเสริมนวัตกรรมและการใช้งานเทคโนโลยีอย่างแพร่หลายในสังคม   

ปัจจัยที่ส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันมีด้วยกัน 6  ประการ  ประกอบด้วย บุคลากรที่มีทักษะ วัฒนธรรมที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีที่ได้มาตรฐานโลก กรอบกฎหมายปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาที่แข็งแกร่ง เช่น สิทธิบัตร และลิขสิทธิ์ เศรษฐกิจที่เปิดกว้างต่อการแข่งขันเสรี และการกำกับดูแลของภาครัฐที่สมดุลพอดีระหว่างการส่ง เสริมเทคโนโลยีและการปล่อยให้กลไกของตลาดทำงาน ประเทศที่ทำได้ดีทั้ง 6 ด้าน โดยทั่วไปแล้วมักมีอุตสาหกรรมไอทีที่เข้มแข็ง นำมาซึ่งรายได้กว่า 5% ของรายได้มวลรวมประชาชาติของประเทศในประเทศพัฒนาแล้ว นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจในวงกว้างโดยเพิ่มประสิทธิผลและผลผลิตขององค์กรและพนักงาน

ส่วนผลการศึกษาอื่นๆ ประกอบด้วย 1.การลงทุนด้านบุคลากรสำคัญมากต่ออุตสาหกรรมไอทีในประเทศ การสรรหาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ซึ่งเป็นหนึ่งในงานยากที่สุดที่ผู้ผลิตด้านไอทีต้องเผชิญในช่วงเวลาต่อจากนี้ 2.ตลาดบรอดแบนด์ที่มีการแข่งขันช่วยให้ภาคไอทีแข็งแกร่ง หากปราศจากบริการอินเทอร์เน็ตที่รวดเร็ว ใช้งานได้ดี และปลอดภัยแล้ว บริษัทด้านเทคโนโลยีทั้งหลายจะไม่สามารถสื่อสารกับคู่ค้าและชุมชนผู้ใช้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงไม่สามารถให้บริการออนไลน์ได้ด้วย 3.กรอบทางกฎหมายที่ปกป้องสิทธิด้านทรัพย์สินทางปัญญาและเท่าทันต่ออาชญากรรมไซเบอร์เป็นสิ่งจำเป็น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และประเทศในแถบยุโรปตะวันตก มีระบบปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาและป้องกันอาชญากรรมไซเบอร์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

อย่างไรก็ตาม มีหลักฐานการปรับปรุงเรื่องนี้ในประเทศที่เคยเป็นปัญหา เช่น จีน  4.โลกาภิวัตน์และอินเทอร์เน็ตจะเปลี่ยนรูปแบบการวิจัยและพัฒนา สภาวะแวดล้อม ไม่ว่าออนไลน์หรือไม่ ที่สามารถรวบรวมบุคลากรที่มีความสามารถ เทคโนโลยี เงินทุน ตลอดจนการศึกษาชั้นเยี่ยมไว้ด้วยกันจะเป็นแหล่งบ่มเพาะนวัตกรรมที่ดีที่สุด

Company Related Links :
BSA
กำลังโหลดความคิดเห็น